ก่อการครู – Korkankru

Reading Time: 2 minutes โควิด-19 พรากหลายสิ่งไปจากพวกเรา แต่หนึ่งในสิ่งที่หลายคนคิดไม่ถึง คือพัฒนาการของเด็กเล็กที่ถูกบั่นทอน ซึ่งเกิดจากการขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเป็นเวลานาน พลังของการอ่านจะช่วยเยียวยาเด็กๆ ได้อย่างไร มาทำความเข้าใจกัน Jul 26, 2024 2 min

การอ่านเปลี่ยนโลก

Reading Time: 2 minutes

แม้จะผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 ที่เด็กต้องกักตัวเรียนหนังสืออยู่บ้านมาได้หลายปีแล้ว แต่ผลกระทบจากช่วง 2 ปีนั้นยังไม่หายไปไหน คุณครูจากโครงการโรงเรียนปล่อยแสงหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หลังกลับมาเรียนที่โรงเรียนอีกครั้ง เด็กหลายคนมีปัญหาเรื่องการอ่านเขียน หลายคนมีพัฒนาการล่าช้า และหลายคนไม่สนใจการเรียนรู้เหมือนเดิม

เราจึงมาคุยกับพี่เจ-สุดใจ พรหมเกิด ประธานมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เพื่อหาคำตอบว่าผลกระทบที่สถานการณ์โควิด-19 เหลือทิ้งไว้ให้แก่เด็กนั้นร้ายแรงมากน้อยแค่ไหน และการอ่านจะช่วยฟื้นคืนการเรียนรู้ที่หล่นหายไปได้อย่างไร

2 ปีที่หล่นหาย

จากเด็กที่เคยเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 1 ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน 2 ปี  โรงเรียนเปิดอีกทีก็ขึ้น ป.1 แล้ว  นี่คือสถานการณ์จริงในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เด็กทั่วโลกประสบปัญหาคล้ายคลึงกันคือ พูดช้า อ่านหนังสือช้า พัฒนาการต่างๆ ล่าช้ากว่าวัยอันควร  เราเรียกภาวะนี้ว่า “Learning Loss”

“Learning Loss ก็คือภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอยหรือหล่นหายไป ซึ่งจริงๆ เกิดขึ้นกับเด็กตลอดเวลานะคะ เช่น ช่วงปิดเทอมใหญ่เด็กก็มีหลงลืมเนื้อหาเดิมไปบ้าง เปิดเทอมใหม่คุณครูก็ต้องมารื้อฟื้น ทบทวนเนื้อหาเก่าอีกครั้ง  สิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นปกติ เพียงแต่มีภาวะที่ไม่ปกติคือโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม ภาวะการเรียนรู้ที่หล่นหายอยู่แล้วก็ยิ่งทวีคูณ”

พี่เจอธิบายว่าภาวะ Learning Loss ในวัยเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่มีองค์ความรู้และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตอยู่แล้ว สามารถเติมกลับได้ แต่ Learning Loss ที่เกิดกับเด็กเล็กนั้นรุนแรงกว่ามาก

“การเรียนรู้ภาษาเกิดขึ้นก่อนที่เด็กจะจับดินสอได้ เด็กเล็กเรียนรู้โลกรอบตัวผ่านการมีปฏิสัมพันธ์และเลียนแบบคนตรงหน้า เช่น เด็กก่อน 3 ขวบแรกเรียนรู้ด้วยการมองปากแม่ เขาสังเกตสีหน้าท่าทางคนใกล้ตัวแทบจะตลอดเวลา เพื่อจดจำ เลียนแบบ จนพูดได้ การที่เราใส่แมสก์ตลอด 2 ปี จึงเป็นการ ปิดช่องทางการเรียนรู้พื้นฐานที่สุดของเด็กเล็กคนหนึ่ง”

นำมาซึ่งคำถามสำคัญว่า แล้วเรามีเวลาเติมเต็มการเรียนรู้ที่หล่นหายไปนี้มากน้อยแค่ไหน 

“ทำให้ทันกับช่วงวัยและจังหวะของพัฒนาการค่ะ เพราะ 3 ขวบแรกคือวัยทองของการพัฒนาทักษะด้านภาษา ทั้งด้านความรู้ ความเข้าใจ และการสื่อสาร ถ้า 3 ขวบแรกไม่เคยมีใครพูดกับเด็กเลย ไม่มีใครคอยเติมทักษะด้านภาษาให้ ไม่มีทางที่เด็กจะเติบโตมาเป็นคนที่สื่อสารได้ และหากเราเติมให้ไม่ทันในช่วง 9 ขวบ พัฒนาการของเด็กจะเริ่มตัดทิ้งทักษะที่ไม่ได้ใช้ ดังนั้นทักษะทางภาษาก็อาจจะหายไป”

ทักษะทางภาษาเป็นพื้นฐานที่สุดของชีวิตมนุษย์ แทบทุกวิชาความรู้ต้องอาศัยภาษาในการเรียนรู้ทำความเข้าใจ  ขณะนี้เราจึงต้องแข่งกับเวลาเพื่อเติมเต็มทักษะทางภาษาให้เร็วที่สุด แต่พี่เจก็ย้ำเตือนเราว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการเรียนรู้ต้องมีความหมายกับชีวิตของเด็ก เด็กจึงจะเรียนรู้ได้ดี

อ่าน เพื่อการเรียนรู้ที่มีความหมาย

การเรียนรู้ที่หล่นหายไปนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับทักษะด้านภาษาและวิชาการเท่านั้น มีคุณครูจากโรงเรียนปล่อยแสงหลายคนเล่าถึงสถานการณ์ที่ตนเองเจอในห้องเรียนว่า เด็กบางคนเล่าเรียนเขียนอ่านได้ปกติ แต่เลือกจะอยู่เฉพาะในโลกของตัวเอง ไม่อยากไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เวลาทำอะไรต่อหน้าคนอื่นก็จะดูไม่กล้าไปเสียหมด กลัวการแข่งขัน ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง เป็นโจทย์ให้คุณครูต้องหาทางช่วยเหลือ ไม่ให้เขาตัดขาดตัวเองจากสังคมและโลกรอบตัว

“ในวันนี้เราถึงอยากชวนคุณครูคิดให้ไกลกว่าการสอนให้อ่านออกเขียนได้ เพราะการอ่านคือการสร้างเด็กให้มีพลังพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของตัวเองไปตลอดชีวิต เป็นการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตที่ทำได้ในทุกช่วงวัย  การอ่านที่ดีไม่เพียงแค่ให้ข้อมูลหรือเรื่องราวใหม่ แต่ยังเว้นที่ว่างไว้สำหรับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กด้วย”

พี่เจอธิบายว่าความงามของการอ่านคือการช่วยให้เราค้นพบศักยภาพในตัวตนได้ง่ายขึ้น และมีความสุขจากภายในได้ มองอีกมุมหนึ่งก็คล้ายกระบวนการขัดเกลาทางสังคม เริ่มต้นจากการค้นพบหรือการจุดประกายเล็กๆ เมื่ออ่านอย่างต่อเนื่องก็จะนำทางไปสู่สิ่งที่ชอบ ทิศทางที่ใช่ เด็กจะค้นพบศักยภาพของตัวเองได้เร็ว และรู้ว่าคุณค่าและความหมายของชีวิตที่ตนเองจะไปต่อเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นอีกมิติของการเรียนรู้ที่เด็กควรจะได้รับ

“หนังสือที่ดีจะพาให้เขาได้ลงมือทำในเรื่องนั้นด้วย ช่วงโควิด-19 ที่เด็กต้องอยู่กับบ้าน เราออกแบบหนังสือชุด ‘ปลูกผักสนุกจัง’ เพราะอยากให้เขาได้ลองเพาะถั่วงอก ปลูกผักบุ้ง หรือผักที่กินได้ในระยะสั้น  ต่อมามีชุด ‘ปลูกผักระยะยาว’ แล้วก็มีชุด ‘ดอกไม้กินได้’ ให้เขาได้เรียนรู้โลกผ่านสวนหลังบ้านของตัวเอง” พี่เจเล่าเสริม

เมื่อการอ่านพาเด็กไปค้นพบความสุขเล็กๆ ค้นเจอศักยภาพเล็กๆ ภายในตนเอง และชวนให้ลงมือปฏิบัติ การอ่านนั้นจะไม่ใช่การอ่านหนังสือเพียงเพื่อให้อ่านออกเขียนได้อีกต่อไป แต่จะผูกโยงไปกับวิถีชีวิต มีคุณค่าต่อตัวเด็ก ผ่านการได้เห็น ได้สัมผัสจริง ได้ลงมือทำ เป็นการอ่านที่เพิ่มคุณภาพชีวิต และทำให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความหมายมากขึ้น

“เราเชื่อมั่นว่าพลังการอ่านสามารถทำได้จริงๆ  การอ่านเป็นทั้งสื่อ เป็นทั้งกระบวนการในการพัฒนาศักยภาพ ถือเป็นการสร้างทุนมนุษย์ที่ง่ายที่สุด ลงทุนน้อยที่สุด แต่ผลตอบแทนคุ้มค่า เราอยากชวนคุณครูทุกคนมาเติมเต็มปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ให้แก่เด็กๆ กันค่ะ  แค่อ่านหนังสือออกเสียงให้เด็กฟัง ปล่อยพื้นที่ว่างให้เด็กได้ออกแบบการคิดสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เราเชื่อว่าจะช่วยฟื้นคืนการเรียนรู้ที่มีความหมายให้แก่เขาได้อย่างแน่นอน”

Array