ความเหลื่อมล้ำกับฝันที่ไม่เป็นจริงระบบการศึกษาที่คน “ไม่เท่ากัน”
Reading Time: 3 minutes“ก่อนหน้านี้หนูอยากทำงานมากกว่าเรียน กลัวพ่อแม่จะส่งเราไม่ไหว ตอน ม.1 ก็ถามพ่อแม่ว่าจะส่งหนูไหวเหรอ มันต้องเสียค่าเทอม พ่อแม่บอกว่าไหว ยังไงก็ไหว เราก็เลยเรียน แล้วก็ช่วยพ่อแม่ทำงานไปด้วย”
“หนูฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง ฟีลแบบพิมรี่พายขายทุกอย่าง เพราะหนูชอบขาย ชอบพูดแต่หนูไม่สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ ต้องทำอาชีพที่เป็นลูกจ้างอย่างเดียว อย่างขายเสื้อผ้าถ้าเป็นกิจการใหญ่ มีหน้าร้าน ต้องเสียภาษี แบบนี้ไม่ได้”
คำพูดแรกเป็นของเด็กชายอดทน อุดทา นักเรียนห้อง ม.3/1 โรงเรียนโสภณศิริราษฎร์ อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ส่วนคำพูดที่สองเป็นของ แสงส่า นักเรียนชาวไทใหญ่ นักเรียนชั้นปวช. ปี 3 วิทยาลัยการอาชีพฝาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
ความฝันของเยาวชนทั้งสองคนเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนภาพโอกาส “ทางการศึกษา” และโอกาสขยับ “สถานะทางสังคม” ว่าไม่ได้มีเท่ากันทุกคน การปั้นความฝันให้เป็นจริงในบริบทสังคมปัจจุบันถือได้ว่าแตกต่างกันอย่างมากระหว่างเด็กจากครอบครัวยากจนและเด็กชายขอบ กับเด็กจากครอบครัวมีฐานะ
ถ้า “การศึกษาคือรากฐานของชีวิต” แล้วเราควรจะทำอย่างไรให้เด็ก “ทุกคน” มีโอกาสเท่าๆ กันในการก้าวไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ละก้าวที่ยืน ไม่ต้องคอยระวังว่าบันไดจะถล่ม แต่ละก้าวที่ย่ำ ไม่ต้องระแวงว่าจะสูงเกิน
แค่บันไดขั้นแรก เด็กก็ยืนคนละขั้น
ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า ในปี 2565 มีเด็กและเยาวชนอายุ 3-14 ปี จำนวนกว่า 2.5 ล้านคน อยู่ใต้เส้นความยากจน เนื่องจากมีรายได้ไม่ถึง 2,762 บาทต่อคน/เดือน หรือมีรายได้เพียง 92 บาทต่อวัน
กสศ. ยังพบว่าในแต่ละปี ประเทศไทยมีเด็กออกกลางคันมากถึง 2% จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด เมื่อนับรวมกับเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ จะมีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคน
ดังนั้นจะพบว่าในเด็กไทยทุกๆ 100 คน จะมี 16 คน ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีสาเหตุจากความยากจน
ขณะที่อัตราการเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรี และ ปวส. ของนักเรียนหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ระหว่างปี 2552-2562 สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า นักเรียนกลุ่ม “ฐานะดี” 10% แรก มีโอกาสเรียนต่อมากกว่านักเรียนกลุ่ม “ยากจน” 10% รั้งท้าย ถึง 10 เท่า
ยกตัวอย่างปี 2562 นักเรียน 10% ที่ “ฐานะดี” เข้าเรียนปริญญาตรี และเข้าเรียน ปวส. 65 คน จาก 100 คน ขณะที่นักเรียน 10% ที่ “ยากจน” ได้เข้าเรียนปริญญาตรี และเข้าเรียน ปวส. เพียง 5 คน จาก 100 คน
หากดูเปรียบเทียบค่าจ้างแรงงานไทยตามวุฒิการศึกษา ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าจากข้อมูลปี 2566 หากสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าประถมศึกษา จะได้ค่าแรงโดยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 8,453.74 บาท แต่ถ้ามีวุฒิปริญญาตรี จะอยู่ที่ 23,554.30 บาท และปริญญาเอก 48,394.99 บาท
ดังนั้นปลายทางของการศึกษาที่ต่างกัน ก็ยังส่งผลให้คนมีรายได้ไม่เท่ากันอีกด้วย
การเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมในสังคมไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าจุดเริ่มต้นของคุณไม่เท่าคนอื่นตั้งแต่แรก
ในรายงานของธนาคารโลกปี 2561 ชี้ให้เห็นว่า เด็กที่เกิดในครอบครัวยากจนซึ่งเป็นชนชั้นครึ่งล่างของสังคมไทย มีโอกาสจะขยับฐานะมาอยู่ครึ่งบนได้เพียง 35% เท่านั้น อีก 65% ที่เหลือต้องอยู่ในชนชั้นเดิม ไม่ต่างจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายของพวกเขา
แต่ในทางกลับกัน เด็กไทยที่เกิดในครอบครัวร่ำรวยครึ่งบน มีโอกาสลดฐานะลงมาอยู่ครึ่งล่างของสังคมไทยเพียงแค่ 20%
เราลองมาฟัง “อดทน” และ “แสงส่า” เด็กจากครอบครัวยากจน ที่มีฝันธรรมดาๆ คืออยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีงานที่ดีทำ ว่าทำไมความฝันของพวกเขาจึงยังเหมือนอยู่ไกลเกินเอื้อม
อดทน
“ถ้าไม่คิดเรื่องเงินเลย ความฝันของหนูคืออยากเรียนต่อที่ไหน”
อดทน นักเรียนชั้น ม. 3 เงียบไปครู่หนึ่ง ก่อนตอบว่า “ถ้าไม่จำกัดเรื่องเงิน หนูอยากเรียนสถาปัตย์ จุฬาฯ ถ้าจบมาเราคงหางานดีๆ ที่เงินเดือนสูงๆ ได้ อยากเรียนมาก รู้สึกว่าเขาโด่งดังมาก เราเห็นตัวอย่างการสอนในยูทูบ รู้สึกว่าเขาสอนดี ลงลึก สอนใช้โปรแกรมต่างๆ ด้วย เราอยากเรียนแบบนั้น อยากเรียนแล้วออกแบบบ้านที่สร้างออกมาได้จริงๆ”
อดทนอยู่ในบ้านมุงสังกะสีหลังเล็กกับพ่อแม่ในล้งมะพร้าวและโรงงานเผือกแปรรูป ครอบครัวเขาอาศัยที่ทำงานของนายจ้างเป็นที่นอนที่อยู่ โชคดีที่โรงเรียนอยู่ไม่ไกลจากบ้าน บางครั้งเขาก็อาศัยติดรถเพื่อนแถวบ้านมาโรงเรียน บางครั้งก็ขี่จักรยานมา
แม้อดทนได้เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนสำหรับนักเรียนยากจนเทอมละ 1,500 บาท แต่ก็ยังไม่อาจเรียกว่าพอสำหรับค่าเทอม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เขาจึงเริ่มช่วยงานพ่อแม่ในล้งมะพร้าวอย่างจริงจังตั้งแต่ ม.1 วันเสาร์อาทิตย์มีหน้าที่ช่วยขนเผือกขึ้นรถขนส่ง ทำงาน 5-7 ชั่วโมงต่อวัน ได้ค่าแรงวันละ 100-200 บาท
“หนูอยากให้ค่าเทอมฟรีจริงๆ แบบไม่ต้องจ่ายเพิ่ม เงินพวกค่าอุปกรณ์การเรียนที่เขาให้ก็ไม่พอ หนูต้องออกเงินเองอยู่ดี หนูชอบวาดรูปก็ต้องซื้อดินสออยู่เรื่อยๆ ใจอยากได้ดินสอกดที่วาดรูปเส้นเล็กๆ ดีกว่า แต่ราคาสูง ประมาณ 20-30 บาท ได้แต่ซื้อดินสอธรรมดามาเหลาให้แหลมๆ ราคาถูกหน่อย 5 บาท”
อดทนหลงใหลการวาดรูปบ้านมาก แววตาเขาเป็นประกายเมื่อคำพูดพรั่งพรูถึงการวาดรูปบ้าน
“หนูชอบรูปพวกบ้านแล้วก็คอนโดมากกกกก” เขาลากเสียง “เป็นคนขีดเส้นได้ตรงมากแบบไม่ต้องใช้ไม้บรรทัด ชอบวาดพวกทรงเรขาคณิต รู้สึกว่าสวย ชอบศึกษาแบบบ้านต่างๆ ในกูเกิล ยูทูบ แล้วลองวาดตาม”
อดทนเคยปรึกษาอาจารย์ว่าชอบวาดรูปบ้าน อาจารย์ก็แนะนำให้ไปเรียนวิทยาลัยเทคนิค เขาไม่เคยบอกความฝันที่มีถึงสถาปัตย์ จุฬาฯ เพราะคิดว่าอาจารย์คงบอกให้เขาไปสอบเข้าที่อื่นดีกว่า
ข้อมูลประเทศไทยจาก PISA 2015 เปิดเผยว่านักเรียนโรงเรียนชนบทมีคะแนนวิทยาศาสตร์ต่ำกว่านักเรียนในเมืองอยู่ 63 คะแนน หรือเทียบเท่าการเรียนที่แตกต่างกันสองชั้นปี ความแตกต่างนี้อธิบายได้ด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและโรงเรียน
เมื่อดูรายละเอียดข้อสอบเข้าสถาปัตย์ มีทั้งข้อสอบปรนัยและการออกแบบ ข้อสอบปรนัยวัดความรู้ทางศิลปะ แสง เสียง ลม ความร้อน การจัดวางพื้นที่ กฎหมายอาคาร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มิติสัมพันธ์ เรขาคณิต ฯลฯ ส่วนข้อสอบการออกแบบ มีทั้งออกแบบ 2 มิติ เช่น สัญลักษณ์ ออกแบบ 3 มิติ เช่น สิ่งใช้สอย ของใช้ เฟอร์นิเจอร์ และการวาดแบบ Perspective ที่โจทย์กำหนดสถานที่หรือเหตุการณ์ให้
หากต้องเตรียมตัวสอบสถาปัตย์จริง อดทนน่าจะต้องเข้าคอร์สเรียนพิเศษวาดรูปอย่างจริงจัง และยังต้องพ่วงด้วยทักษะทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ และอื่นๆ เช่น กฎหมายอาคาร การออกแบบ การศึกษาพฤติกรรม สิ่งแวดล้อม ทฤษฎีโครงสร้าง ฯลฯ
ทั้งหมดนี้มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเพิ่ม ต้องมีเวลาว่างสำหรับการฝึกฝนและเรียนรู้ ซึ่งยากจะเป็นได้สำหรับเด็กที่ต้องทำงานด้วยเรียนด้วย และยากจะเป็นได้ที่โรงเรียนประจำอำเภอเล็กๆ ซึ่งยังมีครูไม่ครบทุกรายวิชา จะสนับสนุนความรู้ที่เขาต้องการ
ความฝันของอดทนคงเป็นได้แค่ความฝัน แต่เขาก็พยายามปรับตัว
“หนูคิดว่าพอจบม.3 จะลองสอบเข้าวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี เขามีแผนกสถาปัตย์”
นี่อาจใกล้เคียงความเป็นไปได้ที่สุดของอดทนในโลกแห่งความจริง
แสงส่า
“หนูฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง” แสงส่า นักเรียนชั้นปวช. ปี 3 บอก “แต่หนูไม่สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ ต้องเป็นลูกจ้างอย่างเดียว”
เหตุผลก็เพราะเธอเป็นชาวไทใหญ่ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย การทำธุรกิจเปิดร้านต้องจดทะเบียนพาณิชย์ และใช้สำเนาบัตรประชาชน ซึ่งเธอยังไม่มี
พ่อแม่พาแสงส่าอพยพหนีภัยสงครามมาอยู่ไทยตั้งแต่เด็ก เธอเริ่มช่วยพ่อแม่ทำงานตั้งแต่ ป.1 รับจ้างสารพัดทั้งเก็บพริก ส้ม มัดฟาง พอขึ้น ม.1 เธอเริ่มขายของออนไลน์ และทำเรื่อยมาจนปัจจุบัน
ตั้งแต่เล็กจนโต เธอเติบโตมาโดยต้องดิ้นรนอย่างมากเพื่อให้ได้อยู่ในระบบการศึกษา
“ตั้งแต่ประถม โรงเรียนมีอุปกรณ์การเรียนให้ฟรี แต่ต้องจ่ายค่าเทอมเพิ่ม เป็นพวกค่าบำรุง ค่าอินเทอร์เน็ต พอขึ้นมัธยมมีวิชาที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เยอะขึ้น เราไม่มีเป็นของตัวเองก็ต้องไปใช้ที่ร้านเป็นครั้งๆ เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยซึ่งเหนื่อยมากๆ หลักสูตรการศึกษา ครู โรงเรียนช่วยผลักดันเราได้ประมาณหนึ่ง แต่ 70-80 เปอร์เซ็นต์ที่เราต้องช่วยตัวเอง ถ้าการศึกษาฟรี ค่าเทอมฟรี อุปกรณ์การเรียนฟรี สำหรับทุกคน ทุกสัญชาติ เราก็อาจไม่ต้องไปทำงาน เอาเวลามาตั้งใจหาความรู้ได้มากกว่านี้”
ปัญหาหลักของคนไร้สัญชาติ หนึ่งคือการห้ามเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ หากจะเดินทางต้องทำเรื่องขออนุญาต สอง คือขอทุนการศึกษามักไม่ได้ เพราะเงื่อนไขการให้ทุนมักระบุว่าต้องมีสัญชาติไทย รวมทั้งไม่สามารถกู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)และสามคือไม่สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ
หากอยากขอสัญชาติไทยก็มีเงื่อนไขหลายประการ เช่น ต้องจบปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ต้องเป็น “ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศ” หรือต้องแต่งงานกับคนสัญชาติไทย
“การเรียนจบปริญญาตรีต้องใช้เงินเยอะมาก ถ้าจะกำหนดเงื่อนไขนี้ก็ควรให้เรียนฟรี หรือให้กู้ยืม กยศ. ได้ เขาบอกว่าอยากได้คนมีคุณภาพ คนเรียนจบสูงๆ มาเป็นคนไทย แล้วทำไมไม่สนับสนุนอย่างเต็มที่ ทุกคนจะได้มีโอกาส และทำให้มีคนคุณภาพเพิ่มขึ้น” สถานการณ์ของคนไร้สัญชาติอย่างแสงส่า เหมือนงูกินหาง เพราะเมื่อไม่มีสัญชาติ โอกาสเรียนระดับชั้นสูงๆ ก็ลดลง การขอสัญชาติก็ยิ่งยากขึ้น เมื่อไม่ได้สัญชาติ โอกาสเป็นเจ้าของกิจการก็ไม่มี โอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตก็ลดลงตาม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธร ปีติดล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าปัญหาของกลุ่มเด็กยากจนและกลุ่มชาติพันธุ์มีประเด็นทับซ้อนกันหลายชั้น ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ และการเข้าถึงสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิรับบริการจากภาครัฐ ซึ่งยากกว่าเด็กสัญชาติไทย
“สิ่งแย่สุดในเรื่องความเหลื่อมล้ำ คือการทำให้คนคิดว่าตัวเองด้อยกว่าจริงๆ มองตัวเองว่าไม่มีความสามารถที่จะทำอะไรได้เหมือนคนอื่น”
ทางออกจากงูกินหาง คือต้องแก้ไขเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับสถานะทางกฎหมายของกลุ่มชาติพันธุ์
“ควรให้สัญชาติเขาเป็นประชาชนคนไทย การให้สัญชาติจะช่วยเรื่องปัญหาสังคมสูงวัยด้วย ประเทศที่เริ่มหาคนรุ่นใหม่ไม่ได้ เขาก็ให้สัญชาติกับพวกผู้อพยพ”
โรงเรียนไม่เท่ากัน
แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 จะระบุว่ารัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปีและ (ขยายเป็น 15 ปีในเวลาต่อมา) ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นแบบนั้น
“การจัดงบประมาณของภาครัฐเป็นการอุดหนุนรายหัว โรงเรียนเล็กและโรงเรียนนอกเมืองจะเสียเปรียบ ถ้าลองเทียบโรงเรียนที่มีเด็กขนาด 100 คน กับ 400 คน โรงเรียนที่ใหญ่กว่าจะได้เปรียบกว่ามาก โรงเรียนขนาดเล็กมีต้นทุนต่อหัวสูงกว่าถึง 2 เท่าของโรงเรียนขนาดใหญ่” อาจารย์ธรอธิบายปัญหาของขนาดโรงเรียนกับการได้รับอุดหนุนจากรัฐ
ครู “ออม” – รัตนปกรณ์ ธนันทา ครูสอนภาษาอังกฤษของโรงเรียนโสภณศิริราษฎร์ ช่วยขยายรายละเอียดหน้างานว่า
“รัฐให้เงินอุดหนุนมาตามจำนวนนักเรียน หัวละประมาณเกือบ 4,000 บาท โรงเรียนต้องนำส่วนนี้ไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบุคลากร ภารโรง ยาม แม่บ้าน ไม่พอจะนำไปปรับปรุงพัฒนาโรงเรียนได้ทั้งหมด เช่น การปรับปรุงห้อง ทาสีใหม่ ค่าเครื่องคอมพิวเตอร์ ค่าอินเตอร์เน็ต โรงเรียนเลยต้องเก็บจากนักเรียนเพิ่ม แต่ละโรงเรียนก็เก็บไม่เท่ากัน”
โรงเรียนโสภณศิริราษฎร์ถือเป็นโรงเรียนประจำอำเภอวัดเพลง นักเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกชาวสวนหรือลูกคนค้าขาย เมื่อก่อนเคยมีนักเรียนถึง 1,700 คน แต่เมื่ออัตราการเกิดน้อยลง ประกอบกับถนนหนทางดีขึ้น คนจึงนิยมส่งลูกไปเรียนโรงเรียนตัวเมืองที่ใหญ่กว่า ปัจจุบันนักเรียนลดลงเป็น 500 คน เงินอุดหนุนสำหรับโรงเรียนจึงค่อยๆ ลดน้อยด้วย เทอมแรกต้องเก็บค่าเทอม 1,400 บาท เพราะมีค่าประกันเพิ่ม ส่วนเทอมที่สองอยู่ที่ 1,000 บาท
“นักเรียนที่นี่เกินครึ่งสามารถจ่ายค่าเทอมตามกำหนดได้ แต่ก็มีบางส่วนที่ขอผ่อนผัน โรงเรียนจะพยายามหาทางช่วยบางคนที่ลำบากจริงๆ เช่นใช้เงินบริจาคที่ได้มา แต่ก็ช่วยไม่ได้ทุกคน” ครูออมกล่าว
ทางแก้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ปัญหาความต่างระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กกับขนาดใหญ่ อาจารย์ธรให้ความเห็นว่ามีสองวิธี วิธีแรกคือ “การทำให้โรงเรียนใหญ่ขึ้น” คือยุบโรงเรียนเล็กมารวมกันที่โรงเรียนใหญ่
“วิธีนี้จะทำให้โรงเรียนมีงบประมาณมากขึ้น จัดสรรทรัพยากรได้มากขึ้น ใช้ประสิทธิภาพครูได้มากขึ้น ซึ่งธนาคารโลกพยายามผลักดันข้อเสนอนี้มานานแล้ว แต่มีคนไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าเป็นการผลักภาระไปให้เด็ก เด็กที่บ้านอยู่ไกลจะเข้าถึงการเรียนได้ยากขึ้น ซึ่งทางแก้คือต้องช่วยจัดค่าชดเชยในส่วนค่าเดินทางให้เด็กด้วย”
อีกวิธีคือ “การจัดสรรงบประมาณให้เหลื่อมกัน” คือจัดทรัพยากรเพื่อสนับสนุนความเสมอภาค โดยอุดหนุนโรงเรียนขนาดเล็กมากกว่าโรงเรียนใหญ่ แต่วิธีนี้ยากตรงที่ต้องแก้กฎหมาย ทั้งเป็นเรื่องเชิงนโยบายที่ใช้เวลาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน
“เราคุยกับครูหลายคน ส่วนใหญ่เห็นปัญหาตรงกันเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กเสียเปรียบ แต่ทุกคนก็ตอบเหมือนกันว่าแก้ไม่ได้ เป็นเรื่องกฎหมาย เลยไม่มีการพยายามผลักดันให้แก้ได้เพื่อเอื้อต่อความเสมอภาคมากขึ้น” อาจารย์ธรเล่า
ครูไม่เท่ากัน
ถึงจะเก็บค่าเทอมนักเรียน งบประมาณที่มีก็ไม่พอสำหรับการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก หรือโดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนบุคลากรคือครู ครูหนึ่งคนในโรงเรียนขนาดเล็กจึงต้องรับภาระมากกว่าแค่การเตรียมสอนและการสอน
ครูออมนอกจากสอนภาษาอังกฤษ ยังเป็นฝ่ายจัดสรรงบประมาณ เขียนโครงการเพื่อของบของโรงเรียนแล้ว ยังต้องเป็นครูฝ่ายโสตทัศนศึกษา ต้องถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ ตัดต่อ ไปจนถึงการติดตั้งเครื่องเสียง เดินสายไฟ
“ถามว่าคนจบเอกอังกฤษทำได้ไหม… ต้องได้ (หัวเราะ) ก็พยายามเรียนรู้ ถามคนในโรงเรียนไม่ได้ ก็คนข้างนอก แต่อย่างเดินระบบอินเทอร์เน็ตทั้งโรงเรียนก็ต้องจ้างเขา เป็นเงินที่ใช้จากค่าเทอมที่เก็บเพิ่ม”
นอกจากฝ่ายโสตฯ บางครั้งครูออมก็ต้องรับบทเป็นแม่บ้าน ภารโรง คอยดูแลตรวจตราโรงเรียนด้วย
“แต่ก่อนมีครูมากกว่านี้ แต่พอเกษียณ จำนวนเด็กลด อัตราครูต้องลดตาม โรงเรียนเคยมีภารโรง 7 คน ตอนนี้ไม่เหลือสักคนเพราะเกษียณ และไม่มีงบส่วนนี้ให้ต่อ ดังนั้นโรงเรียนเล็กจะไม่มีครูครบทุกสาขาวิชา โรงเรียนเคยคิดถึงขั้นว่าจะให้ครูที่ว่างสอนไปทำหน้าที่ยามหน้าโรงเรียน แต่ไม่มีครูเอาด้วยเลยล้มเลิกไป
“ถ้าโรงเรียนขนาดเล็กกว่านี้อีก ครูอาจต้องไปขัดส้วม ล้างห้องน้ำเองด้วย”
“เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว” คงเป็นคำกล่าวไม่เกินจริงสำหรับครูในโรงเรียนเล็กนอกเขตเมือง
เมื่อภาระงานหนักหนา จึงกระทบกับคุณภาพการสอนอย่างเลี่ยงไม่ได้
ครูออมเล่าว่า เคยไปดูงานโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่ง ซึ่งครูมีหน้าที่สอนอย่างเดียว มีการทดสอบและต้องเตรียมการสอนหนักมาก ขณะที่ครูโรงเรียนขนาดเล็ก บางครั้งการวางแผนการสอนเหลือเพียงแค่คัดลอกแผนการสอนที่สำนักพิมพ์แบบเรียนทำแจกเป็นไฟล์กูเกิลไดร์ฟ
“ความต่างของโรงเรียนสาธิต เอกชน กับโรงเรียนรัฐคือ ครูโรงเรียนรัฐไม่ต้องวางแผนการสอนเอง ไม่ต้องทดสอบสอนด้วย ใครสอนไม่ดี สอนไม่เก่ง ก็ยังต้องสอนต่อ แต่ของเอกชนเขาไม่เอาไว้” ครูออมเล่า
แต่ปัญหาคือเมื่อเป็นครูเก่งก็มักย้ายไปอยู่ในเมือง เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่า มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนการสอนมากกว่า และมีโอกาสร้างรายได้สูงมากกว่าจากการสอนพิเศษ ทำให้โรงเรียนในชนบทห่างไกลมักขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ
“สมมติมีโครงการที่ครูเก่งๆ มาอยู่นอกเมืองจะได้ incentive เพิ่ม ครูเก่งก็อาจกระจายไปตามที่ต่างๆ ได้นะ” ครูออมเสนอ
สิ่งที่ครูออมทำทั้งหมดเกินกว่าภาระหน้าที่ของข้าราชการครูไปมากโข เป็นงานที่กินเวลาเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน
ไม่แปลกที่ครูจำนวนมากในระบบจะตกอยู่ในภาวะ “หมดไฟ” รู้สึกแค่อยากทำหน้าที่ของตนเองให้จบไปในแต่ละวัน หมดพลังที่จะพัฒนาหรือผลักดันนักเรียนให้ไปไกลถึงฝั่งฝัน
“ตอนนี้เหมือนอยู่ที่ตัวครูอย่างเดียวเลยว่าครูจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไหม ถ้าแก้ก็ต้องเสียสละ ซึ่งก็อาจแก้ได้เพิ่มอีกคนละนิดคนละหน่อย”
แม้ในความเป็นจริง พ่อแม่ในชนบทก็ไม่คาดหวังแบบพ่อแม่ในเมือง มองว่าการลงทุนให้ลูกเรียนต่อทำให้เสียโอกาสในการหารายได้มากกว่า แต่ก็มีเด็กยากจนที่ฝันถึงการเรียนต่อระดับปริญญา ซึ่งครูออมก็ไม่ลังเลที่จะช่วยผลักดัน
“เด็กบางคนอยากเรียนทันตแพทย์ แต่ทั้งอำเภอนี้มีครูเคมี 1 คน ชีวะ 1 คน ฟิสิกส์ 1 คน ความรู้มีอยู่แค่นี้ ทั้งที่เราเห็นว่าเด็กมีศักยภาพไปต่อได้มากกว่านี้ แต่พ่อแม่ก็ไม่มีแรงส่งเรียนต่อ เราจะช่วยวางแผนให้เด็ก บอกเขาว่าต้องกู้ กยศ. ต้องเก็บเงินนะ”
ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลต่อโรงเรียนแต่ละขนาด ทั้งการกระจายครูและทรัพยากรที่ไม่เท่ากันนั้น ในแต่ละพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างกันไป การแก้ปัญหาจึงมีมาตรฐานเดียวไม่ได้ อาจารย์ธรให้ความเห็นว่า
“ต้องมีความยืดหยุ่นในการจัดการปัญหา ซึ่งระบบราชการให้ไม่ได้ ทางออกหนึ่งคือการกระจายอำนาจ เพราะหน่วยงานในพื้นที่รู้จักโรงเรียนตัวเองมากกว่าส่วนกลาง การตอบสนองต่อปัญหาจะดีกว่าเดิม”
แต่ผลพวงของปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรมากๆ กำลังสร้างสังคมที่ให้ความสำคัญกับ “ผู้ชนะ” โดยไม่ย้อนกลับมาทำความเข้าใจว่าเป็นการแข่งขันที่ต้นทุนไม่เท่ากันตั้งแต่แรก แถมไม่มีที่ทางให้ผู้แพ้
“ในมิติเชิงจริยศาสตร์คือสังคมที่เป็น hyper meritocracy คือยกย่องว่าความสำเร็จเป็นเรื่องส่วนบุคคล การศึกษาก็จะเอาเด็กเก่งแต่ละโรงเรียนมาแข่งขันกัน เป้าหมายคือสร้างเด็กที่เก่งสุด คนที่ถูกทิ้งระหว่างทางกลายเป็นผู้แพ้ในระบบ ขณะที่โรงเรียนใหญ่ก็จะได้เปรียบ ถามว่าเด็กเข้าใจความได้เปรียบทางการศึกษาของตัวเองไหม คำตอบคือน้อยมาก เขาจะมองว่าเป็นการแข่งขันที่ตัวเองชนะมาได้ เขาลงทุนลงแรงไปเยอะ
“ถ้าเราเห็นความสำคัญเรื่องความเสมอภาค เราต้องทำให้เกิดวัฒนธรรมที่ช่วยให้เห็นปัญหาเรื่องต้นทุนของคนไม่เท่ากัน ทำให้มีการรับรู้เรื่องคนที่หลุดออกจากระบบมากกว่านี้”
เสรีภาพ และการกระจายอำนาจ
ปัญหาทั้งค่าเทอมที่ฟรีไม่จริง ความต่างระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ภาระงานที่ล้นเกินของครู ทรัพยากรและครูที่ยังกระจุกตัวในเมือง ล้วนเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกมาเป็น 10 ปี เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย ที่ต้องอาศัยการกระจายอำนาจ กระจายทรัพยากร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ต้องผลักดันทางกฎหมาย นโยบาย ไปจนถึงการปฏิรูประบบราชการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
“ข้าราชการต่างๆ ในกระทรวง รวมถึงครู เขาก็ต้องพยายามรักษาที่ยืนและตำแหน่งของตนเอง ผู้อำนวยการโรงเรียนที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงก็มีความเสี่ยงต่อการอยู่ในระบบราชการ ครูที่พยายามตั้งใจเปลี่ยนหลักสูตรการสอนเพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับในพื้นที่ ไม่ได้ทำตามสายอำนาจที่สั่งลงมา เขาก็เติบโตยาก ต้องทำใจว่าต้องอยู่โรงเรียนเล็กแบบนี้ต่อไป” อาจารย์ธรแจงปัญหาของตัวละครเล็กๆ ภายใต้ระบบใหญ่
อีกสิ่งสำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง คือวิธีคิดต่อการศึกษา เปลี่ยนวัฒนธรรมการแข่งขันคัดผู้แพ้ออก เปลี่ยนการมองการศึกษาเป็นโรงงานผลิตแรงงานออกสู่ตลาด มาเป็นการส่งเสริมเรื่องเสรีภาพและการใช้เหตุผล
“การหล่อหล่อมให้เด็กมีเสรีภาพ อย่างแรกคือเสรีภาพที่จะไปถึงสิ่งที่ฝัน ภายใต้กรอบว่าสิ่งที่เราทำมีเหตุผลรองรับ และพร้อมจะแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นอย่างมีวุฒิภาวะ ต่อมาคือเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ถ้าเกิดมาฐานะไม่ดีพอ จะทำอย่างไรให้เข้าสู่การศึกษาที่ดีได้ หรือเสรีภาพเชิงวัฒนธรรม ซึ่งมักถูกโรงเรียนตีกรอบ กำหนดกฎระเบียบไว้แน่นหนา และเสรีภาพทางการเมือง เราเรียนรู้การเป็นพลเมืองจากในโรงเรียนมากขนาดไหน หรือเราเรียนรู้แค่การเป็นผู้ถูกปกครองโดยรัฐเมื่ออยู่ในโรงเรียน
“ถ้าโรงเรียนให้สิ่งเหล่านี้ได้ การศึกษาจะมีคุณภาพที่ดีขึ้น อย่าลืมว่าการศึกษามีสองด้านเสมอ คือด้านทักษะการดำรงชีพ และด้านความเป็นมนุษย์ การศึกษาถูกเทไปทางประกอบอาชีพ จนลืมว่าการศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิต การได้เรียนรู้ ได้แลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจคนอื่น เข้าใจปรัชญา ประวัติศาสตร์ ทำให้ชีวิตมีความสมบูรณ์ขึ้น
“และถ้าจะพูดเรื่องการผลิตทางเศรษฐกิจจริงๆ ทุกวันนี้ทักษะที่จำเป็นคือ critical thinking การสร้างสรรค์ ไม่อยู่ในกรอบ รู้จักคนอื่น รู้จักตัวเอง สร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ใช่แค่เรียนจบไปเป็นแรงงาน ซึ่งสิ่งที่ลดทอนการบรรลุเป้าหมายตอนนี้ คือการบริหารจัดการการศึกษาไทยในปัจจุบัน” อาจารย์ธรสรุปทิ้งท้าย