Korkankru

กิจกรรม

สรุปการอบรมโมดูลที่ 1 ครั้งที่ 11 min read

Reading Time: 3 minutes โครงการผู้นำแห่งอนาคตเชื่อว่าการเป็นผู้นำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจะต้องเผชิญกับขอบทั้งในตัวเอง บริบทสถานการณ์ และต้องตัดสินใจจากสิ่งที่รู้ในอดีตกับสิ่งที่ไม่รู้ในอนาคต เพื่อก้าวไปข้างหน้า จึงควรมาเรียนรู้เพื่อสำรวจภาวะด้านในของตัวเอง Sep 20, 2018 3 min

สรุปการอบรมโมดูลที่ 1 ครั้งที่ 11 min read

Reading Time: 3 minutes

สรุปการอบรมเชิงปฏิบัติการภาวะการนำเพื่อการข้ามพ้น ปีที่ 1
โมดูลที่ 1: Edge Walking and Leadership for Future

โครงการผู้นำแห่งอนาคตเชื่อว่าการเป็นผู้นำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจะต้องเผชิญกับขอบทั้งในตัวเอง บริบทสถานการณ์ และต้องตัดสินใจจากสิ่งที่รู้ในอดีตกับสิ่งที่ไม่รู้ในอนาคต เพื่อก้าวไปข้างหน้า จึงควรมาเรียนรู้เพื่อสำรวจภาวะด้านในของตัวเอง โดยเชิญวิทยากรจากอินเดีย คือ คุณ Vikram Bhatt และคณะทำงานจาก Leadership that Works ประเทศอินเดีย มาจัดอบรมเรื่อง Edge walking Leadership หรือการทำงานกับขอบของตัวเอง

หลังจากให้แต่ละคนพูดถึงความคาดหวังจากการอบรมแล้ว วิทยากรจึงให้ทุกคนแบ่งปันเรื่องขอบตามที่เข้าใจ โดยยกตัวอย่างจากชีวิตของตนเองว่า ขอบแรกที่ตระหนักรู้เมื่ออายุ 12-13 ปี คือการตระหนักว่ามีชีวิตที่มากกว่าแม่ และอยากจะทำบางอย่างแตกต่างจากสิ่งที่แม่บอก ขอบที่สอง คือเมื่อตกหลุมรักภรรยาที่มีความแตกต่างกันในเรื่องของวรรณะ ชนชั้น ภาษาท้องถิ่น และครอบครัวไม่สนับสนุน ส่วนขอบเรื่องงาน คือการเบื่องานที่ทำ จึงลาออกและได้พบคนที่อยากจะทำงานด้วย จึงเรียนรู้การเป็นโค้ชและทำมาจนถึงปัจจุบัน เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป ขอบ คือ เส้นหรือพื้นที่ระหว่างความรู้และความไม่รู้ ที่ต้องก้าวข้ามถ้าอยากจะเติบโต แม้จะเสี่ยงต่อการสูญเสียสิ่งที่มีมาในอดีต ต่อเมื่อตระหนักรู้ จึงจะสามารถก้าวเข้าไปในพื้นที่ระหว่างความรู้และความไม่รู้ได้อย่างรื่นรมย์ อนุญาตให้พลังของความไม่รู้และสิ่งดีๆ จากส่วนที่รู้เข้ามาในตัวเองได้ โดยใช้ทักษะ 4 ประการ

ทักษะแรกของการเดินบนขอบ

คือการเป็นสักขีพยานในการมองขอบและโอบอุ้มขั้วตรงข้าม สังเกตว่าขอบคืออะไร แต่ละคนต้องเป็นใคร มีบทบาทไหน และจะนำพาหรือละทิ้งอดีตส่วนไหนบ้าง วิทยากรยกตัวอย่างว่า ผู้บริหารท่านหนึ่งมอบหมายโครงการใหญ่มาให้ทำ ในเวลาเดียวกับที่แม่ไม่สบายด้วยโรคเรื้อรัง ต้องได้รับการดูแล ขอบของเขาคือ การสร้างความสมดุลระหว่างการดูแลแม่และงาน เขาต้องเพิ่มทักษะการดูแลผู้สูงวัยในบ้าน และสร้างคู่ธุรกิจเพื่อทำงานที่รับมา ชีวิตต้องช้าลง ต้องทำงานน้อยลงแต่ยังสร้างผลลัพธ์ได้ตามที่ต้องการ เป็นต้น

หลังจากให้แต่ละคนได้แบ่งปันขอบในชีวิตของตนเองกับเพื่อนๆ แล้ว กระบวนการต่อไปเป็นการค้นหาขอบโดยใช้ร่างกายสำรวจพื้นที่ที่แต่ละคนรู้และไม่รู้ผ่านจินตนาการ แล้วสังเกตความรู้สึกที่ได้ ก่อนจะแบ่งปันกันในวงใหญ่ บางคนบอกว่างุนงง นึกไม่ออกว่าพื้นที่ปลอดภัยคืออะไร บางคนพยายามหลอมรวมสิ่งที่รู้หรือไม่รู้ และพบว่าที่ที่ตนเองไม่รู้เป็นที่ที่คนอื่นรู้มาก่อน พื้นที่จึงซ้อนทับกัน บางคนรู้สึกว่าพื้นที่ที่ไม่รู้ มีความรู้บางอย่างที่นำกลับมาใช้ได้ เป็นต้น

ต่อมา จึงฝึกการสำรวจขอบโดยใช้ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง เพื่อค้นหาพฤติกรรมที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ลึกลงไปถึงระดับความเชื่อ คุณค่า และความต้องการ โดยด้านบนของภูเขาน้ำแข็ง คือ พฤติกรรม การกระทำ สิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตา ลึกลงมาระดับแรก คือความคิดและความรู้สึก แล้วจึงมาเป็นความเชื่อและคุณค่า โดยคุณค่าคือสิ่งที่ช่วยกำหนดทิศทางชีวิตและใช้ในการตัดสินความผิดหรือถูก ส่วนความเชื่อมาจากประสบการณ์สะสมในชีวิตจริง เช่น ทุกคนอาจให้คุณค่ากับความซื่อสัตย์เหมือนกัน แต่ความเชื่อเกี่ยวกับความซื่อสัตย์อาจจะต่างกันตามประสบการณ์ของแต่ละคน เป็นต้น

เมื่อค้นลึกลงมาอีกถึงระดับจะเป็นความต้องการ การเลือกเดินบนขอบจะต้องตระหนักว่ามีความต้องการบางอย่างจะได้รับและไม่ได้รับการตอบสนอง การเปลี่ยนแปลงแต่เพียงพฤติกรรมภายนอกโดยไม่เคารพหรือดูแลความต้องการของตนเองอย่างแท้จริง จะทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่ถาวร แต่เมื่อได้ผ่านประสบการณ์เดินบนขอบ จะรู้สึกถึงเวลาหยุดลง เป็นอิสระจากอดีต และสามารถเปลี่ยนเส้นทางชีวิตได้ถ้าต้องการ

ทักษะการเดินบนขอบและการให้คุณค่าระหว่างสองขั้วตรงข้ามเท่าๆ กันเหมือนการหลับตาเดินบนลวดสลิงที่เชื่อมต่อระหว่างยอดตึกสองแห่ง โดยถือไม้ยาวๆ คอยประคองไว้

เมื่อผู้เข้าร่วมได้ทำกิจกรรมแล้ว บางคนรู้สึกว่าตัวเองได้เยียวยาตนเอง ได้พบของขวัญ เพราะไม่เคยค้นลึกลงไปในจิตใจตัวเองมาก่อน ช่วยให้เข้าใจตัวเอง และรู้สึกมีพลัง บางคนรู้สึกมีความมั่นคง และความเครียดบางอย่างหลุดออกไป

ทักษะที่สอง ตัวกวนที่สร้างสรรค์

คือการนำพลังของความสร้างสรรค์มาทำลายแบบแผน พิธีกรรม และความคิดเดิมๆ เป็นศิลปะของการสร้างแรงสะเทือนที่เป็นบวก เขย่าสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ให้หลุดออกไป และเหลือแต่สิ่งที่จะทำให้อยู่รอด โดยใช้การเดินที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกายกับจิตเป็นเครื่องฝึก แบ่งห้องเป็นสองข้าง คือสิ่งที่รู้และสิ่งที่ไม่รู้ แล้วให้เดินจากฝั่งที่รู้ไปฝั่งที่ไม่รู้ หนึ่ง ให้พูดถึงความเชื่อเก่าที่ต้องการจะเปลี่ยน สอง ก้าวไปข้างหน้าจนถึงจุดที่พอใจ ให้พูดถึงความเชื่อใหม่ที่เป็นตัวกวนระบบเดิม สาม ถ้าสัมผัสถึงแรงต้าน แล้วให้หาทางขยับไปข้างหน้าได้โดยไม่ไปฝืนแรงต้าน จนไปถึงจุดที่ความเชื่อใหม่เข้มแข็ง แล้วเปิดรับพลังงานบวกจากฝั่งที่ยังไม่รู้จักเข้ามาในตนเอง หันกลับมองไปจุดเริ่มต้น แล้วประกาศความเชื่อใหม่ที่ได้ออกมาดังๆ

ผลจากการฝึก บางคนอาจจะเคลื่อนไปข้างหน้าได้ไม่ยาก แต่บางคนจะพบแรงต้านเต็มไปหมด วิธีทำงานกับแรงต้านการเปลี่ยนแปลง คือการใช้ร่างกายเข้าไปรับรู้ความรู้สึกที่เกิดจากความเชื่อใหม่จนกระทั่งถึงจุดที่เต็มเปี่ยมจริงๆ บางคนได้พบสิ่งใหม่ๆ จากการพากายเดินออกมาก่อน แล้วก้าวไปจากมุมเดิมๆ จนมาพบจุดที่เป็นไปได้ บอกแล้วตนเองเชื่อ แล้วความเชื่อใหม่จะมาจริงๆ ส่วนบางคนกลับเจอแรงต่อต้านบางอย่างจนนิ่งอยู่กับที่ ความรู้สึกข้างในและเท้าก้าวไม่ออก ทำให้ตระหนักว่าร่างกายไม่โกหก

ทักษะที่สาม การเปิดรับเอาเหตุผลและญาณทัศนะเข้ามาด้วยกัน

เพื่อนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงได้จริง โดยกระบวนการฝึกเปิดรับญาณทัศนะ คือ หนึ่ง หยั่งราก ทำให้ตัวเองมั่นคง สอง อยู่ในความเงียบและผ่อนคลาย สร้างสนามพลังที่ห่อหุ้มดูแลตนเอง แล้วเปิดรับญาณทัศนะที่จะเข้าหาในลักษณะต่างๆ เช่น ภาพ คำ กลุ่ม เสียง ความรู้สึก ฯลฯ และสาม คือพูดออกมาโดยไม่ตัดสิน ไม่กลั่นกรอง จนเมื่อได้ญาณทัศนะแล้ว จึงเอาเหตุผลและหลักการมากรองเป็นการกระทำสามอย่างที่เป็นรูปธรรมและช่วยสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง

เช่น การทำให้ตนเองช้าลง คือต้องกลับมาดูแลสุขภาพตัวเอง เป็นการกระทำสามอย่างคือ หนึ่งทานอาหารที่ดี นอนหลับดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สอง การหาคู่หูใหม่ๆ ในการจะเดินไปข้างหน้า และสาม ให้ทำงานกับลูกค้าที่พลังงานชีวิตสอดคล้องกับตนเอง เป็นวางแผนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยลงมือกระทำได้และวัดได้ ภายในเวลาสามเดือน เพราะเมื่อได้ความเชื่อใหม่แล้ว จะรักษาความเชื่อใหม่ได้ต้องผ่านการฝึกซ้ำๆ จนเป็นรูปธรรม เพราะญาณทัศนะที่ปราศจากเหตุผลจะไม่หนักแน่นพอ ส่วนเหตุผลที่ปราศจากญาณทัศนะจะไม่เชื่อมต่อเข้ากับพลังชีวิตหรือร่างกายจริง

ทักษะที่สี่ การฟังเสียงวิวัฒนาการ

การฝึกฝนสามทักษะก่อนหน้า เป็นกระบวนการทำให้แต่ละคนเป็นอิสระจากตัวเอง ไม่ยึดติดกับอดีตและกังวลกับอนาคต สามารถเดินบนขอบเพื่อละตัวตนเก่าและเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามา จนมีความพร้อมที่จะได้ยินเสียงของวิวัฒนาการ ซึ่งเป็นปัญญาที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา มาทำให้ขอบค่อยๆ กว้างจนไม่เหลือขอบอีกต่อไป แต่กลายมาเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของชีวิต โดยหลักการฝึก คือ สร้างพื้นที่วงกลม แบ่งข้างหนึ่งคือครึ่งวงกลมที่ยังไม่สมบูรณ์ และอีกข้างคือความเป็นไปได้ใหม่และการรับฟังในสามรูปแบบ คือฟังเสียงจากอนาคตของตนเอง การฟังเสียงของโลก และการฟังเสียงของเด็ก

กระบวนการฟังเสียงวิวัฒนาการ จะประกอบด้วย 4 รูปแบบ คือการสนทนา การล้างอดีต สร้างสิ่งใหม่ๆ และสร้างความรู้ใหม่ สิ่งที่จะช่วยในการรับรู้ขอบเวลากลับไปใช้ชีวิตประจำวัน คือการสร้างบทสนทนา 4 อย่างดังกล่าวที่เป็นรูปธรรมและช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง เช่น บทสนทนาสำหรับการทำให้ชีวิตช้าลงของวิทยากร อาจจะประกอบด้วย บทสนทนาที่ว่า ชีวิตเป็นอย่างไรบ้างแล้วเมื่อช้าลง เป็นการพูดคุยกับตัวเองทุกวันหรือทุกสามวัน หรือมีวงสนทนาเกี่ยวกับความสวยงามในการใช้ชีวิตอย่างเนิ่นช้า หรืออาจสนทนากับ ภรรยา ลูกค้า เพื่อให้ผลประโยชน์ไปด้วยกัน เพราะคนที่จะต้องไปพูดด้วยควรเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับตนเอง เช่น ทีมงาน หรือคนคนที่ได้ผลกระทบจากการที่เราเดินบนขอบเป็นต้น

วันอาทิตย์ที่ 21 – วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2560
ณ ห้องประชุม 201 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพฯ
โดยโครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์