สรุปการอบรมโมดูลที่ 3 ครั้งที่ 2
Reading Time: 2 minutesสรุปการอบรมเชิงปฏิบัติการภาวะการนำเพื่อการข้ามพ้น ปีที่ 2
โมดูลที่ 3: นำด้วยเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณ (Leading with Soul Purpose)
- วันพุธที่ 12 – วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2561ณ ห้องประชุม 201 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพฯโดยโครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โครงการผู้นำแห่งอนาคตดำเนินงานมาเป็นปีที่ 4 วัตถุประสงค์คือส่งเสริมเรื่องการผู้นำในรูปแบบต่าง ๆ ในปีที่ 4 โครงการจะเน้นการทำงานกับพื้นที่ขอนแก่น โคกสลุง ลพบุรี พังงา และเชียงราย อย่างเข้มข้น โดยเติมมุมมองและศักยภาพความเป็นผู้นำแบบรวมหมู่ เนื่องจากโครงการเชื่อว่าการทำให้ชุมชนฐานรากมีความเข้มแข็ง ต้องอาศัยภาวะการนำร่วม (Collective) รวมถึงมิติเรื่อง Ethical และ Transformation การย้อนกลับมาดูตัวเองให้มาก เปลี่ยนตัวเองมากกว่าการบอกให้สังคมเปลี่ยน จึงเป็นที่มาของการทำงานร่วมกับองค์กร Leadership That Works ของประเทศอินเดีย ในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องภาวะการนำในมิติต่างๆ โดยภาวะการนำเพื่อการข้ามพ้น (Leading with Soul Purpose) เป็นโมดูลสาม
หลังจากเริ่มต้นด้วยกิจกรรมเช็คอิน แนะนำตัวแล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการอบรมอย่างเต็มตัวด้วยการแบ่งกลุ่มย่อยให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนคำถามเกี่ยวกับเป้าประสงค์ เช่น ความหมายของเป้าประสงค์ ความหมายต่อตนเอง และเรื่องราวทรงพลังเกี่ยวกับคำว่าเป้าประสงค์ในชีวิตของแต่ละคน แล้วแบ่งปันในวงใหญ่ จนได้ข้อสรุปว่า เป้าประสงค์คือพลังงานความคิด อารมณ์ความรู้สึก และพลังงานในด้านการลงมือกระทำ เปรียบเสมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดให้เราลงมือกระทำ เคลื่อนไหว ในฐานะความเป็นมนุษย์
ก่อนที่กระบวนกรจะอธิบายต่อว่า การทำงานกับเป้าประสงค์มีอยู่สามเรื่อง คือ ความตระหนักรู้ (Awareness) การร้อยเรียงสอดคล้องกัน (Alignment) และการลงมือกระทำ (Action) ไม่ใช่แค่เรื่องความรู้ แต่คือการที่ทุกคนเข้าไปปฏิบัติ นำพาเป้าประสงค์ออกมา แล้วอยู่ร่วมกับเป้าประสงค์อย่างไร และการฝึกคือการเอากายของเรากับความรู้สึกของแต่ละคนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเป้าประสงค์ เริ่มด้วยฝึกทำงานกับ 5 อารมณ์ความรู้สึก คือความรู้สึกมีความสุข สนใจใคร่รู้ เศร้าหม่นหมอง โกรธ และการไม่แน่ใจ สงสัยในตัวเอง
ต่อด้วยการเรียนรู้เป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณ มี 5 หลักการที่จำเป็นต้องเข้าใจเสียก่อน คือ หลักการแรก การเป็นองค์รวม (Wholeness) ทุก ๆ อย่างในชีวิตของเราเกิดมาเพื่อรับใช้และนำเราไปสู่เป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณของตนเอง หลักการที่สอง เป้าประสงค์คือการเดินทาง (Journey) เป็นทั้งภาพปลายทางและการเดินทางไปหา หลักการที่สาม การเติบโต (Growth) การตระหนักรู้ว่า มีตัวตนที่ใหญ่กว่าเราคอยดูแลเราอยู่เสมอ และกำหนดไว้แล้วว่าจะให้เราทำภารกิจอะไร หลักการที่สี่ เป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณมีเพื่อจะรับใช้ โอบอุ้มชุมชนหรือโลกที่ดำรงอยู่รอบ ๆ ตัวแต่ละคน (Serve the Wellbeing of Community)
วันแรก
กระบวนหยุดการอธิบายถึงหลักการที่ 4 แล้วให้ผู้เข้าร่วมจับคู่ถามคำถามที่เชื่อมโยงประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนกับเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณ 4 ข้อ เพื่อจะนำไปใช้ทำงานต่อในกระบวนการเรียนรู้ขั้นต่อไป
- คุณรักที่จะทำอะไรเป็นพิเศษเมื่อคุณเป็นเด็ก ก่อนที่โลกจะบอกคุณว่าคุณควร/ไม่ควรทำอะไร บรรยายช่วงเวลานั้นและความรู้สึกที่คุณมีต่อสิ่งนั้น
- บอกเราเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตที่ท้าทายที่สุดของคุณสองเรื่อง ประสบการณ์เหล่านั้นทำให้คุณกลายเป็นคนแบบไหน คุณจะเป็นอย่างไรถ้าปราศจากการเรียนรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์ชีวิตเหล่านี้
- สิ่งที่สร้างความเบิกบานที่สุดในชีวิตของคุณคืออะไร
- คุณปรารถนาที่จะสร้างตำนานอะไร คุณปรารถนาที่จะเป็นที่จดจำอย่างไรหลังจาก 10 ปีนี้
วันที่สอง
หลังจากจับคู่ถามคำถาม 4 ข้อ สลับบทบาทต่อจากเมื่อวานแล้ว จึงเป็นการจับกลุ่ม 6 คนแบ่งปันกันว่า จากการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ พบว่าแก่นแท้ของเพื่อนคืออะไร คุณค่าที่เพื่อนยึดถือคืออะไร และตนเองรู้สึกอย่างไรต่อเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณของเพื่อน ตามด้วยวาดภาพเกี่ยวกับเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณของตัวเองออกมา
ช่วงต่อมา เป็นการเรียนรู้แนวคิด Hero’s Journey ของโจเซฟ แคมเบลล์ ซึ่งศึกษาความเชื่อจากหลายศาสนา แล้วสกัดออกมาเป็นแนวคิดเรื่องวีรบุรุษหรือวีรสตรีที่ใช้ชีวิตออกเดินทางตามหาบางสิ่งบางอย่าง โดยความเป็นต้นแบบที่วีรบุรุษต้องเผชิญอาจนำมาเทียบเคียงกับเรื่องราวการเดินทางไปสู่เป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณของแต่ละคนได้ การเดินทางมี 12 ขั้นตอน จากโลกธรรมดา ได้รับเสียงเรียก ปฏิเสธเสียงเรียก แต่ได้พบครู ก่อนจะตัดสินใจเดินทางข้ามไปสู่ดินแดนใหม่ เพื่อเผชิญบททดสอบ จนค้นพบวิถีทาง เผชิญหน้ากับความตาย แต่ก้าวข้ามไปได้จนได้รับรางวัลเป็นพลังวิเศษ แล้วเดินทางกลับสู่โลกเดิม เพื่อนำพลังวิเศษไปช่วยคนอื่นต่อ
หลังจากอธิบายแต่ละขั้นตอนให้ผู้เข้าร่วมฟังแล้ว กระบวนกรให้ทุกคนจับคู่เล่าประสบการณ์การเดินทางของชีวิตตนเองเทียบเคียงกับการเดินทาง 12 ขั้นตอนของวีรบุรุษ และแบ่งกลุ่มสามคนแบ่งปันภาพวาดเกี่ยวกับเป้าประสงค์ของตนเองให้เพื่อนดูและช่วยกันสะท้อนสิ่งที่เห็น
วันที่สาม
กระบวนกรอธิบายหลักการข้อ 5 ของเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณเพิ่มเติม คือเรื่องของผู้เดินเคียงข้างที่คอยสนับสนุนกันไปบนเส้นทางเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณ ประกอบไปด้วยผู้พิทักษ์, ผู้ถูกละเลย, ผู้กระทำ
ผู้พิทักษ์คือผู้ดูแลเราจากความเจ็บปวดหรือโดนกระทำ ไม่ให้เข้าไปสู่พื้นที่แห่งความไม่รู้หรือแตกต่าง เพื่อมาดูแลความเป็นอยู่ของเราที่เคยดีอยู่แล้วให้เหมือนเดิม ส่วนผู้ถูกละเลยคือเสี้ยวส่วนที่ถูกละเลยและเอาไปเก็บไว้ ไม่ให้แสดงศักยภาพออกมา การพาผู้ถูกละเลยกลับมาจะต้องทำควบคู่กับผู้พิทักษ์ซึ่งเป็นผู้ถือกุญแจเปิดปิดประตูว่าจะให้ใครเข้าใครออก และจับผู้ถูกละเลยไปอยู่ในซอกหลืบ
ผู้พิทักษ์มีหลายรูปแบบ
- คนยึดความสมบูรณ์แบบ (The Perfectionist) ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ ถ้าไม่ชัดจะไม่ทำ
- จอมบงการ (Task Master) เป็นผู้ผลักให้ทำสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา ไม่ให้ดูแลตัวเอง ทำให้ยุ่งตลอดเวลา เพื่อให้เราไม่ก้าวไปข้างหน้า
- คนที่ทำให้รู้สึกผิด (Guilt Tripper) ทำให้เรารู้สึกวิตกกังวลตลอดเวลา ไม่ถึงจุดที่ต้องไปต่อ
- คนขี้กังวล ตั้งข้อกังขา (The Skeptic) กลัว ไม่แน่ใจ ลังเลตลอดเวลา มองไปทางไหนมีแต่ปัญหาอุปสรรคไปหมด ไม่กล้าทำ ไม่เชื่อมั่น ไม่ไว้วางใจ
- นักควบคุมภายใน (Inner Controller) จะคอยบอกเราว่า เราต้องเดินแบบนี้ รู้สึกแบบนี้
- ผู้จัดการภาพลักษณ์ (Image Consultant) ต้องมั่นใจ สง่างาม ไม่อนุญาตให้เราโกรธได้
- นักบั่นทอน (The Under Miner) เธอทำได้ดีกว่านี้ เธอเก่งไม่เท่าคนอื่น ไม่อนุญาตให้ตัวเองชื่นชมความงามระหว่างการก้าวเดินบนเส้นทางเลย
- นักจัดสรรปั้นแต่งตามแบบพิมพ์ (The Molder) จะมีภาพว่าเส้นทางที่เราก้าวเดินเป็นแบบไหนล่วงหน้า ถ้าไม่เป็นไปตามภาพที่เห็นจะถือว่าไม่ได้เรื่อง
- ผู้ทำลายล้าง (The Destroyer) อยากให้เราเป็นในแบบที่ดีที่สุด แต่พอถึงจุดที่ประสบความสำเร็จ จะให้เราทำบางอย่างเจ๊ง เพื่อปกป้องเราจากการประสบความสำเร็จ อาจเป็นเพราะเคยมีประสบการณ์ที่การพบความสำเร็จทำให้คนอื่นอิจฉาหรือเจ็บปวด
การดูแลผู้พิทักษ์เป็นสิ่งจำเป็น กระบวนกรจึงสาธิตและให้ผู้เข้าร่วมจับคู่ฝึกการสื่อสารกับผู้พิทักษ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุด แล้วโอบรับผู้ถูกละเลยให้กลับเข้ามา
กิจกรรมสุดท้าย เป็นการทำให้แต่ละคนตระหนักถึงเพื่อนร่วมทางสามคนที่จะสนับสนุนการเดินไปสู่เส้นทางเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณของตน คือ
- เพื่อนที่เป็นปัญญาญาณ (Wisdom) เป็นเพื่อนที่ช่วยพาเราเข้าถึงปัญญาญาณหรือให้ปัญญาญาณกับเรา
- เพื่อนที่หล่อเลี้ยงบำรุงเรา (Nurturing) จะเป็นเพื่อนที่ช่วยเรา คอยชื่นชม ให้กำลังใจเรา หรืออาจจะมาในรูปแบบหมอนวดของเราก็ได้
- เพื่อนที่ช่วยให้เราได้รับความน่าเชื่อถือ ความไว้ใจได้ (Accountability) คอยดูแลไม่ให้เราออกนอกเส้นทาง หรือตกหล่นออกนอกเส้นทางของเรา
โดยการให้แต่ละคนทบทวนและระบุเพื่อนสามประเภทดังกล่าวแล้วแบ่งปันกันในกลุ่มเพื่อช่วยกันหาในกรณีที่ยังไม่สามารถระบุได้ด้วยตัวเอง
ก่อนจะปิดวงร่วมกัน
- ภาพกิจกรรม
- สามารถรับชมบันทึกฉบับเต็มได้ ที่นี่