Korkankru

ผู้นำแห่งอนาคต

โคกสลุงกับพังงา: ไม่มีฮีโร่ มีแต่การ ‘นำร่วม’ ของคนตัวเล็กตัวน้อย6 min read

Reading Time: 3 minutes ถอดบทเรียนการทำงานชุมชน กับหัวข้อวิจัย ‘การถอดบทเรียนปฏิบัติการเชิงพื้นที่ภายใต้แนวคิดเรื่องการนำร่วมกรณีศึกษา ผลสัมฤทธิ์ด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของเครือข่ายภาคประชาสังคม และชุดประสบการณ์นักวิจัย’ Aug 20, 2020 3 min

โคกสลุงกับพังงา: ไม่มีฮีโร่ มีแต่การ ‘นำร่วม’ ของคนตัวเล็กตัวน้อย6 min read

Reading Time: 3 minutes

พังงาแห่งความสุข

ท่ามกลางผู้คนที่ผ่านพบในสถานการณ์ยุ่งเหยิงและโกลาหลหลังเหตุการณ์สึนามิ ภัยพิบัติในครั้งนั้นได้สร้างคนทำงานภาคประชาสังคมและผู้นำมากมายในจังหวัดพังงา ทุกข์ที่มีร่วมกันได้เรียงร้อยการทำงานให้พวกเขาที่เคยกระจัดกระจายไปคนละทิศ สู่การผนึกกำลังเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ เพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกันคือ ‘รวมคนสร้างเมืองแห่งความสุข’

ชุมชนวัฒนธรรมไทยเบิ้งโคกสลุง

ความโดดเด่นของชุมชนแห่งนี้คือ ความเข้มแข็งของชุมชนในการใช้เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยเบิ้ง ในการรับมือกับวิกฤติการวางผังเมือง ทำให้ตำบลโคกสลุงรอดพ้นจากการเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรม สถาบันไทยเบิ้งโคกสลุงเพื่อการพัฒนาจึงถูกตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน พัฒนาภูมิปัญหาและวัฒนธรรม ไปจนถึงการสร้างชุมชนให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ต่อไป

โดยสังเขป สองพื้นที่ข้างต้น คือพื้นที่การวิจัยในหัวข้อ ‘การถอดบทเรียนปฏิบัติการเชิงพื้นที่ภายใต้แนวคิดเรื่องการนำร่วมกรณีศึกษา ผลสัมฤทธิ์ด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของเครือข่ายภาคประชาสังคม และชุดประสบการณ์นักวิจัย’ โดยทีมนักวิจัย 4 ท่าน ประกอบด้วย ดร.ชลิดา จูงพันธ์, ดร.กิตติ คงตุก, ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ และ ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล จากโครงการผู้นำแห่งอนาคต

“ตั้งแต่ก่อตั้งโครงการผู้นำมา เริ่มแรกคือการเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ทำงานอยู่ในภาคประชาสังคม ชุมชนต่างๆ ให้มามีพื้นที่แลกเปลี่ยนในการเรียนรู้กัน โดยโครงการมองว่า การที่เรามองภาวะหรือตัวผู้นำ เรามองในเชิง heroic ผู้นำแบบฮีโร่มาตลอด

“แต่โครงการนี้อยากจะเปลี่ยนการมองผู้นำใหม่ เป็นการมองในแบบกระบวนทัศน์ใหม่ ว่าจริงๆ แล้วนั้น การนำที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่จากใครคนใดคนหนึ่ง หรือจากผู้มีอำนาจในโมเดลเข้มเเข็งเยี่ยงนักรบ แต่คนตัวเล็กตัวน้อยทุกคนที่อาจจะไม่ได้มีตำแหน่งทางการ ก็สามารถนำได้”

ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ อธิบายถึงร่มใหญ่ใจความของการทำงานเชิงพื้นที่ผ่านการใช้องค์ความรู้และเครื่องมือหลายรูปแบบเพื่อขับเคลื่อนชุมชนในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา บนแนวคิดของการ ‘นำร่วม’ ของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยและภาวะผู้นำที่เกิดจากการเรียนรู้และทำงานร่วมกัน

ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล (ซ้าย) ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ (กลาง) ดร.กิตติ คงตุก (ขวา)

งานวิจัยชิ้นนี้คือการถอดบทเรียนปีที่ 5 ของพื้นที่ โดยทีมวิจัยได้หยิบยก 2 พื้นที่หลักๆ คือ โคกสลุง และพังงา มาถอดโครงสร้างวิธีคิด วิธีการ โมเดลการทำงาน ที่มาที่ไปของความสำเร็จ เพื่อเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาของการทำงานชุมชน

“เราเลือกพื้นที่ 2 พื้นที่ คือโคกสลุงกับพังงา เพราะว่าน่าจะเป็นภาพแทนที่ชัดเจนในเรื่องของการทำงานขับเคลื่อนในชุมชน โดยวิจัยชิ้นนี้จะอธิบายวิธีการทำงานของภาคประชาสังคมที่กำลังต่อสู้ ดิ้นรน ขัดขืน กับการถูกบีบคั้น ว่าเขาทำอย่างไร

“อีกทั้งสองพื้นที่นี้ ได้ก่อตั้งสถาบันการเรียนรู้ ซึ่งการก่อตัวขึ้นนั้น มันเต็มไปด้วยไอเดีย เช่นเรื่องของการเอาภาคธุรกิจไปบวกกับงานภาคสังคม การถ่วงสมดุลระหว่างธุรกิจกับภาคประชาชน ไม่มีใครเคยพูดเรื่องนี้หรือทำเรื่องนี้”

ความน่าสนใจของวิจัยชิ้นนี้ ถูกแยกย่อยหัวข้อหลักๆ ออกเป็น 4 เรื่อง คือ

หนึ่ง – การทำงานขับเคลื่อนชุมชนและสร้างชุมชน นักปฏิบัติการในพื้นที่ชุมชนไทยเบิ้ง บ้านโคกสลุง
สอง – กระบวนการรวมคนสร้างเมืองตามวิถีพังงาแห่งความสุข
สาม – ทวิวัจน์การวิจัย กรณีศึกษา เรื่องเล่าจากนักวิทยาการเรียนรู้กับกระบวนทัศน์การทำงานในชุมชน
สี่ – โครงการรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์แนวคิดและทฤษฎีที่ใช้ในการทำงานขับเคลื่อน และสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่

“ปีนี้เป็นปีที่เราได้โจทย์มากว้างๆ คิดว่าพวกเราอยากจะทำอะไรให้เห็นเป็นการตกผลึก หรือตกตะกอนความคิดทั้งในฐานะที่โครงการทำ แล้วเห็นอะไรบ้าง กลุ่มที่ทำงานด้วยกัน พวกเราเห็นอะไรในตัวพวกเราบ้าง ก็เลยเกิดงานเขียนมา 4 ชิ้นที่มีอิสระ”

ดร.กิตติ คงตุก เล่าถึงไอเดียตั้งต้นของงานวิจัยชิ้นนี้ ที่เปรียบเหมือนการนำตะกอนความคิดจากการทำงาน 5 ปี กอปรไปกับประสบการณ์ของนักวิจัยทั้งสี่ที่ร่วมหัวจมท้ายกับการทำงานในชุมชนทั้งในฐานะนักวิจัย และเพื่อนร่วมทำงานกับชาวบ้านในชุมชน

‘พังงาแห่งความสุข’ กับการรวมคนเพื่อสร้างเมือง

ดร.กิตติ หนึ่งในนักวิจัยที่ได้เข้าไปเกาะติดและถอดกระบวนการทำงานของพลเมืองและภาคประชาสังคมพังงา ได้เล่าถึงการทำงานและข้อค้นพบถึงปัจจัยที่ทำให้พังงาประสบความสำเร็จในการรวบรวมคนทำงานในหลายภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกัน

“เราเริ่มต้นโดยการไปค้นของดี หาทุนของเขาในจังหวัดพังงา ซึ่งพังงานั้นมี 8 อำเภอ พี่ๆ เขาก็เสนอมา 5 อำเภอที่รู้สึกว่าจับต้องได้และคนมาดูงานเยอะจริง ซึ่งก็เกือบทั้งจังหวัด ใน 5 อำเภอนี้”

5 อำเภอที่ว่า คือ หนึ่ง – บ้านน้ำเค็ม ขับเคลื่อนเรื่องการจัดการภัยพิบัติในชุมชนจากประสบการณ์สึนามิ พวกเขาลุกขึ้นมาเปลี่ยนเมืองและฟื้นชีวิตของคนในชุมชนจากการสูญเสียครั้งนั้น

สอง – เกาะยาวน้อย กับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายใต้วิถีมุสลิม การจัดการท่องเที่ยวโดยการกำหนดผังพัฒนาเกาะโดยคนในชุมชนบนวิถีที่เคยเป็นมา กระทั่งว่า ลูกหลานที่เรียนจบมาจากเมืองใหญ่ สามารถกลับมาทำงานที่บ้านได้ และยังสามารถปกป้องทรัพยากรจากการรุกคืบของทุนใหญ่ได้

สาม – บ้านทับตะวัน วิถีมอแกลนกับการกำหนดชุมชนของตนเองผ่านวิถีวัฒนธรรม จากอดีตของการเป็นผู้บุกเบิกชุมชน กลับกลายป็นผู้บุกรุก นำไปสู่การถูกไล่รื้อบ้านและต้องต่อสู้เพื่อที่ดินทำกิน วันนี้พวกเขาสามารถสร้างโมเดลเพื่อเป็นกรณีศึกษาให้กับพี่น้องชาติพันธุ์ในที่อื่นๆ ของประเทศได้

สี่ – ชุมชนโคกเจริญ ใช้กิจกรรมเรื่องอาหารปลอดภัยในการเชื่อมโยงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เริ่มต้นจากการผลักดันการปลูกผักออร์แกนิค สู่กิจกรรมปิ่นโตเพื่อสุขภาพ สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและมีการแพร่กระจายวิธีคิดนี้สู่จังหวัดพังงา

ห้า – ชุมชนรมณีย์ที่พังงา ความสุขของรมณีย์คือเมืองที่ไม่มีหนี้สิน เมืองที่ชาวบ้านมีสวัสดิการที่เข้มเเข็ง ปัญหาหนี้สินนอกระบบที่เคยเรื้อรังในพื้นที่ก็ถูกแก้ไข และมีอำนาจต่อรองเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ไม่มีการขูดรีดจากพ่อค้าคนกลางในเรื่องพืชผลการเกษตร

“จุดแข็งของเขา คือมีประสบการณ์ทำงานจริงๆ จนเกิดองค์ความรู้ที่คนสนใจมาดูทั้งในและต่างประเทศในบางเรื่อง ซึ่งทั้ง 5 พื้นที่นี้ถูกร้อยเรียงด้วยวิธีการทำงานอย่างหนึ่งของคนพังงา เขาเรียกว่า ‘รวมคนเพื่อสร้างเมืองแห่งความสุข’

“พอเราถอดบทเรียนออกมา มันจะไม่เป็นกระบวนการที่ผูกติดกับพื้นที่ใดชัดเจน แต่มันคือแก่นในเรื่องของการขับเคลื่อนสังคมในแบบที่เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวที่เขารู้สึกว่า เขาลองผิดลองถูกมาเยอะแล้ว”

ดร.กิตติ ได้ถอดกระบวนการทำงานของคนพังงาออกมาในการรวมคนสร้างเมืองแห่งความสุข พบว่า

“สิ่งหนึ่งที่พวกเขายืนยันตรงกันโดยมิได้นัดหมาย คือเขาใช้วิธีการทำข้อมูล พอเขาเริ่มคุย เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ก็เอาผู้หลักผู้ใหญ่มาคุยกันด้วย เพื่อจะทำให้คนหลายๆ ส่วนรู้สึกว่าต้องฟัง จากนั้น เขาก็จะระดมสิ่งที่เรียกว่าเป็นทุกข์ในชุมชน โดยที่ภาคประชาชนทำกันเอง ภาครัฐเห็นว่าเขารวมกลุ่มกันได้ดี แล้วก็ให้ข้อมูลที่รัฐไม่สามารถเข้าไปเอาได้ เกิดการจัดสรรงบประมาณให้ภาคประชาสังคมทำงาน”

ดร.กิตติ ได้ตั้งข้อสังเกตจากการเก็บข้อมูลพื้นที่ ว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ที่ต่างออกไปจากการเรียกร้องผ่านการรวมกลุ่มประท้วง แต่เป็นการทำงานขับเคลื่อนชุมชนโดยการสำรวจต้นทุนของตนและการทำข้อมูลเชิงลึก เพื่อเป็นเสมือนกุญแจเปิดประตูสู่การที่ภาคประชาชนและประชาสังคมจะเข้าไปนั่งในการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางจังหวัดผ่านโครงสร้างการทำงานของจังหวัดได้อย่างเป็นที่เป็นทาง เกิดการประติดปะต่อการทำงานร่วมกันทั้งประชาชน ประชาสังคม เอกชน และหน่วยงานรัฐ

เรื่องเล่าของนักวิจัย

ความน่าสนใจของงานวิจัยชิ้นนี้ คือการถอดเรื่องราวประสบการณ์ของ ‘กลุ่มนักวิจัย’ ซึ่งล้วนแล้วเป็นอาจารย์จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ไอยเรศ เล่าว่า ประสบการณ์ของนักวิจัยนั้น จะชี้ให้เห็นกระบวนการศึกษาการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในชุมชนผ่านประสบการณ์การทำงานภาคประชาสังคมของผู้นำ (leader) และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholder) ที่ประสานกันอย่างลงตัวจนเกิดเป็นความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนหรือสังคมอย่างเป็นรูปธรรม

เรื่องราวการทำงานของนักวิจัยกลุ่มนี้ จึงรุ่มรวยไปด้วยบทสนทนา (dialogue) ที่เกิดขึ้นระหว่าง นักวิจัยกับผู้วิจัย หรือ นักวิจัยกับคนในชุมชน หรือ นักวิจัยด้วยกันเอง

“ปกติเวลาทำวิจัยเป็นคณะ ข้อจำกัดของคณะนั้น มันคือทุกคนจบมาทางสายเดียวกันหมด แต่ว่าด้วยความที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ เราตั้งต้นว่า เป็นการรับความหลากหลายทางสาขาวิชา ถ้ามองเป็นภาพเพื่อให้สะท้อนตัวคณะอีกทีหนึ่ง มันมีตั้งแต่สายที่มาจาก วิทย์จ๋าเลย สายชีววิทยา สายดนตรี ไปจนถึงสายบรรพชีวิน ขุดไดโนเสาร์อะ” ดร.ฐิติกาญจน์ เล่า และเสริมด้วย ดร. ไอยเรศ ที่ชวนทิ้งท้ายไว้ว่า

“วิธีคิดของนักวิจัยแต่ละคนที่ค่อนข้างแตกต่างกัน บางคนมีวิธีคิดแบบเชิงวิพากษ์เลย ตั้งคำถามทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนของเราก็จะเห็นข้อมูลแล้วดีจังเลย ข้อมูลเป็นอย่างนี้ บางทีก็ยูโทเปีย บางทีมันก็สวยมากจนเกินไป เพราะฉะนั้นในภาวะของการทำงานร่วมกันทั้ง 4-5 คน มันช่วยคานความคิดซึ่งกันและกันนะ มันช่วยให้มีการตั้งคำถามกับข้อมูลที่เกิดขึ้น นี่ก็เป็นสิ่งที่ค้นพบจากตรงนี้”

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย ‘การถอดบทเรียนปฏิบัติการเชิงพื้นที่ภายใต้แนวคิดเรื่องการนำร่วมกรณีศึกษา ผลสัมฤทธิ์ด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของเครือข่ายภาคประชาสังคม และชุดประสบการณ์นักวิจัย’

ติดตามการนำเสนองานวิจัยทั้งหมดได้ในเวทีเสวนาวิชาการ ‘ก่อการวิจัย: ถอดสลักโลกการศึกษา ถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชน’ ในวันพุธที่ 26 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ณ ห้อง 202 ชั้น 2 อาคารสิริวิทยลักษณ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หรือติดตาม Live ได้ที่เพจโครงการผู้นำแห่งอนาคต, ก่อการครู, WAY MAGAZINE

Your email address will not be published.