ก่อการคูณ : เครือข่ายครู ขับเคลื่อนการศึกษา
Reading Time: 3 minutesหลังจากการรวมตัวกันของครูแกนนำก่อการครูใน เวทีพัฒนาศักยภาพการเป็นกระบวนกรหรือเวทีก่อการคูณ โมดูล 1 เพื่อมองหาเครือข่าย เริ่มขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่ของตน ก่อร่างเป็นเครือข่ายกว่า 10 เครือข่ายทั่วประเทศในปลายปีที่ผ่านมา และได้กลับมาเจอกันอีกครั้งใน เวทีก่อการคูณ โมดูลที่ 2 ว่าด้วยองค์กรการเรียนรู้และการสร้างเครือข่าย จัดขึ้นในวันที่ 6-8 มีนาคม 2564 ณ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำกระบวนการโดย คุณพฤหัส พหลกุลบุตร, และคุณธนัญธร เปรมใจชื่น
ตลอด 3 วันในโมดูลที่ 2 กระบวนกรได้ชวนครูก่อการคูณ ทบทวนการทำงาน เข้าไปใคร่ครวญด้านใน ค้นหาแก่นแกนของจุดยืน เสริมพลังการทำงานให้เกิดการตระหนักร่วม และเห็นว่าทุกคนมีคุณค่าที่สำคัญต่อการขับเคลื่อน รวมทั้งชวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อมองหาความสำคัญ แนวทาง มูลเหตุ และเป้าหมายของการขับเคลื่อนเครือข่ายให้เป็นระบบและเข้มแข็งมากขึ้น
“หลังจากจบโมดูลที่ 1 ไป เราก็ได้กลับไปทำงาน ทำให้รู้สึกเหนื่อย สับสน เมื่อเจอกับปัญหาทั้งต่องานประจำ และงานการขับเคลื่อนโหนด แต่พอได้เข้าโมดูลที่ 2 ก็ได้กลับมาทบทวนตัวเอง และทำให้ตัวเองชัดเจนมากขึ้น ว่าเราควรขับเคลื่อนด้วยพลังแบบใด และต้องเยียวยาตัวเองด้วยวิธีใดได้บ้าง”
เสียงสะท้อนจาก ‘ครูเก๋-ว่าที่ร้อยตรีหญิงสุดารัตน์ ประกอบมัย’ ครูรุ่นใหม่ผู้อยากเห็นการศึกษาไทยก้าวไปข้างหน้า ทว่าการก้าวมาทำงานในลักษณะการขับเคลื่อนระดับเครือข่ายก็ท้าทายเธอไม่น้อย เมื่อต้องพบแรงเสียดทานรอบข้างที่เข้าไปสั่นสะเทือนด้านใน เช่นเดียวกับเสียงสะท้อนของคุณครูอีกหลายคนที่อ่อนแรงจากการทำงานขับเคลื่อน ด้วยภาระงานของครูที่มีมากอยู่แล้วกับการทำงานเครือข่ายที่ต้องเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน อีกทั้งแรงเสียดทานจากสังคม เมื่อคุณครูผู้ก่อการต่างมุ่งมั่นที่จะสร้าง “วัฒนธรรมการศึกษาแบบใหม่” บน “โลกใบเก่า” แรงเสียดทานจากสังคม จึงท้าทายพวกเขาอยู่เสมอ
“SLC ต้องมีผู้บริหารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มันจึงซับซ้อนมากกว่า เราทำมันด้วยตัวของเราโดยไม่ได้ยึดโยงกับนโยบายโรงเรียน หรือตัวผู้บริหารขนาดนั้น สุดท้ายเลยทำ SLC ไม่ได้ จึงได้ถอยกลับมาทำ PLC แทน ซึ่งครูสามารถคุยกัน แก้ปัญหาเด็กและครูร่วมกัน”
ครูกั๊ก-ร่มเกล้า ช้างน้อย กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนเมื่อพบเจอกับแรงเสียดทานจากบริบทของโรงเรียน
กล่าวได้ว่า โมดูลที่ 2 คุณครูเต็มไปด้วยเรื่องเล่าหลากหลายรสชาติของการทำงานเครือข่ายขับเคลื่อนการศึกษา สิ่งสำคัญที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ การทำงานขับเคลื่อนในระดับขบวนการไม่อาจละเลยมิติการทำงานกับด้านในของผู้ขับเคลื่อนได้ กระบวนการในโมดูลนี้ จึงพยายามชวนคุณครูใคร่ครวญตนเอง จากการทำงานเครือข่ายที่ผ่านมา เรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายของเพื่อนร่วมงาน และกลับเข้ามามองเห็นคุณค่าภายในของตัวเองต่อขบวนการขับเคลื่อนเครือข่าย
“จากเครื่องมือการขยายเครือข่าย เราควรเริ่มจากคุณค่าภายในเรา ก่อนที่จะขยายไปสู่เปลือกนอก แต่ที่ผ่านมาเรากลับทำจากเปลือกนอก พยายามจะไปตอบคุณค่าภายใน แต่ภายในเรายังไม่ชัดเลย การมาในครั้งนี้มันช่วยให้เราตอบคุณค่าภายในเราได้ชัดขึ้น กลายเป็นว่า ถ้าเราเริ่มแบบนี้ คุณค่าเราชัด เราทำอะไรก็ใช่หมด”
‘ครูยอร์ช-ณัฐพงศ์ อนุสนธิ์’ คุณครูผู้เต็มไปด้วยพลังและรอยยิ้ม หนึ่งในครูก่อการคูณ จากก่อการครูสุพรรณบุรี ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเห็นคุณค่าการเปลี่ยนแปลงด้านในเพื่อขับเคลื่อนสู่ภายนอก
นอกจากการเข้าไปทำงานด้านในอย่างเข้มข้นแล้ว คุณครูยังได้เรียนรู้การเป็น Networker หรือนักสานพลังเครือข่ายอย่างเป็นระบบ ระดมความคิดอย่างจริงจัง โดยกลับเข้ามามองหา WHY ผ่านเครื่องมือ Start With WHY ถกถามกันว่า “ทำไม” จึงต้องขับเคลื่อนในพื้นที่หรือประเด็นดังกล่าว เพื่อค้นหาหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนในครั้งนี้ให้เจอ
“เราอยากสร้างพื้นที่การเรียนรู้ แต่ก็โดนถามบ่อย ๆ ว่าสร้างทำไม มันเกิดอะไรขึ้น เมื่อถูกถามย้ำ ๆ เราก็กลับมาเถียงกับทีม จนมันได้สภาพปัญหาในพื้นที่จริง ๆ เป็นคุณค่าร่วม ชัดเจน คือเพื่ออยากให้ครูในสุพรรณทั้งที่เขากำลังทำหน้างานอยู่ รวมถึงคนที่กำลังเข้ามาใหม่ เขาได้มาเจอกัน ได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนกัน”
ครูยอร์ชเล่าถึงการค้นพบว่า “ทำไม” การขับเคลื่อนของพวกเขาจึงสำคัญต่อพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และยังเล่าต่อถึงการเข้าร่วมในโมดูลที่ 2 ครั้งนี้ ทำให้มองเห็นการทำงานเครือข่ายในมุมของขบวนการทางสังคมมากขึ้น
“ชอบทุกเครื่องมือ รู้สึกว่ามันใช้ได้ เพราะเครื่องมือบางตัวเราแทบไม่เคยคำนึงถึงมันเลย เช่น ขั้วตรงข้าม เพื่อนระหว่างทาง การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมที่เป็นเส้นกราฟ ซึ่งมันช่วยให้เรามองเห็นว่าเรากำลังทำงานอย่างเป็นขบวนการจริงๆ คือไม่ได้ทำเฉพาะคนที่มาร่วมเวิร์กช็อปกับเรา แต่เรากำลังสื่อสารทางสังคมด้วย เรากำลังทำให้คนที่มองอยู่ได้เห็นถึงสิ่งที่เรากำลังทำอยู่”
นอกจากการค้นหา WHY และมองเห็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนแล้ว กระบวนกรยังชวนมองให้ชัดไปถึงการวางแผนปฏิบัติงานขับเคลื่อนเครือข่ายอย่างเป็นระบบ มองหาปัญหา สถานการณ์ที่นำมาสู่ปัญหา ภาพปลายทางของการขับเคลื่อน และแนวทางแก้ไขปัญหา โดยชวนคุณครูระดมความคิด เพื่อมองเห็นความชัดเจนในประเด็นที่ขับเคลื่อน นำไปสู่ความเป็นไปได้ในการก้าวต่อไปในระดับขบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากขึ้น
“สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากของการร่วมกิจกรรมโมดูลนี้ คือ มันทำให้เราได้เห็นถึงพลังของเครือข่าย เห็นพลังของทีม และได้เครื่องมือที่ทำให้เราวางแผนอย่างเป็นระบบมากขึ้น จากที่แต่ก่อนเราลุยทำอย่างเดียว ผลเป็นยังไงก็ไม่รู้ แต่พอมารอบนี้ มันทำให้เราได้เครื่องมือเยอะมาก มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน คล้ายๆ กับมันแตกวัดถึงการวัดและประเมินผลในงานของเราด้วย เห็นภาพ ทิศทางก็ชัดขึ้น รวมถึงเห็นแนวร่วมในทีมตัวเองมากขึ้น”
ครูเก๋สะท้อนว่าการเดินทางกลับมาพบเจอกันอีกครั้งของครูก่อการคูณในโมดูลนี้ ทำให้เห็นแนวร่วม แผนงาน และหมุดหมายที่จะขับเคลื่อนร่วมกันต่อไปได้อย่างชัดเจน
กล่าวได้ว่า การกลับมาพบกันอีกครั้งของครูก่อการคูณโมดูลที่ 2 นี้ ทำให้คุณครูได้เข้าไปเช็กอินด้านในจากการทำงานเครือข่ายตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เห็นคุณค่าภายใน ยอมรับ และตั้งแกน เพื่อตั้งรับกับสิ่งที่จะผ่านเข้ามาในการขับเคลื่อน รวมถึงเป็นเวทีที่เปิดพื้นที่ในการค้นหา “หัวใจสำคัญ” ของการขับเคลื่อนและวางแผนงานการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ตลอดจนมองหาความเป็นไปได้ในการกระเพื่อมระบบการศึกษาในระดับโครงสร้างต่อไป
แม้บนเส้นทางการสร้างวัฒนธรรรมการศึกษาใหม่ อาจต้องเจอแรงเสียดทานมากมาย แต่เมื่อเครือข่ายขยายสู่การเป็นขบวนการ ความหวังและความเป็นไปได้จะชัดเจนขึ้น ดังที่ พฤหัส พหลกุลบุตร ได้ให้ความคิดเห็นต่อขบวนการก่อการคูณเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
“สิ่งสำคัญคือมันเป็นขบวนการจากฐานรากของครูเอง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมใหม่ จากข้าราชการที่ต้องรอรับคำสั่ง ไม่มีส่วนในการออกแบบนโยบาย แต่ครั้งนี้เขาเป็นผู้กำหนดนโยบายด้วยตัวเค้าเองกับสิ่งที่เขาอยากเห็น เราหวังว่าวันหนึ่งขบวนการนี้ใหญ่ขึ้น แล้วมันจะสามารถมีข้อเรียกร้อง voice out จากขบวนการฐานรากของครูเอง แล้วมันจะทำให้ผู้มีอำนาจสั่นสะเทือนได้ แล้วพัฒนาไปเป็นนโยบายหรืออะไรบางอย่าง ซึ่งมันต้องใช้เวลาและใช้แรงเยอะ แต่มันมีความเป็นไปได้”
ติดตามข่าวสารและการขับเคลื่อนของครูก่อการคูณ (X-Teachers) ได้ที่เพจ ก่อการครู
รับชมภาพกิจกรรม : 6-8 มีนาคม 2564