การศึกษาในอนาคตกับโลกที่หมุนไวขึ้น 20 เท่า อาชีพไม่ถาวรเเละเด็กที่ต้องเก่งขึ้นสองเท่า
Reading Time: 3 minutesการศึกษาในอนาคต ในวันที่การแพร่ระบาดของโรคทวีความรุนแรง วิถีชีวิตของผู้คนต่างต้องปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขรายวัน โจทย์ของสังคมและการศึกษาที่ยังแก้ไม่ตกมายาวนาน กำลังถูกถมทับด้วยโจทย์ใหม่ ๆ ที่มี COVID-19 และวิกฤตเศรษฐกิจเข้ามาเร่งปฏิกิริยาต่าง ๆ ดร. เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ชวนเราทบทวนประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของสังคมโลก ตลอดจนมองย้อนมองสังคมไทย ภายใต้เงื่อนไขใหม่ที่เราต้องร่วมกันแก้ปัญหา
เริ่มต้นจากช่วงเวลาก่อนที่โรคระบาดโควิดจะมาเยือน โลกของเรากำลังเผชิญกับความท้าทายจากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่รุดหน้า โดยนักวิทยาศาสตร์ได้สร้างดัชนีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตขึ้นมา นับแต่ราว 600 ปีก่อน (ประมาณ ค.ศ. 1,400) เมื่อครั้งที่โลกยังไม่รู้จัก ‘แท่นพิมพ์ (Printing press)’ การจะสร้างความรู้ในแต่ละครั้งจึงต้องใช้แรงกายของมนุษย์ในการคัดลอกหนังสือทีละเล่ม นั่นหมายความว่าความรู้มีราคาแพงและจำกัดอยู่ในวงแคบ จนกระทั่งเมื่อราวปี ค.ศ. 1440 มนุษย์สามารถสร้างแท่นพิมพ์ได้สำเร็จ ความรู้จึงราคาถูกลงและแพร่หลายมากขึ้น วิทยาการต่างๆ จึงมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสามารถสร้างกล้องส่องทางไกล เครื่องจักร โทรศัพท์ ตลอดจนส่งมนุษย์ขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ใช้เวลาถึง 600 ปี กว่าที่วิถีชีวิตมนุษย์จะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
“มีการประมาณการณ์ไว้ว่า ช่วงประมาณปี 2000-2040 โลกจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมืออีกรอบ นั่นหมายความว่า กระบวนการที่เปลี่ยนแปลงสังคมที่เคยใช้เวลาประมาณ 600 ปีในการก่อตัว มันจะถูกย่นลงมาให้เหลือแค่ 30 ปี ราวกับโลกหมุนเร็วขึ้น 20 เท่า ซึ่งตอนนี้เรามาได้ครึ่งทางแล้ว”
เมื่อโลกหมุนด้วยเทคโนโลยีและพลังของการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ สิ่งหนึ่งที่ตามมาคือ ‘อาชีพ’ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เช่นว่า เมื่อโลกมีแท่นพิมพ์ พนักงานคัดลอกหนังสือจึงตกงาน หรือเมื่อเรามีโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต เราจึงไม่จำเป็นต้องจ้างคนคอยขี่ม้าส่งจดหมายอีกต่อไป
นี่คือธรรมชาติของโลกที่กำลังหมุนด้วยเทคโนโลยี ทว่าที่ผ่านมา การศึกษาถูกออกแบบราวกับว่า เด็กคนหนึ่งจะเรียนจบและทำงานเดิมไปตลอดชีวิต
“โจทย์ตั้งแต่ก่อนโควิดคือ เด็กคนหนึ่งหากโชคดี เขาจะตกงาน 3 รอบในช่วงชีวิตของเขา หรือทุก ๆ 10-15 ปี ตกงานนะครับ ไม่ใช่เปลี่ยนงาน”
ในอนาคต 20 ปี เด็กไทยต้องเก่งกว่าพ่อแม่ถึง 2 เท่า
ดร. เกียรติอนันต์ ได้ชวนขบคิดผ่านข้อมูลโครงสร้างประชากรแต่ละจังหวัด โดยเปรียบเทียบระหว่างข้อมูลปี 2019 และ ปี 2039 พบว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น คนวัยทำงานมีจำนวนน้อยลง และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีมีจำนวนน้อยลง
“หากเราอยากจะให้จังหวัดตากในอีก 20 ปีข้างหน้า มีสภาพชีวิต เศรษฐกิจ และกินดีอยู่ดีเหมือนปัจจุบัน หมายความว่า เด็กที่เกิดวันนี้เขาจะต้องเลี้ยงดูคนอีกหนึ่งคนกว่า ๆ เขาจะต้องเก่งขึ้นมากกว่าเรา 2 เท่า แล้วเราจะฝึกเขาผ่านระบบการศึกษาอย่างไรให้เขาเก่งขึ้นเพื่อประคองจังหวัดไปให้ได้”
จากแกนโครงสร้างประชากรรายจังหวัด อาจกล่าวได้ว่า โลกในอีกยี่สิบปีข้างหน้ากำลังเรียกร้องให้เด็กในวันนี้มีความสามารถมากขึ้นสองเท่า ทำงานหนักขึ้นสองเท่าเพื่อแบกรับชุมชนและจังหวัดให้อยู่รอด นั่นหมายความว่า การศึกษาอันเป็นพื้นที่บ่มเพาะศักยภาพของผู้เรียนในวันนี้ ไม่ตอบโจทย์วันข้างหน้าอีกต่อไปแล้ว
มากกว่านั้น World Economic Forum ได้จัดลำดับประเทศที่มีแรงงานฝีมือและพร้อมที่จะเข้าสู่ยุค 4.0 พบว่า ประชากรที่ผลิตจากระบบการศึกษาอย่างประเทศ สิงคโปร์ เยอรมันนี ฟินแลนด์ มีศักยภาพในการผลิตแรงงานที่มีทักษะในสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของประชากร ขณะที่ประเทศไทยสามารถผลิตประชากรที่มีทักษะตอบโจทย์กับยุค 4.0 ได้เพียง 14.4 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ซึ่งในระยะยาว ตัวเลขนี้กำลังนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่และรายได้ รวมถึงการผลักเด็กออกจากจังหวัดหรือชุมชนของตนเพื่อโยกย้ายไปทำงานในพื้นที่ที่เจริญกว่า
ทักษะที่จำเป็นในโลกอนาคต
การสำรวจของ World Economic Forum ก่อนปี 2015 พบว่า ทักษะ 10 ประการที่การศึกษาต้องสร้างเพื่อให้คนประสบความสำเร็จคือ
- การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน (complex problem solving)
- การประสานงานกับผู้อื่น (coordinating with others)
- การบริหารจัดการคน (people management)
- การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking)
- การเจรจาต่อรอง (negotiation)
- การควบคุมคุณภาพ (quality control)
- การบริการ (service orientation)
- การประเมินและตัดสินใจ (judgment and decision making)
- การฟัง (active listening)
- ความคิดสร้างสรรค์ (creativity)
ระบบการศึกษาของประเทศไทยได้นำข้อมูลชุดนี้ออกใช้ในการออกแบบการศึกษานับตั้งแต่ปี 2015 จนถึงปัจจุบัน แต่อีก 5 ปีต่อมา โลกเผชิฐกับโรคระบาด COVID-19 World Economic Forum ได้ทำการสำรวจใหม่อีกครั้ง ก่อนพบว่า บางทักษะที่เคยจำเป็น กำลังจะหายไปถาวรโดย
ทักษะที่จำเป็นในปี 2020 ได้แก่
- Complex problem solving
- Critical thinking
- Creativity
- People management
- Coordinating with others
- Emotional intelligence
- Judgment and decision making
- Service orientation
- Negotiation
- Cognitive flexibility
“สังเกตไหมว่าบางทักษะหายไป Quality control กลายเป็นทักษะที่ไม่สำคัญแล้วเพราะเรามี AI เข้ามาแทนคน Active listening ก็ไม่จำเป็นมากแล้วเพราะเรามีการวิเคราะห์อย่างอื่นเข้ามาใช้แทนได้”
“ถ้าเราสร้างคนโดยใช้ข้อมูลของปี 2015 คน ๆ นี้เข้า ม.1 แต่เรียนจบ ม.6 ออกไป แปลว่าทักษะสองตัวที่ว่า มีประโยชน์น้อยลงหรือกระทั่งไม่มีประโยชน์เลย เรากำลังสร้างคนผิดฝาผิดตัวแทนที่เขาจะประสบความสำเร็จได้ในโลก”
ประเทศไทยบอบช้ำจากการระบาดมายาวนานและยังไม่มีที่ท่าจะสิ้นสุด COVID-19 กลายเป็นสารเร่งการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจโลกและตลาดแรงงาน ด้วยสภาวะเช่นนี้ World Economic Forum จึงได้ทำการสำรวจและคาดการณ์อีกครั้ง พบว่า ชุดข้อมูลจากปี 2015 และปี 2020 นั้น กำลังถูกโรคระบาดโจมตีกระทั่งว่า ทักษะที่เคยสำคัญอาจใช้การไม่ได้อีกแล้ว นั่นหมายความว่า ระบบการศึกษาทั่วโลกจะต้องสร้างสิ่งใหม่ที่เรียกว่า ‘บูรณาการแบบผสม’
นั่นเพราะทักษะที่สำคัญในปี 2025 กำลังเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนี้
- การคิดเชิงวิเคราะห์ และการสร้างนวัตกรรม (analytical thinking and innovation)
- การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม และมีกลยุทธ์การเรียนรู้ (active learning and learning strategies)
- ความสามารถในการแก้ปัญหาซับซ้อน (complex problem-solving)
- การคิดเชิงวิพากษ์และการวิเคราะห์ (critical thinking and analysis)
- ความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นต้นแบบ (creativity, originality and initiative)
- ความเป็นผู้นำ และการมีอิทธิพลต่อสังคม (leadership and social influence)
- ความสามารถในการใช้ ควบคุม ดูแลเทคโนโลยี (technology use, monitoring and control)
- ความสามารถในการออกแบบเทคโนโลยี และเขียนโปรแกรม (technology design and programing)
- การจัดการความเครียด ยืดหยุ่น และรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ (resilience, stress tolerance and flexibility)
- การให้เหตุผล การแก้ปัญหา และการระดมแนวคิด (reasoning, problem-solving and ideation)
ทักษะ 10 ข้อที่เราจำเป็นต้องมีในปี 2025 กลายเป็นโจทย์สำคัญในการเอาตัวรอดหลังวิกฤตโควิด เด็ก ๆ จำเป็นต้องมีดีเอ็นเอของการเรียนรู้แบบใหม่ ซึ่งหากครู โรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานที่จัดการศึกษาปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไม่ทันท่วงที เราทุกคนจึงกำลังกลายเป็นผู้ที่ตกขบวน
“โลกยุคโควิดกำลังเรียกร้องให้มนุษย์ต้องเรียนรู้แบบ active learning ผู้เรียนต้องรู้ตนเองว่า เขาเรียนรู้ได้ดีที่สุดในแบบไหน ซึ่งสิ่งนี้จะโยงสู่รูปแบบของการจัดการศึกษาในพื้นที่ชุมชน ว่าหากเด็ก ๆ ต้องเรียนออนไลน์ด้วยสื่อการเรียนชุดเดียวกันนั้นไม่ใช่ทางที่ดีนัก หากแต่ต้องเป็นสื่อและเทคโนโลนีที่ยืดหยุ่นพอที่จะทำให้เด็กแต่ละคนสามารถเรียนออนไลน์ด้วย learning style ที่เหมาะกับตนเองได้”
อาชีพไหนรุ่ง อาชีพไหนร่วงในอนาคต
‘โตไปจะทำอาชีพอะไร’
ในโลกปัจจุบันและอนาคต คำถามนี้จะไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะข้อค้นพบจากนักวิชาการทั่วโลกกล่าวไปทางเดียวกันที่ว่า
1️⃣ ทุกอาชีพกำลังจะร่วง โลกจะไม่มีอาชีพใดที่ถาวรอีกต่อไป
2️⃣ อย่าจัดการศึกษาโดยเอา ‘อาชีพ’ เป็นตัวตั้ง แต่ต้องจัดารศึกษาเพื่อ ‘ให้เด็กมีงานทำ’ นั่นหมายถึงการสร้างความสามารถในการสร้างอาชีพหรืองานในโลกที่ไม่มีอาชีพที่ถาวร
ดร. เกียรติอนันต์ มองว่า “หากวันนี้เรามีพลังของธานอสและสามารถดีดนิ้วพื่ออันตธานโรคระบาดให้หายไป ถึงอย่างนั้นเศรษฐกิจในประเทศไทยก็ไม่อาจฟื้นตัวได้ง่าย เพราะประเทศไทยบอบช้ำทางเศรษฐกิจมานานหลายปี”
ธนาคารโลกได้เผยข้อมูลและคาดการณ์ประเทศไทยไว้ 2 แนวทาง คือ หนึ่ง – หากประเทศไทยไม่มีการระบาดระลอก 3-4 เราจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ปีกว่าที่เศรษฐกิจจะกลับไปสู่เส้นทางเดิม บ้านเมืองจะฟื้นตัว ประชาชนจะลืมตาอ้าปากได้ดังเดิม
และหากมีการระบาดระลอก 3-5 ประเทศไทยจะต้องใช้เวลา 6-8 ปีจึงจะฟื้นตัว นั่นหมายความว่า การศึกษาของเด็กยุคนี้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ครอบครัวต้องต่อสู้ดิ้นรน ความเครียดเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก การปฏิสัมพันธ์กับผู้คนน้อยลง
คำถามคือ แล้วประเทศไทยจะออกแบบการศึกษาอย่างไรในสภาวะเช่นนี้
“ในทางเศรษฐศาสตร์ เวลาที่เรากำลังเจอวิกฤติขนาดใหญ่ ไม่ว่าที่ใดโลก รัฐไม่อาจรับมือได้ดีเท่าชุมชนที่มีความคล่องตัวมากกว่า” ดร. เกียรติอนันต์ทิ้งท้าย
การศึกษาในโลกอนาคตที่ไม่มีวันเหมือนเดิม
ในการระบาดของโควิดในระลอก 1 และสอง ชุมชนบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา คือหนึ่งในชุมชนที่รอดพ้นจากการระบาด เนื่องจากเป็นชุมชนทำงานด้านภัยพิบัติมาอย่างต่อเนื่องนับจากบทเรียนสึนามิ เรียกได้ว่ามีแผนรับมือและมีคนทำงานในสถานการณ์วิกฤตและฉุกเฉิน
ทว่าในการระบาดครั้งล่าสุด บ้านน้ำเค็มปรากฎผู้ติดเชื้อโควิด 2 คน จากคลัสเตอร์ในอำเภอคุระบุรี ไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทย และนักจัดการภัยพิบัติชุมชนเล่าว่า สิ่งที่หมู่บ้านน้ำเค็มเริ่มปฏิบัติการเมื่อรับทราบข้อมูลผู้ติดเชื้อ คือการจัดวงพูดคุยขนาดย่อม ประกอบด้วยนายกองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิก อบต. ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครภัยพิบัติในชุมชน เพื่อวางแผนการจัดการโรคระบาดอย่างรวดเร็ว
จากการประชุมวางแผนในครั้งนั้นได้ข้อสรุปว่า คนในชุมชนแบ่งเป็น 2 ทีมหลัก ๆ หนึ่ง – เฝ้าระวังป้องกัน สอง – สำรวจความเสี่ยงในชุมชน จากนั้นจึงแบ่งบทบาทของทีมอย่างชัดเจน โดยทีมที่หนึ่งมีหน้าที่ในการตั้งด่านตรวจ เฝ้าระวัง สะกัด คัดกรอง และป้องกันการเคลื่อนย้ายโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง อิงตามข้อมูลจากแผนที่ชุมชน
ทีมที่สอง มีหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ที่ติดเชื้อโควิด โดยการทำแผนที่ทำมือเพื่อตีกรอบพื้นที่และกลุ่มเสี่ยงเพื่อจำกัดการเคลื่อนย้าย จากนั้นจึงทำแผนที่เชิงรุกเพื่อสุ่มตรวจในแต่ละบริเวณ และออกแบบแผนป้องกันและแผนรับมือ
ต่อมา หมู่บ้านน้ำเค็มได้สร้างศูนย์กักตัว 2 ที่คือศูนย์กักตัวแรงงานและโรงแรมชุมชน และได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามอำเภอในทันที ในส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการรับมือโรคระบาด ทีมอาสาสมัครในหมู่บ้านจำนวนราว 100 คน ได้จัดตั้งครัวกลางและเป็นพื้นที่ระดมทรัพยากร สิ่งของจำเป็นเพื่อจัดส่งให้ผู้ที่ต้องกักตัวและผู้ยากไร้ ผลที่ได้คือ จำนวนผู้ติดเชื้อไม่ขยายตัวจากการสกัดความเสี่ยงเป็นเวลา 10 วันนับตั้งแต่ปรากฎผู้ติดเชื้อ และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในที่สุด
ด้านของนักเรียนที่ได้รับผลกระทบทางการศึกษา ไมตรีมองว่า “ผู้บริหารสถานศึกษาหลายแห่งไม่รู้ว่าเด็กของตัวเองมีศักยภาพในการเรียนออนไลน์มากน้อยแค่ไหน ส่วนครูก็ไม่มีเทคนิคที่ทำให้การเรียนออนไลน์มีชีวิตชีวา ผมนั่งดูลูกเรียนออนไลน์ เราก็เห็นว่าครูใช้กระบวนการเดิม พูดไปเรื่อยและเร็ว เด็กตามไม่ทัน” จากการสำรวจปัญหาและวิเคราะห์ข้อมูลของนักเรียนในชุมชน นำมาซึ่งแผนปฏิบัติการดังนี้
1️⃣ สำรวจเด็กขาดโอกาสทางการศึกษาทั้งหมู่บ้าน พบว่า มีนักเรียน 65 คนที่ได้รับผลกระทบด้านการศึกษา
2️⃣ เปิดโครงการ ‘บ้านปันเรียน’ โดยการเปิดรับสมัครบ้านครูอาสาออนไลน์ และจัดกลุ่มเด็ก 3-5 คน กระจายไปเรียนร่วมกันตามบ้านปันเรียน 25 หลังในชุมชน
3️⃣ ระดมทุนและการสนับสนุนจากชุมชนเพื่อนนำมาเป็นค่าน้ำ ขนม ค่าไฟ เพื่อไม่ให้โครงการนี้ไปเพิ่มภาระให้กับผู้ที่รับอาสาเปิด ‘บ้านปันเรียน’ ในสถานการณ์ที่วิกฤตทางเศรษฐกิจกันถ้วนหน้า
“ชุมชนไม่อาจรอให้ส่วนกลางหรือหน่วยงานภายนอกเข้ามาจัดการได้ทันคนในชุมชนจึงต้องเริ่มต้นและช่วยเหลือกันก่อน เนื่องจากกระบวนการรัฐมักดำเนินอย่างล่าช้า หัวใจสำคัญก็คือ หากชุมชนไม่ตระหนักถึงปัญหาและสนทนาหาทางแก้ไขร่วมกัน ชุมชนนั้นจะไม่อาจรับมือตอบโต้กับสถานการณ์ได้ทันท่วงที” ไมตรีทิ้งท้าย
อ้างอิง
- โลกของงานหลังโควิดบนฐานวิถีชีวิตใหม่
- รายงานผลการศึกษาแนวโน้มความต้องการกำลังคนที่ยึดพื้นที่เป็นฐาน (Area-based) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2562)
- https://www.weforum.org/agenda/2020/10/top-10-work-skills-of-tomorrow-how-long-it-takes-to-learn-them/
โครงการก่อการครู: ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้ โดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ก่อการครู ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ