ก่อการครู – Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์

‘มะขามป้อมอาร์ตสเปซ’ ข้ามขอบการศึกษา สู่ความเป็นไปได้ของการเรียนรู้

Reading Time: 3 minutes ความแตกต่าง ความชอบ และลักษณะของเด็กไม่เหมือนกัน คุณเปิดไปเลยอีกร้อยพันโมเดล อยู่ที่ว่าเด็กจะไปเลือกอะไร เหมาะกับจริตแบบไหน จะเรียนกึ่งโรงเรียน ครึ่งหนึ่งออกมาเรียนข้างนอก จะเรียนข้างนอกไปเลย หรือจะเรียนในโรงเรียนอย่างเดียว มันก็ไม่แปลกอะไร Mar 14, 2023 3 min

‘มะขามป้อมอาร์ตสเปซ’ ข้ามขอบการศึกษา สู่ความเป็นไปได้ของการเรียนรู้

Reading Time: 3 minutes

“มนุษย์มีตั้งกี่ล้านคน คุณจะให้เด็กแต่งตัวเหมือนกัน ไปเรียนแบบเดียวกัน มีสายวิทย์ มีสายศิลป์ หรือมีแค่ 4-5 โปรแกรมในระบบโรงเรียนให้เลือกเท่านั้นหรือ ?

“ความแตกต่าง ความชอบ และลักษณะของเด็กไม่เหมือนกัน คุณเปิดไปเลยอีกร้อยพันโมเดล อยู่ที่ว่าเด็กจะไปเลือกอะไร เหมาะกับจริตแบบไหน จะเรียนกึ่งโรงเรียน ครึ่งหนึ่งออกมาเรียนข้างนอก จะเรียนข้างนอกไปเลย หรือจะเรียนในโรงเรียนอย่างเดียว มันก็ไม่แปลกอะไร”

เช่นเดียวกับกระแสน้ำที่มีสายธารหลักในการหล่อเลี้ยงชีวิต และมีลำน้ำแตกแขนงเป็นแม่น้ำสาขา เพื่อหล่อเลี้ยงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในทุกพื้นที่ที่กระแสน้ำไหลผ่าน

แม่น้ำที่แตกแขนงสาขาออกเป็นลำคลอง ห้วย ธารน้ำ ก็เปรียบดั่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนซึ่งพยายามสร้าง ‘ทางเลือก’ สู่ความเป็นไปได้อื่นๆ โดยมิได้ถูกการศึกษากระแสหลักจำกัดกรอบไว้ บนความเชื่อว่า ศักยภาพของมนุษย์สามารถพัฒนาได้ด้วยหลากหลายวิธีการเรียนรู้ หาใช้เพียงการศึกษาแบบดั้งเดิมเท่านั้น

“ใจความสำคัญคือต้องสร้างพื้นที่ให้มีทางเลือกหลากหลาย ยิ่งมากยิ่งดี ถ้าเชื่อเรื่องความแตกต่างและหลากหลายของผู้คน เราก็ต้องมีโมเดลที่ตอบรับกับความไม่เหมือนกันของแต่ละคนให้ได้มากที่สุด”

พฤหัส พหลกุลบุตร เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) และผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านพื้นที่ศิลปะ มะขามป้อมอาร์ตสเปซ บนความเชื่อมั่นที่ว่า ‘การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน’

‘ก๋วย’ พฤหัส พหลกุลบุตร

นอกจากนี้ มะขามป้อมยังเป็นหนึ่งในแหล่งการเรียนรู้ที่พยายามเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา แม้ในความเป็นจริงด้วยความแตกต่างของความเชื่อ ทำให้ความพยายามนั่นยังไม่ประสบความสำเร็จ

“เราออกมาสร้างทางเลือก เราฝันอยากเห็นอะไรก็ทำสิ่งนั้นเลย แต่ยังมีความพยายามที่จะเชื่อมโยงกับในระบบการศึกษา อย่างโครงการก่อการครู เพราะเด็กยังอยู่ในระบบปกติอีกเยอะมาก ถ้าเราพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่ช่วยเด็กเป็นจำนวนมากได้ เราก็ยังมีความพยายามแบบนั้นอยู่”

‘ละคร’ สร้างการเรียนรู้และมุมมองความเข้าใจต่อชีวิต

“ตัวเราเองก็เติบโตจากกระบวนการละครเช่นกัน มันทำให้เราเห็นคุณค่าใหม่ เห็นศักยภาพบางด้านของตัวเอง รวมทั้งมีเลนส์ใหม่ในการมองโลก มองสังคม มองชีวิตต่างไปจากเดิม มะขามป้อมชวนให้เราเห็นแง่มุมตัวเราเองเชื่อมโยงกับสังคม”

ราว 42 ปีก่อน ยุคสมัยที่อำนาจในการสื่อสารอยู่เพียงมือของสื่อแสหลัก อาทิ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ขณะที่ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์สื่อสารประเด็นของตัวเอง กลุ่มมะขามป้อมได้เลือกใช้ละครเร่ เพื่อสื่อสารประเด็นทางสังคม โดยตระเวนแสดงไปทั่วประเทศ ทั้งในหมู่บ้าน โรงเรียน และชนบท พวกเขาเล่นละครเร่ตามคอกวัว คอกควาย บนเขา บนดอย ริมแม่น้ำ ริมทะเล ราวกับ ‘อีกาคาบข่าว’ นำข่าวจากเมืองกรุงไปให้ชาวบ้าน และนำข่าวจากชาวบ้านกลับมาที่เมือง

กระบวนการละคร คือศิลปะการเล่าเรื่องที่รวบรวมศาสตร์หลายแขนงเข้าด้วยกัน ทั้งฉากที่ต้องอาศัยการออกแบบและสร้างสรรค์ การเขียนบทที่ต้องร้อยเรียงเรื่องราวผ่านภาษา การแสดงที่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวของร่างกาย สายตา ทวงท่า และดนตรีที่คลอเคล้าไปกับเรื่องราวเพื่อขับเน้นอารมณ์และความรู้สึก 

สำหรับพฤหัส ละครคือกระบวนการที่สร้างการเรียนรู้ได้โดยธรรมชาติ ทั้งความคิดสร้างสรรค์ (creativity) การคิดวิเคราะห์ (critical thinking) การสื่อสาร (communication) และการทำงานเป็นทีม (collaboration) โดยทีมมะขามป้อมได้ผสมผสาน 3 ศาสตร์ไว้ด้วยกันอย่างลงตัว คือ 

  • หนึ่ง-ศิลปะ การใช้ ‘ละคร’ ที่เป็นการรวมศิลปะหลายแขนง ตั้งแต่การวาด การเขียนบท งานฉาก งานเสื้อผ้า งานแสงสี ไปจนถึงการแสดง
  • สอง-การเรียนรู้ ทั้งมิติด้านในและด้านนอกของมนุษย์ที่จะสร้างการเติบโต เปลี่ยนแปลง
  • สาม-สังคม การมองปรากฏการณ์สังคม เผยให้เห็นมุมมองที่มากขึ้น เช่น ความเหลื่อมล้ำ การกดขี่ เผด็จการ นายทุน สถาบัน ประชาชน ประชาธิปไตย ฯลฯ

ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน บ้างถูกกดดัน บ้างถูกเปรียบเทียบ รวมถึงการผลักมนุษย์ออกจากกันให้เป็นปัจเจกชน ปราศจากชุมชนที่มีความสนใจร่วมกัน ส่งผลให้ยามผู้คนบาดเจ็บทางจิตใจ รู้สึกเหงา รู้สึกหมดไฟในการทำงาน (burnout) ไม่รู้จะหาคุยกับใคร หรือไม่รู้ว่าจะหาทางออกอย่างไร

“เวลามาที่นี่เขาได้เจอคนที่มีความเชื่อเดียวกัน การได้กลับไปอยู่นิ่งๆ การได้กลับไปสัมผัสจิตวิญญาณของตัวเอง การได้เข้าไปสำรวจสภาวะภายในอันบอบช้ำ แตกสลาย มันมีเสียงของความต้องการถูกซ่อมแซมภายในเยอะมาก”

มะขามป้อมไม่เพียงเปิดพื้นที่ของการสร้างสรรค์ แต่พาผู้คนสำรวจชีวิตของตัวเองผ่านกระบวนการละคร ที่เรียกว่า ‘การเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง (transfomative learning)’

“กิจกรรมละครชวนให้เรากลับไปใคร่ครวญตัวเองอย่างลึกซึ้ง อะไรที่เป็นบาดแผลของคุณ อะไรที่คุณเคยทำพลาดพลั้ง อะไรที่เป็นความประทับใจ อะไรเป็นเรื่องที่คุณก้าวข้ามผ่านมาได้ ตรึกตรองกับประสบการณ์เหล่านี้อย่างลึกซึ้งในตัวเอง”

จากนั้นอธิบายออกมาด้วยท่าทางและการเล่าเรื่องให้เพื่อนที่ร่วมเวิร์คช็อปฟัง ก่อนขยายเป็นฉากการแสดง เสมือนแต่ละคนได้เห็นชีวิตของตัวเองจากสิ่งที่เพื่อนหรือตัวเองเล่นออกมา ก่อเป็นแรงกระเพื่อมจากภายนอกสู่ภายใน นี่คือกระบวนการละครที่ค่อยๆ ทำงานกับผู้คน สร้างการเติบโต เปลี่ยนแปลง และเพิ่มมุมมองใหม่ๆ เพื่อให้รู้จักชีวิตมากขึ้น

นอกจากนี้ หากต้องไปแสดงละครเป็นคนอื่น ก็เป็นหนึ่งในการบ้านที่ต้องไปศึกษาหาข้อมูลของใครคนนั้น ตั้งแต่ท่าทาง ทำไมเขาเคลื่อนไหวแบบนี้ ทำไมเขาถึงมีพฤติกรรมรุนแรงกับคนอื่น ไปจนถึงว่าเขาคิดอะไรอยู่

“มันเป็นการที่เรารู้จักตัวละครอย่างลึกซึ้งในเชิงจิตวิทยา แล้วเราต้องไปแสดงเป็นเขาด้วย เราต้องข้ามจากตัวเองไปเป็นผู้อื่น ไปสร้างความเข้าใจแบบนี้ เพราะฉะนั้นการบ้านเหล่านี้ให้มุมมองต่อชีวิตของเรา มุมมองต่อชีวิตคนอื่น หรือมีความเห็นอดเห็นใจ (empathy)

“เราอาจจะเคยมีความขัดแย้งกับบางคน แต่พอเราเอาเหตุการณ์นั้นมาเล่น แล้วเราต้องเล่นเป็นคนที่เราเกลียด มันจะทำให้เรารู้สึกว่า เขามีเหตุผลบางอย่างในสิ่งที่เขาทำ ซึ่งไม่ได้แปลว่ายอมรับได้นะ แต่ทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น อันนี้เป็นศาสตร์ของการเข้าใจตัวเอง แล้วก็เข้าใจมนุษย์”

มากกว่าการละคร คือการลดความเหลื่อมล้ำและคืนความเป็นมนุษย์

กระบวนการละครของมะขามป้อม ไม่ใช่เพียงการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อตัวเอง แต่ยังเป็นเครื่องมือสื่อสารประเด็นทางสังคม นับจากจุดเริ่มต้นการรวมตัวของเหล่านักเคลื่อนไหว ศิลปิน นักกวี นักละคร เดินทางกลับออกจากป่าในปี 2523 และใช้ละครเร่เป็นสื่อกลางในการลดความเหลื่อมล้ำ 

“ถ้ามองละครเป็นสื่อ มันใช้ในการเปล่งเสียง (voice out) ของผู้คน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียง หรือไม่มีสื่ออยู่ในมือ สมัยก่อนกลุ่มชาติพันธุ์โดนลุกลาม เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิที่ทำกิน อยู่ดีๆ ก็มีคนโดนจับไป ถ้าผู้สื่อข่าวไม่ลงไปทำข่าว มันก็ไม่มีพื้นที่ของการสื่อสารประเด็นนี้ขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นเขาต้องส่งเสียงด้วยตัวเขาเอง ก็ใช้ละครสื่อสาร ละครเร่”

หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ‘คำ นายนวล’ หญิงชาวดาราอั้งในหมู่บ้านปางแดงนอก ซึ่งเผชิญกับการถูกคุกคามเรื่องสิทธิที่ทำกิน การถูกจับกุมด้วยข้อหาบุกรุกและทำลายป่า พร้อมกับคนทั้งหมู่บ้าน กระทั่งเกิดเป็นความรู้สึกว่าเธอเป็นแมลงวันตัวหนึ่งที่จะโดนฆ่าตายเมื่อไรก็ได้ กลุ่มละครมะขามป้อมนำกระบวนการละครไปเสริม จนเธอสามารถเล่าเรื่องของตัวเอง และเลือกใช้ละครในการต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ผ่านการแสดงเดี่ยวเรื่อง ‘เพียงเบิ่น’

“การที่ผู้คนไร้สิทธิ์ไร้เสียงเหล่านี้สามารถลุกขึ้นมาส่งเสียงได้ เป็นกระบวนการเสริมพลัง (empower) เป็นกระบวนการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับคนไร้เสียง (voiceless) 

คนที่เป็นเจ้าของเรื่อง ซึ่งเป็นกระบวนการทางประชาธิปไตยที่สำคัญมาก คนที่ถูกกดขี่มาตลอดชีวิตเขารู้สึกว่าตัวเองพูดได้

“หัวใจหรือปรัชญาของมะขามป้อมยังคงเป็นเหมือนเดิม คือเราทำงานส่งเสริมคุณค่าของประชาธิปไตย ความเท่าเทียม การลดความเหลื่อมล้ำ เป็นหัวใจสำคัญขององค์กร โดยรูปแบบของการใช้สื่อปรับเปลี่ยนไปตามคนที่อยู่ในยุคนั้นๆ ”

ภาพจาก Makhampom Art Space

Array