ก่อการครู – Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์ โรงเรียนปล่อยแสง

นักเรียน ครู ผู้ปกครอง นิเวศการเรียนรู้เพื่อโอบอุ้มเด็กให้เติบโต ‘ครูแอน’ โรงเรียนสุจิปุลิ

Reading Time: 3 minutes คุยกับ ‘ครูแอน’ นาฎฤดี จิตรรังสรรค์ จากโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ผู้อำนวยการที่คิดก่อการใหญ่ จับมือคุณครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กพัฒนาตนเองอย่างมีความสุข May 22, 2023 3 min

นักเรียน ครู ผู้ปกครอง นิเวศการเรียนรู้เพื่อโอบอุ้มเด็กให้เติบโต ‘ครูแอน’ โรงเรียนสุจิปุลิ

Reading Time: 3 minutes

กลุ่มผู้ปกครองนั่งรออยู่ที่หน้าเวที เด็กๆ ในชุดผึ้งค่อยๆ เดินเรียงแถวออกมา ร้อง เล่น เต้นตามจังหวะเสียงเพลง ก่อนจะจูงมือ พาคุณพ่อคุณแม่เข้าห้องเรียน เพื่อเล่าถึงสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ตลอดช่วงเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา

นาฎฤดี จิตรรังสรรค์ หรือ “ครูแอน”

นี่คือบรรยากาศวันนำเสนอโครงงานของเด็กชั้นก่อนอนุบาลในโรงเรียนสุจิปุลิ จังหวัดฉะเชิงเทรา โรงเรียนแนวคิดใหม่ของ นาฎฤดี จิตรรังสรรค์ หรือ “ครูแอน” หนึ่งในครูผู้เข้าร่วมโครงการ “โรงเรียนปล่อยแสง” ซึ่งมองว่าการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในห้อง แต่เกิดขึ้นด้วยระบบนิเวศที่รายล้อมตัวเด็กในทุก ๆ มิติ  ผ่านการร่วมด้วยช่วยกันของโรงเรียนและผู้ปกครอง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่จะโอบอุ้มให้เด็กคนหนึ่งเติบโตอย่างงดงาม

“ที่นี่คุณครูกับผู้ปกครองจะเป็นพาร์ตเนอร์ หรือเป็นพันธมิตรกันค่ะ เช่น ในมิติทางด้านร่างกายหรือสุขภาพ ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนจะดูแลร่างกายเด็กร่วมกัน เวลาเด็กอยู่ที่โรงเรียน คุณครูจะดูแลให้เขาได้รับสารอาหารครบห้าหมู่ เวลาเด็กอยู่ที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่คอยดูแลให้เขานอนหลับพักผ่อนเพียงพอ หรือมิติด้านจิตใจ ซึ่งคือการใช้เวลาแห่งคุณภาพร่วมกัน โรงเรียนจะจัดเตรียมหนังสือนิทานให้เด็กเล็กเลือกเล่มที่สนใจยืมกลับบ้านไปวันละ 1 เล่ม การบ้านของผู้ปกครองคือการใช้เวลาร่วมกับลูกๆ อ่านหนังสือให้เขาฟังทุกวัน” 

ครูแอนค่อยๆ เล่าแนวคิดของโรงเรียนที่อยากจะช่วยให้เด็กๆ มีภาวะผู้นำ และพร้อมจะดำรงชีวิตในโลกอนาคตได้อย่างมีความสุข ผ่านการให้เด็กแต่ละคนตั้งจุดมุ่งหมายในใจ ทั้งเป้าหมายทางวิชาการและเป้าหมายส่วนตัว ซึ่งทั้งคุณครู โรงเรียน และผู้ปกครอง จะทำงานร่วมกันเพื่อเป็นพลังสนับสนุนให้เด็กๆ ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

แนวคิดระบบนิเวศการเรียนรู้ของครูแอนเป็นอย่างไร โครงงานของเด็กๆ จะออกมาเป็นแบบไหน มาหาคำตอบผ่านกิจกรรมในวันนำเสนอโปรเจกต์ของโรงเรียนสุจิปุลิไปพร้อมๆ กัน

โรงเรียนแนวคิดใหม่

“โรงเรียนของเราเริ่มก่อตั้งในปี 2562 ค่ะ โดยเรามุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวม และพัฒนาภาวะผู้นำของนักเรียน  ตอนนี้รับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นก่อนอนุบาล หรือ 2 ขวบ ไปจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ก็มีแผนจะดูแลนักเรียนกลุ่มนี้ต่อเนื่องไปจนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย”

ครูแอน ผู้เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโรงเรียนเล่าถึงการพัฒนาภาวะผู้นำของนักเรียน โดยใช้หลักการ the leader in Me ประยุกต์จาก “7 อุปนิสัยของผู้มีประสิทธิผล” เช่น การฝึกที่จะควบคุมตัวเอง รู้จักเลือก และรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองเลือก การฝึกให้รู้จักคิดแบบ ชนะ-ชนะ กับผู้คนรอบข้าง ตลอดจนการฝึกทำงานกับกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย

“เราจะสื่อสารกับผู้ปกครองให้รับทราบถึงแนวทางของโรงเรียนตั้งแต่ก่อนรับเด็กเข้ามา ว่าสิ่งที่โรงเรียนเชื่อ สิ่งที่โรงเรียนจะพัฒนามีอะไรบ้าง เช่น ความเชื่อที่เป็นกรอบความคิดของคุณครูและโรงเรียนว่าเด็กทุกคนสามารถเป็นผู้นำ หรือการให้โอกาสเด็กได้เลือกบทบาท เลือกสิ่งที่เขาสนใจ หรืออยากเรียนรู้ด้วยตนเอง นั่นหมายถึงว่าโรงเรียนและผู้ปกครองต้องร่วมเดินไปในทิศทางเดียวกัน คุยกันตั้งแต่เริ่มต้นว่าผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อการเติบโตของเด็ก”

ครูแอนเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพและความสามารถแตกต่างกัน เราจึงไม่ควรจัดเรียงลำดับเกรดเฉลี่ยนักเรียนว่าใครที่หนึ่ง ใครที่สอง หรือใครเป็นลำดับสุดท้าย 

“เราไม่ควรเอาเด็กเก่งดนตรีไปเทียบกับเด็กเก่งคณิตศาสตร์ แต่เราทำให้เด็กแต่ละคนเกิดความภาคภูมิใจที่มีสิ่งที่ทำได้ดี โรงเรียนจึงต้องช่วยหาสิ่งที่เขาสนใจหรือถนัด โดยเฉพาะสิ่งที่เขาสามารถพัฒนาต่อเป็นอาชีพที่รักและทำได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เขาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข”

โครงงานที่ทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน

“อีกอย่างหนึ่งที่โรงเรียนให้ความสำคัญมากๆ คือการทำ project approach หรือการเรียนรู้แบบโครงงาน”

ครูแอนอธิบายที่มาที่ไปของกิจกรรมวันนำเสนอโครงงานที่เราได้มาร่วมว่า ในทุกเทอมเด็กจะได้เลือกสิ่งที่สนใจทำเป็นโครงงานเดี่ยวหรือกลุ่มไม่เกิน 4 คนในระดับเด็กโต และทำร่วมกันเป็นห้องในระดับเด็กเล็ก 

“อย่างเทอมนี้ เด็กๆ ห้องเตรียมอนุบาลโหวตกันว่าสนใจเรื่องผึ้ง คุณครูประจำชั้นก็จะพูดคุยกับเด็กว่ามีประสบการณ์เดิมกับเรื่องผึ้งอย่างไรบ้าง เด็กๆ อยากรู้อะไรเกี่ยวกับผึ้งบ้าง มาวางแผน ออกแบบเป็นโครงงานการจัดการเรียนรู้เรื่องผึ้งตลอดระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง  เด็กก็จะได้เรียนรู้เรื่องชีวิตผึ้ง การทำสบู่น้ำนมผึ้ง หรืออ่านนิทานเกี่ยวกับผึ้งกันค่ะ”

สำหรับโครงงานของเด็กโต ประเภทของโครงงานก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งคุณครูและผู้ปกครองเองจะเห็นความถนัดหรือความสนใจที่ชัดเจนของเด็กมากขึ้น เช่น บางคนอาจสนใจโครงงานทางวิทยาศาสตร์ บางคนอาจสนใจโครงงานเชิงสังคมและจิตวิทยา ซึ่งในแต่ละเทอมก็จะนำเสนอโครงงานในเชิงนิทรรศการให้ผู้ปกครองได้เห็นว่าตลอดระยะเวลาหนึ่งเทอมที่ผ่านมา เด็กๆ มีพัฒนาการอย่างไรบ้าง

ที่โรงเรียนสุจิปุลิยังตั้งกลุ่มพิเศษขึ้นมาเพื่อทำโครงการพิเศษช่วยส่งเสริมการพัฒนาภาวะผู้นำให้เด็กๆ ตามนโยบายของโรงเรียน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มตัวแทนนักเรียน (Student Lighthouse Team) กลุ่มตัวแทนครู (Teacher Lighthouse Team) และกลุ่มผู้ปกครอง (Parent Lighthouse Team)

“กลุ่มตัวแทนนักเรียนจะนำเสนอโครงการที่เขาสนใจ แล้วกลุ่มครูและผู้ปกครองก็จะคอยช่วยเหลือโครงการนั้น เช่น ตอนนี้เด็กมัธยมฯ มีโครงการหมาจร ซึ่งเริ่มจากการที่เขาอยากทำงานเรื่องขยะในชุมชน เพราะเห็นเศษขยะเกลื่อนกลาดเต็มถนน เราก็พาเขาไปคุยกับคนในชุมชน จนไปพบสาเหตุของปัญหาจริงๆ ว่าไม่ใช่เพราะทิ้งขยะไม่ลงถัง แต่ว่ามีหมาจรไปคุ้ยขยะ เขาเลยเปลี่ยนมาทำโครงการเรื่องหมาจรแทน ซึ่งคงต้องดูต่อไปว่าเด็กๆ จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง”

โครงการพิเศษของเด็กยังมีอีกหลายโครงการ เช่น โครงการระดับมัธยม Bully free zone ซึ่งเป็นเรื่องการลดการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน โครงการ Walking street ให้เด็กทดลองตั้งร้านขายของ ฝึกฝนการเป็นผู้ประกอบการในโรงเรียน หรือโครงการ Lunch Vote ให้เด็กมีส่วนร่วมจัดเมนูอาหารกลางวัน  โครงการในระดับประถม “ขยะหาย” ซึ่งดูแลเรื่องการจัดการขยะ  โครงการ “รับน้องส่งใจ” ให้พี่ประถมฯ ช่วยดูแลน้องอนุบาลเวลาที่น้องๆ มาโรงเรียนตอนเช้า

โครงการเหล่านี้จะนำเสนออย่างต่อเนื่องทุกเดือน และปรึกษาหารือกันระหว่าง 3 กลุ่ม ว่าจะช่วยเหลือหรือสนับสนุนโครงการของนักเรียนอย่างไรได้บ้าง เช่น ในโครงการ “ขยะหาย” โรงเรียนก็จัดธีมงานวันวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องการจัดการขยะ และมีฐานเรียนรู้เรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะพลาสติก หรือโครงการ Bully free zone ซึ่งต้องสอบถามเด็กๆ ทั้งโรงเรียนว่าแต่ละคนเคยโดนกลั่นแกล้งไหม อย่างไรบ้าง ทางกลุ่มผู้ปกครองเองก็เข้ามามีส่วนร่วมประชาสัมพันธ์และสอบถามความคิดเห็นกับผู้ปกครองคนอื่นๆ ว่าเวลาที่ลูกตัวเองถูกกลั่นแกล้ง ผู้ปกครองแต่ละคนมีวิธีการจัดการและรับมืออย่างไรบ้าง 

การออกแบบโครงงานลักษณะนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการคำนึงถึงระบบนิเวศการเรียนรู้ของผู้เรียน เด็กๆ จะได้รับรู้ปัญหาของสังคมที่เขาเป็นส่วนหนึ่งด้วยตนเอง และยังมีส่วนในการพัฒนาชุมชนและสังคมที่พวกเขาอยู่อาศัย ได้ลองเสนอความคิด ลองผิดลองถูกกับโจทย์ของยุคสมัย ทำให้โลกของห้องเรียนกับความเป็นจริงนั้นไม่ได้แยกออกจากกัน

การร่วมมือกันของทั้งคุณครู นักเรียน และผู้ปกครอง คือปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้โครงงานเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง เด็กได้รับประสบการณ์จริง เห็นผลจากการลองผิดถูก ซึ่งเป็นสิ่งที่จะติดตัวเด็กๆ ไปจนเติบใหญ่

นิเวศในโรงเรียนที่เริ่มต้นจากความเข้าใจ 

ครูแอนเล่าว่าช่วงก่อตั้งโรงเรียนใหม่ๆ เธอได้ข่าวว่าทางโครงการ “ก่อการครู” เปิดห้องเรียนพิเศษสำหรับผู้บริหารโรงเรียนที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ซึ่งหลายอย่างสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของทางโรงเรียน เธอจึงสนใจและสมัครเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียน “ครูก่อการใหญ่” ของโครงการฯ ในปีนั้น 

“ตอนแรกกะว่าไปเพื่อฟังบรรยายเฉยๆ แต่ปรากฏว่าจริงๆ แล้วไม่ได้เป็นการฟังบรรยายเลย กิจกรรมในห้องเรียนครูก่อการใหญ่ทำให้เรากลับมาย้อนมองตัวเอง ยอมรับในความเป็นมนุษย์ที่อยู่ภายในของตัวเรา ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ เราจะไม่มีวันเข้าใจคนอื่นเลย ไม่มีวันเข้าใจครูในโรงเรียนเรา คนในองค์กรเรา ถ้าตัวเราเองยังไม่เข้าใจวิธีคิด ความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ชอบที่โครงการทำให้เราเห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในตัวเรา”

นอกเหนือจากพลังใจจากการได้พบเจอครูใหญ่จากทั่วประเทศที่คิดอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงคล้ายๆ กัน สิ่งที่ครูแอนนำกลับมาประยุกต์ใช้ที่โรงเรียนสุจิปุลิ คือเครื่องมือในการสื่อสารและเข้าใจผู้อื่น

ครูแอนเล่าถึงความท้าทายของการทำโรงเรียนสุจิปุลิที่เป็นโรงเรียนแนวคิดใหม่ว่าในความคิดเห็นของแต่ละคนอาจเข้าใจคำว่า “แนวคิดใหม่” ไม่เหมือนกัน จะสื่อสารอย่างไรให้คุณครูและผู้ปกครองเข้าใจหลักการที่โรงเรียนมุ่งพัฒนาต่อไปนั้นคืออะไรกันแน่  และพร้อมจะร่วมออกแบบและขับเคลื่อนระบบนิเวศการเรียนรู้ไปด้วยกัน  การสื่อสารสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างหลักการและวิสัยทัศน์นั้นก็ยิ่งต้องการเครื่องมือที่เหมาะสม ดังนั้นพลังของการสื่อสารจึงสำคัญมากๆ กับสุจิปุลิ

“พยายามคิดถึงคนในองค์กรมากขึ้น ไม่ได้ดูแลแค่ด้านข้อมูลอย่างเดียว แต่เราสื่อสารกันด้วยหัวใจ หลังกลับจากไปเข้าห้องเรียน ‘ครูก่อการใหญ่’ ก็ได้มานั่งคุยกับคุณครู คุยกับผู้ปกครอง คุยกับเด็กๆ เยอะขึ้นมากๆ เลยค่ะ”

ครูแอนเล่าถึงสิ่งที่ได้จากห้องเรียนในครั้งนั้นว่า 

“สิ่งสำคัญของการสื่อสารคือการฟังอย่างเข้าใจ เพราะพอเราเป็นผู้บริหารแล้ว เรามักมุ่งสู่ความสำเร็จ และอาจลืมฟังอย่างตั้งใจ ฟังแบบเข้าใจอีกฝ่ายจริงๆ เข้าใจถึงความรู้สึกนึกคิดของคนที่เราทำงานด้วยจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการพัฒนางานต่อไปตามเป้าหมาย และอยู่ร่วมกับผู้คนอย่างมีความสุข”

“เราอยากให้เด็กแต่ละคนได้พบสิ่งที่สนใจ เจอสิ่งที่รัก เรียนรู้ที่จะทำงานกับผู้อื่น พัฒนาฝีมือไปประกอบอาชีพที่ตนเองถนัดและมีคุณค่า นี่คือเป้าหมายที่โรงเรียนอยากจะพาเด็กทุกคนไปให้ถึง”

ครูแอนทิ้งท้ายว่า โรงเรียนสุจิปุลิอยากให้เด็กมีสมรรถนะในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขในโลกอนาคต ซึ่งโลกอนาคตจะไม่เหมือนกับที่เคยเป็นมา เด็กๆ ต้องเตรียมตัวสำหรับงานที่ยังไม่มีในวันนี้ ใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่เกิดขึ้น ต้องรับมือกับปัญหาที่ยังไม่รู้ว่าคืออะไร การสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่โอบอุ้มเด็กให้เติบโตอย่างเป็นองค์รวมจึงเป็นสิ่งที่โรงเรียนเชื่อมั่น โดยทั้งครูและผู้ปกครองเองก็จะร่วมด้วยช่วยกัน ทำความเชื่อนั้นให้กลายเป็นจริง

Array