Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์ บัวหลวงก่อการครู

พาเด็ก ‘แว้นมอเตอร์ไซค์’ ท่องไปในโลกเวทมนตร์กับ Team Teaching1 min read

Reading Time: 2 minutes กระบวนการทัศน์การศึกษาในศตวรรษนี้ จึงไม่ใช่การที่ครูถือครองความรู้เพียงผู้เดียว แต่เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนและผู้สอนพัฒนาไปพร้อมกัน May 30, 2023 2 min

พาเด็ก ‘แว้นมอเตอร์ไซค์’ ท่องไปในโลกเวทมนตร์กับ Team Teaching1 min read

Reading Time: 2 minutes

เธอต้องเรียนแบบนี้… ต้องสอนจากหนังสือเล่มนี้… ต้องทำสิ่งนี้จึงจะสำเร็จ! 

กระบวนทัศน์ของระบบการศึกษาแบบเดิม มักลิดรอนจินตนาการและความเป็นไปได้อื่น ๆ ในการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งยังสร้างบรรยากาศความกลัวปกคลุมบุคลากรทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นครูหรือผู้บริหาร ความพยายามแหวกว่ายออกจากสภาวะหวาดกลัวและจำยอมของครูจำนวนหนึ่ง ล้วนต้องเจอแรงปะทะจาก ‘ระบบ’ ที่สร้างกรอบและสมาทานความถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว

พิมพ์นารา สิมมะโน หรือ ‘ครูพิมพ์’ จากโรงเรียนชุมชนสามพร้าว จังหวัดอุดรธานี ประสบสถานการณ์อันน่าเวียนหัวจากระบบการศึกษามาไม่น้อย เธอเป็นคุณครูมาแล้ว 12 ปี สะสมบาดแผลกระทั่งหมดไฟในอาชีพหลายต่อหลายครั้ง เช่น ภาระงานในฐานะ ‘ครูพัสดุ’ ที่ต้องหัวหมุนกับกองเอกสารจนต้องจำใจละทิ้งห้องเรียน 

“เราเบื่องานพัสดุ นั่งทำงานหนักมากจนจะเป็นออฟฟิศซินโดรมและไมเกรน เรื่องการเรียนการสอนในระบบยังพอทนได้ แต่งานพัสดุทำให้เราต้องฝากคาบให้ครูคนอื่น หรือสั่งงานเด็กไว้เมื่อมีคำสั่งงานเร่งด่วน จนบางครั้งคิดว่า เรามาเป็นครูทำไม” 

เลยเถิดกว่านั้น ในอดีตครูพิมพ์ถึงขั้นได้รับคำสั่งกลาย ๆ ให้บอกข้อสอบแก่เด็กนักเรียน เพื่อดึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของโรงเรียน 

“เราไม่เคยบอกข้อสอบเด็กเลย เราทำเพียงไปยืนให้กำลังใจเขา ถามไถ่ว่าเป็นยังไงบ้าง หรือซื้อน้ำซื้อขนมให้กินตอนสอบเสร็จ นั่นทำให้เราโดนเขม่นว่าหัวดื้อ ไม่น่ารักในสายตาผู้ใหญ่ ลามไปถึงเรื่องเลื่อนขั้นหรือการขึ้นเงินเดือนในแต่ละปีงบประมาณ”

เวทมนตร์ของความรัก

วันหนึ่ง โรงเรียนชุมชนสามพร้าวพาคุณครูทุกคนเข้าร่วมอบรมในโครงการ ‘บัวหลวงก่อการครู’ เสียงในใจของครูคงอุทานพร้อมกันว่า “อบรมอีกแล้วเหรอ” เพราะจากประสบการณ์เดิมของครูพิมพ์ การอบรมพัฒนาครูโดยหน่วยงานทางการศึกษา ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกจุด หรือกระทั่งสอนเรื่อง active learning โดยให้ครูนั่งเลคเชอร์จนง่วงเหงาหาวนอนไปตามๆ กัน

ทว่าอบรมครั้งนี้ต่างออกไป 

“เราเลือกเข้าวิชาห้องเรียนแห่งรักและห้องเรียนเวทมนตร์ ในใจเราคิดว่าก็คงเป็นเหมือนอบรมที่ผ่านมาล่ะว้า”

‘ห้องเรียนแห่งรัก’ คือวิชาว่าด้วยการสะท้อนตัวตนและสร้างสรรค์พื้นที่ของความสุข เพื่อให้ครูมีเครื่องมือในการดูแลพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน สร้างห้องเรียนที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตและเข้าถึงหัวใจผู้เรียน 

เช่นเครื่องมือที่เรียกว่า ‘Dialogue Happy Classroom’ หรือการสร้างห้องเรียนให้มีชีวิตชีวา ผู้เรียนและผู้สอนมีสัมพันธภาพที่ดีต่อการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ด่วนสรุป หรือด่วนตัดสินคุณค่าใดๆ อนุญาตให้เสียงแท้จริงภายในใจได้ออกมาทำงานร่วมกัน เหล่านี้คือสิ่งสำคัญของการสร้างความตื่นตัวต่อการเรียนรู้ในห้องเรียน

“ห้องเรียนแห่งรัก ทำให้เรากลับมาทบทวนมุมมองที่เรามีต่อการสอน และผู้เรียนของเราสอนให้เราเป็นผู้ฟังมากขึ้น ตั้งใจฟังเด็กมากขึ้น ทำห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็ก ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยคิดไปถึงขนาดนั้นเลย เวลาเราไปสอน เราก็สอนไป บางทีเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเด็กเขาเข้ามาเรียนด้วยความรู้สึกยังไง หรือเขาพร้อมจะเรียนไหม 

“เราเป็นครูจำพวกที่ป้อนความรู้ แต่ไม่เคยรับรู้ความรู้สึกของเขาเลยว่า วันนี้เรียนแล้วชอบไหม รู้สึกอย่างไร เราไม่ได้คิดถึงตรงนั้นเลย นั่นเพราะเราไม่ได้เปิดพื้นที่ให้เขาแสดงความรู้สึกหรือสะท้อนกลับความรู้สึกของตัวเอง”

ถัดมา ครูพิมพ์เลือกเข้า ‘ห้องเรียนเวทมนตร์’ วิชาว่าด้วยการค้นหาอัตลักษณ์และคุณค่าภายในของตนเองในฐานะครู เรียนรู้แก่นแท้ของการจัดกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาความสามารถในการสังเกตสภาวะและการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนและบรรยากาศในห้องเรียน

“มันเป็นห้องเรียนที่สนุกมาก ไม่มีช่วงที่ง่วงเลย แล้วเราก็ได้ไอเดียจากผู้เข้าอบรมด้วยกัน ซึ่งแต่ละคนมีประสบการณ์การสอนไม่เหมือนกัน ห้องเรียนเวทมนตร์พาเราไปค้นหาจุดแข็งของแต่ละคน บางคนพลังงานฐานกายเยอะ บางคนถนัดในการสอนแบบเล่าเรื่อง เราได้ค้นหาจุดแข็งในการสอนของตัวเอง และส่วนที่เรายังขาดอยู่ ได้ลองทำหมดเลย

“มันทำให้รู้สึกว่า ขนาดเรามาทำกิจกรรมในการอบรม เรายังสนุกขนาดนี้ ถ้าเอาไปใช้ในห้องเรียน มันจะสนุกแค่ไหนกันนะ” 

แว้นมอเตอร์ไซค์ไปกับ Team Teaching

โรงเรียนชุมชนสามพร้าว จังหวัดอุดรธานี ตั้งอยู่บริเวณกึ่งเมืองกึ่งชนบท ครอบครัวที่มีฐานะดีมักส่งลูกหลานเข้าไปเรียนในอำเภอเมือง ส่วนครอบครัวที่ไม่ได้มั่งมี หรือต้องหาเช้ากินค่ำในชุมชน มักส่งลูกเข้ามายังโรงเรียนแห่งนี้ เพื่อลดรายจ่ายทางการศึกษาและการเดินทาง 

หลังกลับจากเข้าอบรมโครงการ ‘บัวหลวงก่อการครู’ ครูพิมพ์พกพาความมั่นใจและไฟในการทำงานเต็มเปี่ยม เธอเริ่มนำกิจกรรมและเกมต่างๆ มาเล่นกับนักเรียน เพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย และละลายระยะห่างระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนที่ก่อตัวมาเป็นเวลานาน ครูพิมพ์เริ่มรู้สึกได้ว่า การสวมหัวโขนของความเป็นครู หรือปั้นหน้าเคร่งขรึมเพื่อกำราบความดื้อรั้นอาจไม่จำเป็นเสมอไป 

“ช่วงแรกเราทำคนเดียวก่อน ฝึกมือตัวเองไปก่อน แต่พอเราทำปุ๊บ เด็กเขาเรียนแล้วสนุกขึ้น คุณครูที่เดินผ่านไปผ่านมาก็เห็นว่าห้องเรียนของเรามีบรรยากาศที่ดี เขาก็มีมาแอบฟัง มาถามเราว่าทำยังไงบ้าง”

การแลกเปลี่ยนเครื่องไม้เครื่องมือในการสอนเริ่มก่อตัวในห้องพักครูเล็กๆ นำมาสู่ไอเดียการสร้าง Team Teaching หรือการสอนเป็นทีม เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสได้รับประสบการณ์จากครูผู้สอนที่มีความสามารถและสไตล์การสอนที่หลากหลาย ทั้งยังช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการจัดกลุ่มนักเรียนเพื่อทำการสอนอีกด้วย

Team Teaching ของครูพิมพ์ได้เพื่อนร่วมทีมคนแรกคือ ครูพลอย – กัณฐมณี สภาพพร สอนวิชาศิลปะ ทั้งสองสนิทสนมกันเป็นทุนเดิม และสอนในระดับชั้นเดียวกัน การออกแบบห้องเรียนแรกของทั้งคู่จึงเริ่มต้นขึ้น โดยการเชื่อมโยงความรู้วิชาภาษาไทย วิชาศิลปะ และสอดแทรกความรู้ในการป้องกันอุบัติบนท้องถนนเข้าด้วยกัน ในกิจกรรมที่ชื่อว่า ‘แว้นมอเตอร์ไซค์’

ครูพิมพ์และครูพลอย เริ่มต้นจากการหาชั่วโมงการสอนที่ตรงกัน แล้วนำนักเรียนจากทั้ง 2 ห้อง มาเรียนรู้ร่วมกัน

“เราหยิบสัญลักษณ์จราจรมาออกแบบกิจกรรมแว้นมอเตอร์ไซค์ โดยกำหนดสัญลักษณ์มือเพื่อแทนสีของไฟจราจร จากนั้นค่อยๆ ป้อนคำถามว่า ‘เราต้องทำยังไงหากเจอไฟสีแดง’ เด็กๆ ก็จะตอบพร้อมกันว่าต้อง ‘หยุดรถ’

“เราถามต่อว่า ‘แล้วถ้าเป็นไฟสีเหลือง ต้องทำยังไง’ เด็กบางคนก็บอกว่า ‘รีบบิดเลยครู เร่งเลย’ (หัวเราะ) แล้วเราก็จะสอดแทรกว่าถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ควรขับรถแบบไหน 

“ต่อมาให้เด็กๆ จับคู่ซ้อนมอเตอร์ไซค์ เริ่มจากชวนพวกเขามาขับขี่ปลอดภัย ใส่หมวกกันน็อก ผ่านการทำท่าทาง เกาะเอวเพื่อนคนขับ แล้วครูก็จะให้สัญญาณมือว่า ตอนนี้เป็นไฟแดง เหลือง หรือเขียว 

ผลปรากฏว่า เด็กๆ วิ่งชนกันอุตลุดอย่างสนุกสนาน ครูพิมพ์และครูพลอยจึงค่อยๆ เพิ่มเงื่อนไขว่า ถ้าใครขับรถชนเพื่อน ต้องออกจากเกม 

“เราพบว่าเกมถัดๆ ไป ทุกคนเรียนรู้ที่จะขับขี่ปลอดภัยมากขึ้น ไม่ได้วิ่งชนกันเหมือนเกมแรก พอเล่นไปสักพักเด็กๆ ก็จะเบื่อ เราก็เปลี่ยนจากเกมขี่มอเตอร์ไซค์เป็นขับสามล้อ จับกลุ่ม 3 คน แล้วก็ขยับไปขับรถยนต์ หรือรถสิบล้อ เด็กๆ เขาก็จะสนุก ด้วยความที่เรารวมเด็ก 2 ห้อง มาเรียนด้วยกัน เกมที่จับกลุ่มใหญ่ขึ้นก็ทำให้พวกเขาได้สร้างความสัมพันธ์ข้ามห้องกันด้วย”

ขณะเดียวกัน ครูพลอยก็ได้สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับวรรณะสีผ่านกิจกรรมแว้นมอเตอร์ไซค์ไปด้วย ทั้งคู่วางบทบาทในกิจกรรมชัดเจน เช่น ใครคือคนดำเนินการในช่วงเริ่มกิจกรรม ใครจะรับไม้ต่อ จะเชื่อมโยงองค์ความรู้กันในจุดไหน และสุดท้าย ใครจะขมวดความรู้ตอนท้าย เพื่อความคล่องตัวและลื่นไหลในกิจกรรมนั้นๆ 

“บางวิชาไม่ได้เชื่อมโยงกันเสียทีเดียว เพราะความรู้มันข้ามศาสตร์กันเลย มันจะยากหน่อยในช่วงแรก แต่หากเป็นวิชาที่เชื่อมโยงกันก็ทำได้ไม่ยาก สำคัญคือเราต้องหาจุดเชื่อมโยงของวิชาให้เจอ เพราะเด็กก็ยังไม่คุ้นชิ้นกับการเรียนแบบนี้ ครูก็ยังไม่คุ้นชิ้นกับการสอนแบบนี้ ค่อยๆ ทดลองและพัฒนาการกันไปค่ะ แต่ทุกๆ ครั้งเราต้องให้เด็กสนุกและตื่นตัวในการเรียน”

จินตคณิตแห่งความหลากหลาย ไม่มีใครโง่ในห้องเรียนแห่งนี้

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในเรื่องเล่าของครูพิมพ์ที่สะท้อนให้เห็นความหลากหลายในการเรียนรู้ของผู้เรียน และความคับแคบของรูปแบบการเรียนรู้ในหลักสูตรกระแสหลัก นั่นคือ ครูพิมพ์พบว่า เด็กที่ถูกเรียกว่าเด็กพิเศษ เด็กหลังห้อง หรือเด็กที่เรียนไม่เก่ง แท้จริงแล้ว พวกเขาแค่มีวิธีการเรียนรู้ที่ต่างออกไปเท่านั้น 

“ช่วงโควิด เราต้องสอนเด็กๆ แทบทุกวิชาเลย แล้วเจอปัญหาในวิชาคณิตศาสตร์ คือเด็กบวกเลขไม่คล่อง ไม่ต้องพูดถึงคูณหารเลย เอาแค่บวกลบก็ยังไม่คล่อง เราเลยลองหาวิธีให้เด็กๆ บวกคล่องขึ้น”

วันหนึ่ง ครูพิมพ์ได้เจอลูกของเพื่อนซึ่งเรียนในโรงเรียนเอกชน สามารถใช้จินตคณิตในการคิดเลขได้อย่างรวดเร็ว เธอสนใจในศาสตร์นี้ และควานหาความรู้จาก Youtube ฝึกฝน ออกแบบโจทย์ และนำมาทดลองสอนในคาบเรียนแนะแนว

“เราพบว่า เด็กที่ถูกเรียกว่าเด็กพิเศษ เด็กหลังห้อง หรือเด็กที่ถูกมองว่าเรียนไม่เก่ง เขากลับนับเลขจินตคณิตเก่งมาก แล้วเขากล้าออกมาหน้าห้องเพื่อแข่งกับเด็กเก่ง พอเขาทำได้ เขายิ้มหน้าบานเลย ผู้ปกครองก็มาเล่าให้เราฟังว่า ลูกเขาเอาจินตคณิตไปสอนน้องที่อยู่ ป.2 ได้”

ตัวอย่างเล็กๆ นี้ เป็นหลักฐานหนึ่งที่สะท้อนให้ครูพิมพ์พบว่า ไม่มีเด็กโง่ในโลกแห่งการเรียนรู้ ระบบการศึกษาแบบที่เป็นอยู่ต่างหากที่ควรถูกตั้งคำถาม 

ทั้งหมดที่ครูพิมพ์เล่า เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง เธอเชื่อว่า ระบบการศึกษาของประเทศไทยอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในเร็ววัน ทว่าในห้องเรียนของเธอนั้น เธอทำได้ทันที 

“แรกๆ มันเหนื่อยมากนะ เพราะการสอนแบบ active learning เราไม่ค่อยคุ้นเคย แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มจับจุดได้ ในอนาคตเราไม่รู้หรอกว่ามันจะเป็นอย่างไร แต่เราตั้งเป้าว่า ใน 1 ปีข้างหน้า เด็กของเราจะชอบและสนุกกับการเรียนรู้มากขึ้น สิ่งที่เขาเรียนไปจะอยู่กับเขานานกว่าเดิม หรือเอาไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงได้”

กระบวนการทัศน์การศึกษาในศตวรรษนี้ จึงไม่ใช่การที่ครูถือครองความรู้เพียงผู้เดียว แต่เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนและผู้สอนพัฒนาไปพร้อมกัน ดังนั้น การศึกษาจึงต้องการสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้เกิดการเรียนรู้เช่นนี้ แม้ในความเป็นจริง รากฐานของ ‘ระบบ’ จะยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งแวดล้อมที่ดีในการเรียนรู้ ครูพิมพ์ และครูทุกๆ คนในประเทศนี้ ออกแบบได้  

Your email address will not be published.