Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ ด้านการศึกษา บทความ / บทสัมภาษณ์ บัวหลวงก่อการครู

วิธีหยุดการ Bully สร้างพื้นที่ปลอดภัยด้วย ‘ห้องเรียนแห่งรัก’1 min read

Reading Time: 2 minutes หัวใจสำคัญของพื้นที่ปลอดภัยคือ การช่วยให้นักเรียนรับรู้ว่ามีบุคคลที่สามารถพึ่งพิงได้ ครูโทนี่จึงต้องการที่จะให้นักเรียนได้รู้ว่า เขาเป็นหนึ่งในครูที่ปลอดภัย เด็ก ๆ สามารถเข้ามาพูดคุยด้วยได้เสมอ May 30, 2023 2 min

วิธีหยุดการ Bully สร้างพื้นที่ปลอดภัยด้วย ‘ห้องเรียนแห่งรัก’1 min read

Reading Time: 2 minutes

การกลั่นแกล้งรังแก (Bully) กันในโรงเรียน ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ซุกซ่อนอยู่ในโรงเรียนมานาน แต่สังคมเพิ่งตระหนักและรับรู้เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลกระทบของการกลั่นแกล้งนอกจากจะทำให้เด็กเสียสมาธิในการเรียนแล้ว ยังส่งผลให้เกิดบาดแผลฝังลึกทางกายและทางใจในระยะยาว การจะป้องกันและดูแลให้ทั่วถึงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะครูมีเพียงแค่หนึ่งสมองสองมือ ทว่า ‘ครูโทนี่’ สามารถหาวิธีลดการ Bully ลงได้ผ่านเครื่องมือ ‘ห้องเรียนแห่งรัก’ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะช่วยป้องกันในระยะยาวอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย

“ลึก ๆ แล้วเขาโดน Bully เกือบทั้งโรงเรียน รุ่นน้องก็ด่าเขาว่าเด็กปัญญาอ่อน รุ่นเพื่อนก็จะแกล้งโดยใช้กำลัง”

ครูโทนี่ หรือ สุพรรณ สุขรมย์

อาจารย์ประจำโรงเรียนบ้านน้ำพ่น ตำบลน้ำพ่น อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี มีหน้าที่ประจำคือการสอนหนังสือกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือก็คือวิชาคอมพิวเตอร์ ทว่าปัญหาการ Bully กันระหว่างนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนบ้านน้ำพ่น ทำให้ครูโทนี่ต้องมีตำแหน่งนักสร้าง ‘เซฟโซน’ พ่วงขึ้นมาด้วย โดยค้นพบว่าการใช้เครื่องมือ ‘ห้องเรียนแห่งรัก’ และ ‘วิชาเวทมนตร์’ ที่เรียนรู้มาจากโครงการอบรม ‘บัวหลวงก่อการครู’ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาได้สูงมาก

แม้เทคนิคที่ว่านี้อาจยังมีอุปสรรคท้าทายในบางด้าน แต่ก็ยังมีที่ว่างในการขยับขยายการประยุกต์ใช้เครื่องมือนี้อยู่ การพูดคุยกับครูโทนี่ถึงประสบการณ์การรับมือกับปัญหาการ Bully กันในชั้นเรียนจึงมีความน่าสนใจ โดยถือเป็นก้าวแรกที่ทรงพลังสู่การแก้ปัญหาในห้องเรียน และระบบการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ความกลัว และความไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหาทั้งระบบได้ต่อไป

‘ห้องเรียนแห่งรัก’และ ‘วิชาเวทมนตร์’ วิธีสังเกตปัญหาในชั้นเรียนของครูโทนี่

สภาวะของสิ่งมีชีวิตมีอยู่ด้วยกัน 2 โหมด คือ โหมดปกติ และโหมดปกป้องตัวเอง โดยในโหมดปกตินั้นมนุษย์จะพร้อมสำหรับการสื่อสาร ซ่อมแซม และเรียนรู้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับการเติบโต และเป็นโหมดที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเรียนในชั้นเรียน เพราะเร่งให้ผู้เรียนกล้าที่จะถามตอบกับครู และมีศักยภาพที่จะเปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ 

ขณะที่โหมดปกป้องตัวเองจะมีลักษณะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม เป็นโหมดที่ทำให้เกิดการปิดกั้นการเรียนรู้เพิ่มเติม ไม่กล้าพูดหรือถาม และมีความรู้สึกว่าต้องระแวดระวังตนเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะส่งผลให้กระบวนการเรียนรู้ของเด็กหยุดชะงักลง ดังนั้นครูโทนี่จึงนำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ที่สุดเมื่อพวกเขาปรับเข้าสู่โหมดปกติ

“จะมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่เขายังไม่พร้อมเรียน เขาก็จะนั่งเหมือนหุ่นยนต์ ห้องเรียนเวทมนตร์เปลี่ยนให้ผมเช็กอินเด็กก่อน เมื่อก่อนผมไม่เคยใช้ ตอนนี้ผมใช้เพื่อดูว่าเขารู้สึกอย่างไรบ้าง”

ครูโทนี่ใช้วิธี ‘เช็กอินความรู้สึก’ เพื่อตรวจสอบโหมดของนักเรียนแต่ละคน โดยอาศัยภาพประกอบ พร้อมถามนักเรียนก่อนเริ่มการเรียนการสอนเสมอว่า ขณะนี้มีอารมณ์ตามภาพใด ซึ่งจะมีให้เลือกหลายภาพไล่เลียงตั้งแต่ภาพของการมีความสุขไปจนถึงภาพที่ดูไร้รอยยิ้มและความสดใส ด้วยวิธีนี้จึงทำให้ครูโทนี่สามารถจำแนกเด็กออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือกลุ่มที่พร้อมจะเรียนรู้ และกลุ่มที่ยังไม่พร้อม โดยครูโทนี่จะให้กลุ่มที่ยังไม่พร้อมสำหรับการเรียนหรือกลุ่มที่ยังอยู่ในโหมดปกป้องตัวเอง ไปพักผ่อนจุดใดก็ได้ในห้องเรียนก่อน เพื่อให้พวกเขาได้ปรับโหมดของตนเองกลับมาสู่สภาวะโหมดปกติ แล้วจึงค่อยตัดสินใจกลับมาเรียนพร้อมกันกับเพื่อนภายหลัง วิธีนี้จะทำให้ไม่เกิดการพยายามยัดเยียดข้อมูลเข้าไปให้เด็กในสภาพที่พวกเขายังไม่พร้อม จนอาจจะทำให้พวกเขายิ่งกลัวการเรียนหนังสือ และส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ในระยะยาวต่อไป

“ผมบอกเขาว่า ถ้าไม่พร้อมที่จะเรียน หนูนั่งตรงไหนก็ได้ในห้อง จนกว่ากลุ่มหนูจะพร้อมแล้วค่อยกลับมานั่งเรียนใหม่”

ในระยะแรกครูโทนี่เล่าว่า บางครั้งเด็กอาจไม่พร้อมที่จะเรียนตลอดทั้งคาบเลยก็เป็นได้ และหลายครั้งเด็กจำนวนเกือบครึ่งห้องที่ไปนอนเล่นเฉย ๆ แต่เมื่อเห็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่เขาสนใจก็จะพากันลุกกลับมานั่งเรียนต่อ มีการซักถามวิธีการทำกิจกรรมให้เรียนทันเพื่อน ต่อมาเด็กที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็ค่อยลดจำนวนลงเรื่อย ๆ เพราะเด็กมีความพร้อมในการเรียนมากขึ้น 

วิธีนี้เป็นมากกว่าการแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อให้การเรียนการสอนเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้เรียนเอง แต่ยังทำให้ครูโทนี่สามารถรับรู้สถานการณ์อื่น ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกับนักเรียนแต่ละคนได้อีกด้วย ตัวอย่างสำคัญคือการค้นพบว่านักเรียนที่มักบอกว่าตนเองไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ คือนักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งในชั้นเรียนอย่างหนัก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่เขาเป็นเด็กพิเศษเท่านั้น

“ผ่านไปสักพักหลังจากเช็กอิน ผมเอาสิ่งที่ได้จาก ‘ห้องเรียนแห่งรัก’ มาประยุกต์ใช้ด้วย ผมทำรูปหน้าตัวการ์ตูนที่แสดงความรู้สึกต่าง ๆ เอาไว้ เวลาเด็กมาถึงก็จะไปจับรูปหน้าตัวการ์ตูนที่เขาชอบ บางครั้งก็ไปจับรูปหน้าที่มีน้ำตา เราก็สังเกตดูดี ๆ จนรู้ว่าเด็กเขาโดน Bully”

ห้องเรียนแห่งรักและพื้นที่ปลอดภัย คือความไว้ใจและที่พักพิงของทุกคน

“ตอนแรกผมก็ไม่เข้าไปถามเขานะ เพราะรู้ว่าเขาคงไม่ยอมบอก แต่ผมพยายามทำให้รู้ว่า ที่นี่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา พร้อมเมื่อไหร่ก็เข้ามาได้เลย ห้องนี้เปิดรับเสมอ”

จากสิ่งที่ค้นพบ ทำให้ครูโทนี่รีบหาวิธีการแก้ไขปัญหา เพราะการกลั่นแกล้งกันในชั้นเรียนนอกจากจะส่งผลต่อสมาธิในการเรียนแล้ว ยังอาจก่อความเสียหายได้อีกมาก ซึ่งขนาดของปัญหาก็ไม่ใช่เพียงแค่ในชั้นเรียนเท่านั้น แต่อาจใหญ่ถึงขั้นข้ามระดับชั้น 

“ปัญหาการ Bully ในโรงเรียนนั้นผมว่าใหญ่มาก เช่น การถอดกางเกงตามบันได เพื่อนเห็นก็แกล้งทำเฉย ไม่เข้าไปช่วย เพราะกลัวถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกับเด็กที่โดนแกล้ง” 

ดังนั้น ครูโทนี่จึงต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเล็ก ๆ ในชั้นเรียนของตนเองขึ้นมา หัวใจสำคัญของพื้นที่ปลอดภัยคือ การช่วยให้นักเรียนรับรู้ว่ามีบุคคลที่สามารถพึ่งพิงได้ ครูโทนี่จึงต้องการที่จะให้นักเรียนได้รู้ว่า เขาเป็นหนึ่งในครูที่ปลอดภัย เด็ก ๆ สามารถเข้ามาพูดคุยด้วยได้เสมอ สามารถพึ่งพิงหรือใช้เวลาร่วมกันได้ 

“ตอนแรกผมก็ต้องป้องกันเขาก่อน โดยการแต่งตั้งให้เขาเป็นเจ้าหน้าที่ห้องคอมพิวเตอร์ บอกเขาว่าทุกครั้งที่เธอว่างหรือรู้สึกไม่ปลอดภัยก็เข้ามาทำความสะอาดห้องให้ครูหน่อย คือเอาเขามาอยู่ใกล้เรา”

ในระยะแรก จากการเปิดห้องคอมพิวเตอร์ของครูโทนี่เป็นพื้นที่ให้นักเรียนสามารถมาพักผ่อนยามว่างได้ ก็ค่อย ๆ ขยายผลออกไปเมื่อนักเรียนคนนั้นรับรู้ว่าที่แห่งนี้คือพื้นที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง และเริ่มชักชวนเพื่อนให้มาเล่นที่ห้องนี้มากขึ้น ปัจจุบันห้องคอมพิวเตอร์ของครูโทนี่นอกจากจะเป็นชั้นเรียนแล้วยังเป็นสถานที่พักพิงทางใจสำหรับทุกคนอีกด้วย ซึ่งคำว่า ‘พื้นที่สำหรับทุกคน’ ของครูโทนี่นั้นหมายถึงสำหรับ ‘ทุกคน’ อย่างแท้จริง แม้กระทั่งผู้ที่กลั่นแกล้งคนอื่นก็ตาม

“คนที่ Bully คนอื่น จริง ๆ แล้วไม่ใช่เด็กเกเร แต่เขาอาจจะมีปัญหาครอบครัวหรือต้องการความสนใจ ใครที่อ่อนแอกว่า เขาก็จะแกล้งเพื่อให้คนมอง พอเราให้ความสนใจเขา เขาก็จะลดพฤติกรรมลง ที่ผ่านมาพวกเขาก็จะมาที่ห้องนี้ด้วย แต่จะแอบมา เพราะไม่อยากให้คนอื่นคิดว่าจิตใจเขาอ่อนแอ เขายังรู้สึกว่าตนเองอยู่ห่วงโซ่ข้างบนอยู่”

วิธีการสร้างพื้นที่ปลอดภัยของครูโทนี่เช่นนี้ จึงไม่ได้สร้างเพียงแค่ ‘เซฟโซน’ ให้เด็กหลบภัยเท่านั้น แต่ยังลดปัญหาการกลั่นแกล้งกันระหว่างนักเรียน สร้างความเข้าใจที่ดีต่อการเรียน เล่น และอยู่ร่วมกันระหว่างนักเรียนทั่วไปกับนักเรียนในกลุ่มเด็กพิเศษอีกด้วย

“หลังจากคนที่ Bully คนอื่นได้เข้ามาที่เซฟโซน เขาก็ดีขึ้น เขาได้พูดคุยกับเด็กที่ถูกรังแกมากขึ้น บางครั้งก็นั่งเล่นเกมด้วยกัน ทำให้บรรยากาศเริ่มดีขึ้นมาก”

เด็กพิเศษไม่ใช่ไม่เก่ง ห้องเรียนแห่งรักสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กทุกคนได้

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เขาต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมให้ได้ก่อน ไม่ใช่แค่เขาเรียนคณิตศาสตร์ไม่ทันเพื่อนแล้วจะไปตราหน้าว่าเขาเป็นเด็กสมองช้า แบบนี้ไม่ได้”

ครูโทนี่ตอบเมื่อถูกถามถึงทัศนคติต่อแนวคิดการแยกห้องเรียนระหว่างเด็กทั่วไปกับเด็กพิเศษ สำหรับครูโทนี่แล้ว เขามองว่าเด็กทุกคนควรเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้ และไม่ควรถูกแบ่งด้วยคำว่าเด็กพิเศษ เด็กเก่ง หรือคำแรง ๆ อย่าง ‘เด็กโง่’ แต่แรก ยกตัวอย่างเด็กที่เรียนคณิตศาสตร์เก่ง ซึ่งระบบการศึกษาทุกวันนี้จะมองว่าเด็กคนนี้เก่งกว่าเด็กที่วาดรูปเก่ง 

“ทำไมต้องบอกว่าคนนี้โง่ คนนี้ฉลาด คนนี้เก่ง คนนี้ไม่ทันเพื่อน แล้วไปแยกเขาออกจากกัน ทำไมไม่ให้พวกเขาเรียนรวมกัน แล้วให้เขาเลือกว่าเขาชอบอะไร อยากเรียนอะไร อะไรที่เขาไม่ถนัดเราก็ไม่ต้องไปฝืนมากนัก”

ดังนั้นเมื่อนักเรียนไม่ได้ถูกจำแนกว่าเป็นเด็กเก่งหรือไม่เก่ง ห้องเรียนก็จะไม่เกิดการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ของเด็กทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่พร้อมเรียนรู้หรือเด็กที่ยังไม่พร้อมเรียนรู้ก็ตาม ซึ่งก็สามารถแก้ไขได้ตามที่ครูโทนี่กำลังทำ

“การทำห้องเรียนแบบนี้ได้ผลมากกว่าห้องเรียนแบบเก่า ผมใช้ใจซื้อใจเขา ทำให้เขารู้ว่าเราไม่ได้ดุด่า ทำไม่ได้ก็หยุดพักก่อน เดี๋ยวครูจะค่อย ๆ อธิบาย ถ้ายังไม่พร้อมก็ไปหาที่นั่งก่อน ง่วงก็ให้นอน ซึ่งถ้าวัดตามหลักสูตรจริง ๆ คือเรียนไม่ทันอยู่แล้ว แต่ในเชิงการเรียนรู้ของเด็กคือดีขึ้นจริง ๆ” 

ขณะเดียวกันเด็กพิเศษก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เก่ง แต่ครูโทนี่เชื่อว่าพวกเขามีศักยภาพเป็นของตัวเองทุกคน สิ่งที่ครูโทนี่กำลังคิดจะเริ่มทำต่อไปคือการส่งเสริมให้นักเรียนเหล่านี้ไปแข่งขันงานประกวดศิลปหัตถกรรม และการประกวดแข่งขันหุ่นยนต์ โดยเข้าร่วมการแข่งขันในรูปแบบเด็กปกติ เพื่อให้พวกเขามีความภาคภูมิใจในตนเอง รวมถึงทำให้เพื่อนนักเรียน คนในโรงเรียน และคนนอกโรงเรียน มองเห็นศักยภาพและยอมรับพวกเขามากยิ่งขึ้น

ดังนั้นการให้ความรักความเข้าใจในชั้นเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งในแง่การพัฒนาศักยภาพ และการลดความรุนแรงหรือการเลือกปฏิบัติในชั้นเรียน

“บางครั้งเขาอาจจะเก่งอย่างอื่นก็ได้ ถ้าเราให้เกียรติ ให้ความรัก ให้ความเชื่อมั่นในเด็กพิเศษเหล่านี้ พวกเขาก็พร้อมจะทุ่มเทมากขึ้น จริง ๆ อาจจะเป็นเด็กทุกคนก็ได้ ไม่ใช่แค่เด็กพิเศษ ถ้าเราเชื่อใจเขาและให้เขาเชื่อใจตอบกลับมาแบบนี้” 

การสร้างการเรียนรู้ยุคใหม่ ครูต้องฟังเสียงหัวใจของนักเรียน

“เด็กผู้ชายที่เข้ามาหาเรายังไม่มีปัญหาเท่าไร แต่ถ้าเป็นกรณีของเด็กผู้หญิง แล้วเราเป็นครูผู้ชาย ตรงนี้แหละครับคือข้อจำกัดของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยตอนนี้ อาจจะไม่เป็นเซฟโซนสำหรับเด็กแล้ว เพราะคนข้างนอกอาจมองได้ว่าไม่เหมาะสม” 

ข้อจำกัดสำคัญของเครื่องมือห้องเรียนแห่งรักที่ครูโทนี่ค้นพบ คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคนอาจไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่นัก เนื่องจากบริบทด้านเพศระหว่างครูกับนักเรียนเป็นสิ่งสำคัญ นักเรียนกับครูที่เป็นเพศตรงข้ามกันย่อมไม่ควรที่จะอยู่ด้วยกันสองต่อสองในห้องปิด จึงทำให้การสร้างพื้นที่เช่นเดียวกันนี้ให้กับนักเรียนหญิงยังทำได้ยาก

“ตอนนี้ก็กำลังหาวิธีแก้ ห้องนี้อาจต้องมีครู 2 คน คือครูผู้หญิงกับครูผู้ชาย แต่ก็ลำบากอยู่ดี เพราะเป็นห้องปิดมิดชิดอยู่ ยังมีข้อจำกัดเรื่องเพศกับความเหมาะสม ซึ่งเราก็ต้องหาวิธีพัฒนาต่อไป”

ทางออกทางหนึ่งที่ครูโทนี่และครูท่านอื่น ๆ กำลังร่วมกันคิด คือการให้หนึ่งห้องหรือหนึ่งเซฟโซนมีครูผู้ชายและครูผู้หญิง เพื่อดูแลและเป็นพื้นที่ให้ทั้งนักเรียนชาย หญิง หรือนักเรียนเพศอื่น ๆ ทว่าก็ยังคงมีอีกปัญหาหนึ่งที่ครูโทนี่กังวลอยู่คือ ทั้งครูชายและครูหญิงที่อยู่ด้วยกันสองต่อสองในห้องปิดก็อาจจะไม่เหมาะสมด้วยเช่นกัน และอาจทำให้แนวทางนี้มีปัญหาในระยะยาวเมื่อนำไปปรับใช้ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันคิดให้มากยิ่งขึ้น 

“พอเราเอาเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ พอเขาพร้อมที่จะเรียน แม้มาทีหลังเพื่อนเกือบท้ายคาบ แต่เขาก็จะทำเสร็จก่อนเพื่อนเลย ถึงแม้คนอื่นจะบอกว่าคนนี้เป็นเด็กพิเศษ เพียงแต่ที่ผ่านมาเราอาจยังไม่เจอวิธีการเข้าหาเขา ซึ่งเด็กบางคนเราอาจจะหาไม่เจอตลอดชีวิตก็ได้นะ เราก็ต้องหากันไปเรื่อย ๆ”

จากสิ่งที่ครูโทนี่กล่าวข้างต้นจึงหมายความว่า หากยังใช้การเรียนการสอนแบบเดิมที่ไม่เคยทำความเข้าใจกับเด็กและไม่ให้เวลากับเด็กเลย ก็แทบจะเป็นการปิดประตูโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของเด็กหลายคน เนื่องจากความไม่พยายามเข้าใจเด็กก็จะทำให้เด็กเข้าสู่โหมดปกป้องตนเอง ซ้ำด้วยความรู้สึกว่าตนเองไม่เหมือนคนอื่น กลัวการผิดพลาด ทำให้ความรุนแรงในห้องเรียนยิ่งเลวร้ายลงไปกว่าเดิม ทัั้ง ๆ ที่หากปรับการเรียนการสอนให้อยู่บนฐานของความรักและความเข้าใจมากขึ้น พวกเขาก็มีศักยภาพที่จะเรียนได้เหมือนเด็กคนอื่น

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า การสร้างพื้นที่ปลอดภัยและการไม่ฝืนบังคับให้เด็กเกิดการเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการศึกษา เพราะการศึกษาในอนาคตที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ห้องเรียนแห่งรักจะทำให้ครูและบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องเข้าหานักเรียนมากยิ่งขึ้น การทำให้นักเรียนเปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้ รวมถึงการลดอุปสรรคในการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน คือกุญแจสำคัญของการศึกษายุคที่กำลังจะมาถึง

“ผู้บริหารตอบรับแนวทางนี้ดีมาก เขาเข้าใจว่าทำไมผมต้องสอนแบบนี้ ถ้าเป็นเมื่อก่อน เวลา ผอ. เดินมาเจอเด็กนอนบ้าง เล่นมือถือบ้าง ก็คงดุด่าแล้วว่าทำไมไม่นั่งจ้องกระดาน ทำไมไม่นั่งตัวตรง ตอนนี้เขารู้ว่าผมไปอบรมอะไรมา แล้วเขาก็ไปเหมือนกัน พอเจอเหตุการณ์แบบนี้เขาก็จะถามแค่ว่า ทำกระบวนการเรียนรู้อยู่เหรอ แค่นั้น”

การผลักดันแนวทางการจัดการห้องเรียนของครูโทนี่ได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากผู้อำนวยการโรงเรียน เพราะผู้อำนวยการเองก็ได้เข้าร่วมการอบรมในโครงการบัวหลวงก่อการครูเช่นเดียวกัน จึงให้ความสนับสนุนการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยมีครูเป็น ‘Change Agent’ ในระบบการศึกษา อย่างไรก็ตาม ครูโทนี่ระบุว่า ผู้ปกครองหลายครอบครัวยังไม่ชินกับการศึกษาแนวนี้นัก และมักท้วงติงมาที่โรงเรียนบ่อย ๆ ว่าทำไมครูโทนี่ไม่ให้การบ้านให้เรียนกลับไปทำ

“ตอนนี้มีความคิดว่าจะเอาชุมชนเข้ามาเป็นฐานการเรียนรู้อีกหนึ่งฐาน เราคุยกันในระดับโรงเรียน กรรมการสถานศึกษา ปราชญ์ชาวบ้านเรียบร้อยแล้วว่า พวกเราจะสร้างแหล่งเรียนรู้อาชีพในชุมชน”

การนำห้องเรียนแห่งรักมาปรับใช้ ทำให้ครูโทนี่เชื่อมั่นในความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น ทั้งการยุติปัญหาการกลั่นแกล้งกันในชั้นเรียน การลดกำแพงที่แบ่งแยกเด็กทั่วไปกับเด็กพิเศษลง แม้อาจจะยังแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ทั้งหมดไม่ได้ แต่การก้าวไปข้างหน้าเสมอยังเป็นทิศทางที่ครูโทนี่ โรงเรียนบ้านน้ำพ่น และชุมชนตำบลน้ำพ่น กำลังก้าวไปอย่างมั่นคงและแข็งแรง

Your email address will not be published.