รู้จัก 6 สื่อดิจิทัล ในโลกแห่งการเรียนรู้ยุคใหม่
Reading Time: 2 minutesท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสื่ออย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอนมากขึ้น หนึ่งในสิ่งที่ผู้สอนสามารถนำมาปรับใช้กับห้องเรียนของตัวเองได้ คือ ‘สื่อดิจิทัล’ ที่จะช่วยบันทึกผลข้อมูลการเรียนรู้ รวมทั้งเป็นตัวช่วยในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน
‘อาจารย์ขวัญ’ ผศ. ดร.ธิดา ทับพันธุ์ และ ‘อาจารย์อ๋อม’ ผศ. ดร.อัครา เมธาสุข ชวนทำความรู้จัก 6 สื่อดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้อย่างเหมาะสมและตรงตามความต้องการของผู้เรียน ดังนี้
1. คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction: CAI)
นี่คือกระบวนการเรียนการสอนที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อกลาง นำเสนอเนื้อหา ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียงบรรยาย หรือเกมเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งสามารถเลือกใช้ตามวัตถุประสงค์ได้อย่างหลากหลาย เช่น การสอน การทบทวนบทเรียน การวัดผลการเรียนรู้ เป็นต้น
จุดเด่นของสื่อดิจิทัลชนิดนี้ คือการตอบสนองตามความแตกต่างทางการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน สร้างพื้นที่การเรียนรู้ตามระดับการเรียนรู้ และทบทวนความรู้ได้ตรงตามกลุ่มผู้เรียน
สำหรับการสร้างสื่อดิจิทัลประเภทนี้สามารถกำหนดหัวข้อการเรียนรู้ จุดประสงค์การเรียน สารบัญ เนื้อหา และภาพเคลื่อนไหว โดยกำหนดการควบคุมด้วยปุ่มต่าง ๆ เพื่อให้การเรียนรู้มีความหลากหลาย และแสดงผลการเรียนรู้ให้ทราบทันที
2. Web Application
เทคโนโลยีเว็บแอปพลิเคชัน (Web Application) เป็นการใช้โปรแกรมประเภทบราวเซอร์ (Brower) เช่น Firefox, Google Chrome ที่ติดตั้งมากับอุปกรณ์ โดยไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติม แต่จำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อใช้งาน
สื่อดิจิทัลชนิดนี้สามารถใช้งานได้ในทุกอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน ตอบสนองต่อการใช้งานได้ทันที และลดข้อจำกัดเรื่องสถานที่ในการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนสามารถฝึกปฏิบัติการและทบทวนบทเรียนตามความต้องการได้อย่างอิสระ
หนึ่งในสื่อดิจิทัลที่ได้รับความนิยม คือ Google Apps for Education ชุดเครื่องมือที่เปิดพื้นที่ให้ผู้สอนและผู้เรียนสื่อสาร ทำงาน และเรียนรู้ร่วมกัน เช่น Docs, Drive, Classroom, Chat เป็นต้น
3. Augmented Reality (AR)
เทคโนโลยีโลกเสมือน (Augmented Reality: AR) เป็นสื่อดิจิทัลที่นำเสนอภาพ เสียง หรือวิดีโอ ซึ่งนิยมใช้กับเนื้อหาการเรียนรู้เพื่อแสดงให้เห็นรูปธรรมชัดเจน เช่น การทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย การโคจรของดาวเคราะห์ เป็นต้น รวมถึงสามารถเสริมการเรียนการสอนให้มีมิติและอรรถรสมากขึ้นได้ อย่างเช่นการใส่เสียงในวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ
พื้นฐานการทำ AR สามารถเริ่มจากเว็บไซต์ Vidinoti แอปพลิเคชัน V-Player หรือโปรแกรม Zapp ที่ใช้งานง่ายและไม่มีความซับซ้อนมากนัก ด้วย 3 ขั้นตอน
- การสร้างหรือระบุตำแหน่ง (Maker) สำหรับสแกน
- การเลือกสิ่งที่ต้องการให้แสดงในตำแหน่งที่ระบุไว้
- การกดเผยแพร่
ทั้งนี้ การทำงานของ AR จะมาควบคู่กับการระบุตำแหน่ง เมื่อสแกนตำแหน่งที่ระบุไว้ก็จะปรากฏข้อมูลตามที่ต้องใช้ในการเรียนการสอน
4. Animation
แอนิเมชัน (Animation) คือการนำภาพนิ่งหลายภาพมาเรียงต่อกันให้เป็นภาพเคลื่อนไหว ซึ่งสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนขณะรับชมได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบการจดจ่อการเรียนการสอนของผู้เรียน หรือการทบทวนความเข้าใจเนื้อหาบทเรียน
สำหรับการสร้างแอนิเมชันสามารถทำได้ผ่านหลายโปรแกรม เช่น Animaker ที่มีรูปแบบ (Template) สำเร็จรูปของพื้นหลัง สามารถสร้างตัวละครได้ รวมถึงการเพิ่ม-ลดฉาก เสียง หรือองค์ประกอบอื่นๆ ได้ตามความต้องการ พร้อมดูตัวอย่างการแสดงแอนิเมชันที่สร้างขึ้นและปรับแก้ไขได้ตลอดเวลาก่อนที่จะเผยแพร่งาน
โปรแกรม Animaker เหมาะกับการเรียนการสอนเนื้อหาที่มีลักษณะเป็นขั้นตอน เพื่อแสดงรายละเอียดแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนมากขึ้น และอาจเสริมด้วยคำถาม (Pop Quiz) ระหว่างการดูแอนิเมชัน เพื่อทดสอบความเข้าใจของผู้เรียนได้อีกด้วย
อีกหนึ่งโปรแกรมที่แนะนำคือ H5P ซึ่งเป็นวิดีโอที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ (Interactive) กับผู้ชมได้ ผ่านการนำไฟล์วิดีโอทั่วไปหรือไฟล์สกุล .mp4 ที่สร้างจาก Animaker มารวมเป็นแอนิเมชันเดียวกันได้
5. Mobile Application
Mobile Application เป็นสื่อดิจิทัลคล้ายกับ Web Application แต่การใช้งานจำเป็นต้องใส่ข้อมูลหรือเนื้อหาที่ต้องการใช้ในการเรียนการสอนลงในระบบของแอปพลิเคชันโดยตรง และผู้ใช้งานต้องติดตั้งแอปพลิเคชันลงในอุปกรณ์ ผ่าน App Store หรือ Play Store
สิ่งสำคัญหากเลือกใช้ Mobile Application คือ การพิจารณาความพร้อมของผู้เรียนว่า พวกเขามีอุปกรณ์รองรับหรือไม่ เพราะข้อได้เปรียบของสื่อชนิดนี้เป็นการตอบสนองต่อพฤติกรรมเด็ก ๆ ในปัจจุบัน และเมื่อติดตั้งแอปพลิเคชันแล้วก็สามารถกลับไปทบทวนบทเรียนที่บ้านหรือนอกเวลาเรียนได้เช่นกัน
6. Explainer Video
วิดีโอที่มีผู้อธิบายข้อมูล (Explainer Video) คล้ายกับสารคดีหรือรายการโทรทัศน์ เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ผสมผสานความรู้กับความบันเทิง ผ่านการใช้สัญลักษณ์ (Icon) การแสดงข้อความสำคัญ หรือใช้ภาพประกอบระหว่างการบรรยายเนื้อหาบทเรียน
ความพิเศษของสื่อประเภทนี้ คือ ผู้สอนสามารถเชื่อมโยงบทเรียนกับความเป็นท้องถิ่น อัตลักษณ์ หรือสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันตามบริบทของพื้นที่ตัวเอง เพื่อสร้างความแตกต่างจากวิดีโอทั่วไป และทำให้ผู้เรียนรู้จักและเข้าใจท้องถิ่นของตัวเองมากขึ้น
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างสื่อเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งผู้สอนสามารถเลือกใช้ได้อย่างหลากหลายตามความต้องการของผู้เรียน
ที่มา
- สรุปองค์ความรู้และกิจกรรม หัวข้อ การอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘การผลิตสื่อเพื่อการเรียนรู้’ โครงการบัวหลวงก่อการครู พัฒนานิเวศการเรียนรู้ วันที่ 25-26 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี
- จรัส พงเจริญ. (2560). ผลการเรียนรู้ด้วยเว็บแอปพลิเคชันการศึกษาโดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาเพื่อส่งเสริมความสามารถในการเขียนโปรแกรมบนเว็บของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5. สาขาเทคโนโลยีการศึกษา ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.