เมื่อประเมินกันที่ข้อสอบ เด็กชายขอบจึงต้องอยู่รอบนอกตลอดไป?
Reading Time: 2 minutesเมื่อประเมินกันที่ข้อสอบ
เด็กชายขอบจึงต้องอยู่รอบนอกตลอดไป?
ประเด็นเรื่องคุณภาพของการศึกษาไทยคือเรื่องที่สังคมต้องนำกลับมาถกกันใหม่เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะเมื่อใกล้ช่วงเวลาของการสอบใหญ่ระดับชาติ การสอบวัดผลในหลายสนามทั้งใหญ่และเล็กต่างบ่งชี้ให้เห็นถึงอนาคตที่เป็นไปได้ยากขึ้นสำหรับการเรียนต่อในระดับสูงเนื่องจากคะแนนกลายเป็นสิ่งสำคัญ การเรียนพิเศษนอกห้องเรียนไปจนถึงเรียนล่วงหน้าจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับครอบครัวที่มีฐานะ อย่างไรก็ตามประเทศไทยนั้นไม่ใช่ทุกครอบครัวจะสามารถเข้าถึงสถาบันเรียนพิเศษในปัจจุบันได้ทุกครอบครัวโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ห่างไกลเมืองใหญ่ที่อุดมไปด้วยแหล่งกวดวิชา
หากอ้างอิงข้อมูลการเติบโตของสถานศึกษากวดวิชาในระบบอย่างเป็นทางการตามข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนจะพบว่ามีสถานศึกษากวดวิชาในปี 2556 จำนวน 2,342 แห่ง ขณะที่ในปี 2562 มีจำนวน 2,652 แห่ง ซึ่งมีเขตพื้นที่กรุงเทพมีอัตรากระจุกตัวเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ก็มีจำนวนที่เป็นทางการของสถาบันกวดวิชาค่อนข้างสูงไม่ทิ้งห่างกันนัก เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีจำนวนสถาบันกวดวิชาอยู่ถึง 326 แห่ง และยังไม่นับตัวเลขของสถาบันกวดวิชาที่ไม่เป็นทางการอีกจำนวนมาก
จำนวนของสถาบันกวดวิชาที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้คงไม่น่าเป็นห่วงเท่าใดนัก หากตลาดการศึกษาที่แข่งขันกันสูงเช่นนี้ไม่ทำให้ราคาหลักสูตรของแต่ละสถาบันสูงขึ้นจนทำให้ครอบครัวชนชั้นกลางระดับบนเข้าถึง ‘ตั๋วอนาคต’ ทางการศึกษาให้แก่บุตรหลานตนได้มากกว่าครอบครัวอื่น สาเหตุสำคัญของตลาดการศึกษาที่เน้นการวัดผลจากการท่องจำเนื้อหาในหลักสูตรจึงกลายเป็นหนึ่งในเรื่องที่ค้างคาและสร้างปัญหาในระบบการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน
เมื่อประเมินด้วยความจำ จ่ายมากจึงได้เรียนมากขณะที่จ่ายน้อยจึงสอบตก
การวัดผลและการประเมินผลนั้นเป็นสองส่วนที่แยกออกจากกันแต่ขณะเดียวกันก็ต้องใช้ควบคู่กันไป โดยการวัดผลคือการใช้กระบวนการใดบางกระบวนการหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเบื้องต้น ขณะที่การประเมินผลคือการนำสิ่งที่ได้จากการวัดผลมาวินิจฉัยว่า ‘ดี เลว ผ่าน ไม่ผ่าน’ ต่อไป ซึ่งภายในบริบทของการศึกษาไทยนั้น หลักสูตรกลายเป็นศูนย์กลางในการประเมินผลการศึกษา การศึกษาของเยาวชนไทยจึงกลายเป็นว่าจะ ‘สามารถท่องจำหลักสูตรไปสอบได้มากแค่ไหน’ มากกว่าการ ‘ได้เรียนรู้จากหลักสูตรมากแค่ไหน’ ไปเสีย
การวัดและประเมินผลทางการศึกษาในระดับประเทศเพื่อคัดสรรบุคคลสำหรับการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยนั้นจึงทำให้นักเรียนที่ท่องจำหลักสูตรได้เยอะหรือแม่นกว่าย่อมได้เปรียบในการเข้าถึงมหาวิทยาลัย ซึ่งยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจกวดวิชาเริ่มเฟื่องฟูจากการนำเนื้อหาที่ใช้ในห้องสอบแต่อาจจะหายากในห้องเรียนมาขายเป็นหลักสูตร ยกตัวอย่างเช่นวิชา GAT เชื่อมโยงนั้นไม่ได้มีสอนโดยเฉพาะในห้องเรียน แต่ขณะเดียวกันหลายวิชาใน PAT ที่อาจจะมีสอนในหลักสูตรเฉพาะบางหลักสูตรอย่างแผนการเรียนของสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ หรือสายศิลป์-ภาษาเท่านั้นจะบีบให้นักเรียนต้องพยายามซื้อคอร์สเรียนกวดวิชาเพิ่มเติมเพื่อให้มีโอกาสได้เตรียมตัวสิ่งเหล่านี้ก่อนสอบจริง ซึ่งแน่นอนว่าครอบครัวที่มีกำลังทรัพย์เพียงพอย่อมสามารถจัดหาให้บุตรหลานตนเองได้ในขณะที่อีกหลายครอบครัวจะสูญเสียโอกาสตรงนี้ไปอย่างสิ้นเชิง
การศึกษาไทยที่ใช้ระบบกวดวิชามาขนานคู่กับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย นักวิชาการด้านการศึกษาอย่าง อรรถพล อนันตวรสกุล ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวไว้ว่า “การศึกษามันก็ไม่ตรงไปตรงมา เพราะมันไม่ได้ผลจากการสอนของครู มันมาจากการติว เพราะฉะนั้นมันกลายเป็น Teach For Test มันไม่ได้เป็นการ Teach เพื่อพัฒนาผู้เรียนจริงๆ มันกลายเป็นแค่ช่วยทำให้เด็กทำข้อสอบได้”
ราคาของหลักสูตรโรงเรียนกวดวิชาโดยเฉพาะคอร์สเพื่อการเข้ามหาวิทยาลัยนั้นจึงกลายเป็น ‘สินค้า’ ที่มีมูลค่าสูงขึ้นมาก โดยหากอ้างอิงตามข้อมูลการสำรวจราคาคอร์สเรียนเพื่อการเข้ามหาวิทยาลัยโดยสำนักข่าว Thai Publica จะพบว่าคอร์สสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของสถาบันดาวองส์จำนวน 1 วิชาราคา 4,900 บาท สถาบันเดอะติวเตอร์ 14 วิชา รวมราคาทั้งสิ้น 48,700 บาท สถาบันเดอะเบรน 51 วิชา รวมทั้งสิ้นราคา 145,500 บาท สถาบันแอพพลายฟิสิกส์ 5 วิชา รวมราคาทั้งสิ้น 30,800 บาท สถาบันครูสมศรี 8 วิชา รวมราคา 25,500 บาท สถาบัน JIA 111 วิชา รวมทั้งสิ้น 428,890 บาท สถาบันวรรณสรณ์ 2 วิชา รวมทั้งสิ้นราคา 17,900 บาท และคอร์สของสถาบันเอนคอนเสปต์ที่มีแยกออกไปอีกระหว่างรูปแบบปกติและผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนตัวซึ่งมีราคาแตกต่างกันออกไป
แน่นอนว่านักเรียนไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนทุกคอร์สของทุกสถาบัน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ามีครอบครัวของนักเรียนบางส่วนที่สามารถจะจ่ายราคาคอร์สเรียนเหล่านี้ในหลายสถาบันกวดวิชาให้แก่บุตรหลานของตนเองได้ ประกอบกับรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนต่อเดือนในปี 2562 ยังแสดงให้เห็นได้ว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่ ‘แพง’ และยากมากที่คนหมู่มากจะเข้าถึง โดยภาคกลางมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 27,052.54 บาท ภาคใต้เฉลี่ยอยู่ที่ 25,128.95 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลี่ยอยู่ที่ 20,378.77 บาท และภาคเหนือ 19,974.02 บาท ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าแม้แต่ภาคที่มีรายได้ครอบครัวต่อเดือนเฉลี่ยสูงสุดอย่างภาคกลางนั้น ยังมีสัดส่วนที่สูสีมากกับราคาที่ต้องจ่ายเพื่อให้บุตรหลานได้เข้าถึงโรงเรียนกวดวิชาที่เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยต่อไปได้ในอนาคต ขณะที่ภูมิภาคอื่นจะเป็นเรื่องที่ยากกว่ามากนักหลายเท่าตัว
หากปล่อยให้การศึกษาไทยยังคงตัดสินอนาคตของเด็กจำนวนมากด้วยการท่องจำหลักสูตรสำหรับการสอบต่อไป ในอนาคตก็อาจจะเหลือเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่สามารถเข้าไปเรียนในระดับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่จะส่งผลต่อฐานรายได้ในอนาคตต่อไปได้ ดังนั้นการย้อนกลับมามองที่การแก้ไขหลักสูตรการศึกษาแต่แรกจึงอาจจะเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่าการพยายามแก้ไขราคาของคอร์สเรียนกวดวิชาที่เป็นไปตามกลไกตลาด
‘การศึกษาฐานสมรรถนะ’ ทางเลือกใหม่เพื่อการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
การมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่แตกต่างกันของครอบครัวหลากหลายฐานะนั้นทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องหาวิธีอุดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ และหนึ่งในนวัตกรรมการศึกษาของศตวรรษ 21 ที่สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้มีชื่อว่า ‘การศึกษาฐานสมรรถนะ’ หรือ Competency – based Education (CBE)
การศึกษาฐานสมรรถนะเชื่อว่าการใช้เกณฑ์เพียงอย่างเดียว เช่น เกรด ใบรับรอง หรือใบประกาศ นั้นไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์วัดความสามารถเพียงอย่างเดียวของผู้เรียน หากทว่าต้องมองให้รอบด้านถึงศักยภาพของผู้เรียนทั้งภายนอกและภายใน หรือการวางระบบการศึกษาที่สนใจการพัฒนาศักยภาพภายในของผู้เรียนเองเป็นหลักมากกว่าการนำผู้เรียนไปทดสอบหลักสูตรเพื่อตัดสินว่าผู้เรียนมีศักยภาพถึงระดับมาตรฐานหรือไม่
การนำหลักสูตร CBE มาใช้นั้นเป็นการปฏิวัติวิธีคิดทางการศึกษาแบบเดิม ๆ อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากหลักสูตรแบบ CBE มีหลักคิดที่เน้นการเสริมศักยภาพให้ผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่เรียนไปใช้งานเองได้ในชีวิตประจำวัน มีสุขภาวะทั้งในด้านสุขภาพร่างกายและทางความคิด มีความเก่งกาจในแบบของตนเองเฉพาะเป็นรายบุคคล รวมไปถึงต้องสามารถยืดหยุ่นพร้อมปรับตัวได้ในสังคมภายนอก
การวัดและประเมินผลผู้เรียนในหลักสูตร CBE นี้จึงไม่ได้มีรูปแบบเหมือนการวัดและประเมินผลในหลักสูตรเดิม แต่จะแบ่งออกเป็นระดับๆ ลดหลั่นกันไปดังต่อไปนี้; ระดับเริ่มต้น, ระดับการกำลังพัฒนา, ระดับสามารถ และ ระดับเหนือความคาดหวัง ซึ่งจะวัดผลสมรรถนะในด้านของการจัดการตนเอง การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การคิดขั้นสูง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติกับวิทยาการอย่างยั่งยืน การวัดผลในลักษณะนี้จะทำให้นักเรียนได้รับการฝึกฝนและถูกประเมินจากศักยภาพและการปรับตัวของพวกเขาเป็นหลัก ไม่ใช่ความสามารถในการท่องจำหรือความถี่ในการกวดวิชาเพิ่มเติมนอกห้องเรียน
แน่นอนว่าการนำ CBE มาใช้อย่างจริงจังเป็นวงกว้างทั่วประเทศนั้นอาจจะไม่ได้ช่วยทำให้ต้นทางของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอันมีสาเหตุมาจากหลากหลายประการถูกกำจัดหมดสิ้นไปในทันที แต่การเปลี่ยนมุมมองการจัดการและประเมินผลการศึกษาในระดับชาติเช่นนี้จะเป็นการบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์การเรียนไปเพื่อสอบและการหวังพึ่งพาโรงเรียนกวดวิชาในราคาแพงให้เบาบางลงไปได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากนักเรียนถูกคาดหวังให้ ‘เรียนไปใช้เป็น’ มากกว่า ‘เรียนไปใช้สอบ’ ที่บันไดของอนาคตถูกทำให้ปีนป่ายขึ้นไปได้ง่ายสำหรับผู้มีเงิน ขณะที่เด็กอีกมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศอาจจะไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาอันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สังคมพัฒนาแล้วทุกแห่งในโลกควรมีได้ และยังเป็นการลดการพึ่งพาสถาบันกวดวิชาราคาแพงลงไปได้ในตัวอีกตัว
หลักสูตร CBE จึงอาจจะสามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและเป็นกุญแจสู่ความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่ประเทศไทยได้หากนักการศึกษาและทุกคนในสังคมร่วมกันใส่ใจที่จะพัฒนาและจับตาหลักสูตรดังกล่าว เพื่อให้ไม่มีเด็กคนไหนจะต้องถูกตัดสิทธิในการศึกษาเพียงเพราะไม่สามารถเข้าถึงโรงเรียนกวดวิชาราคาแพงอีกต่อไป รวมไปถึงพัฒนาศักยภาพของพวกเขาทุกคนให้มีความยั่งยืนสามารถปรับใช้ในระยะยาวได้ต่อไป
ที่มา:
- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2564, จาก https://opec.go.th/%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%a1%e0%b8%b9%e0%b8%a5%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%aa%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%a8-2/
- “กวดวิชา” มาตรฐานการศึกษาไทย เรียน “เพื่อสอบ” หรือเรียน “เพื่อรู้”. (2556). ThaiPublica, จาก https://thaipublica.org/2013/03/tutorial-critical-study-of-thailand/
- บ้านของครู. (2021). การวัดและประเมินผลทางการศึกษา. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2021, จาก https://mrkron.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%A5/
- ธัญวัฒน์ อิพภูดม. (2018). ยิ่งแข่งขัน ยิ่งหลงทาง : กับดักการศึกษาไทยในมุมของ อ.อรรถพล อนันตวรสกุล. The Matter. จาก https://thematter.co/social/education-trap-interview/46925
- ไทยพับลิก้า. (2015). 9 โรงเรียนกวดวิชายอดนิยมเน้นเปิดสอนคอร์สสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากสุด ถ้าเรียนครบจะใช้เงินกว่า 30,000 บาทต่อเทอม. จาก https://thaipublica.org/2015/06/tutor-7/
- สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร. รายได้โดยเฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือน จำแนกตามภาคและรายจังหวัด พ.ศ. 2552-2560. กระทรวงคมนาคม, จาก http://mistran.otp.go.th/mis/TT3_Average.aspx
- Starfish Academy. (2020). ชวนมารู้จัก “การศึกษาฐานสมรรถนะ (Competency-based Education)”ฉบับเข้าใจง่าย. Starfish Labz, จาก https://www.starfishlabz.com/blog/290-%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8-%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B8%99%E0%B8%B0-competency-based-education-%E0%B8%89%E0%B8%9A-%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%82-%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%87-%E0%B8%B2%E0%B8%A2?fbclid=IwAR2kttpMbPkBwyxai-dGm7XJEUFUva7sXtTFKJKSL0zpkDdcVYvh8QLVyyk
- รู้งาน ทันข่าว. หลักสูตรฐานสมรรถนะ. กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพป.นครปฐม เขต 2, จาก http://chaisri-nites.hi-supervisory5.net/home/smrrthna?fbclid=IwAR22Ze7I3otlZnOORFn55e5aUjDk-srSAnGTXgHtgJXuPUOf6GKfafQ8tDw