จัดการศึกษาฐานสมรรถนะอย่างไรให้สำเร็จ ผ่านเลนส์การศึกษานานาชาติ
Reading Time: 2 minutesจัดการศึกษาฐานสมรรถนะอย่างไรให้สำเร็จ ผ่านเลนส์การศึกษานานาชาติ
“การศึกษาฐานสมรรถนะ” คำยอดฮิตที่บรรดาคุณครู ผู้บริหาร หรือบุคคลากรในวงการการศึกษาต่างได้ยินกันจนติดหู เมื่อไทยกำลังจะปรับหลักสูตรเป็นการศึกษาฐานสมรรถนะซึ่งเเน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ใหม่มีทั้งกลุ่มคนที่เข้าใจเเละไม่เข้าใจในสิ่ง ๆ นี้ วันนี้ก่อการครูจะพาทุกคนมารู้จักกับหลักสูตรฐานสรรถนะในต่างประเทศกันบ้าง ในประเทศที่ว่ากันว่า “การศึกษาดี” พวกเขามีการจัดการศึกษาอย่างไร มีวิธีดูเเลหรือสร้างการเรียนรู้อย่างไรให้กับเยาวชนในประเทศ
ฟินเเลนด์ ประเทศที่การศึกษาดีที่สุดในโลก
เนเธอร์เเลนด์ ประเทศที่เด็กมีความสุขมากที่สุดในโลก
สิงคโปร์ ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่เคยได้คะเเนนสอบ PISA สูงที่สุดในโลก
ก่อนจะไปรู้จักกับการศึกษาของประเทศอื่น เราลองมาดูหัวใจหลักของการศึกษาฐานสมรรถนะในไทยกัน โดยหลักสูตรฐานสมรรถนะในไทย คือหลักสูตรที่เน้นการวัดผลแบบสมรรถนะแทนการท่องจำเนื้อหา วัดผลจากการนำความรู้มาใช้งานภายใต้ 4 ฐานคิดหลักได้แก่
1️⃣ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนรายบุคคล (Personalization) การเป็นเจ้าของการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
2️⃣ พัฒนาให้ผู้เรียนเกิดสุขภาวะ (Well-being) ทั้งในด้านสุขภาพ ความฉลาดรู้ สังคมและอารมณ์อย่างสมดุล รอบด้านและเป็นองค์รวม โดยยึดหลักความเสมอภาค
3️⃣ พัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต การแก้ปัญหา ในสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และการสร้างประโยชน์ต่อสังคม
4️⃣ พัฒนาผู้เรียนให้รู้เท่าทันและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและความก้าวหน้าทางวิทยาการ
โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาความสามารถที่จำเป็นของผู้เรียนต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันและอนาคต ด้วยองค์ประกอบของ 5 สมรรถนะ ได้แก่
1️⃣ สมรรถนะการจัดการตนเอง
2️⃣ สมรรถนะการสื่อสาร
3️⃣ สมรรถนะการรวมพลังทำงานเป็นทีม
4️⃣ สมรรถนะการคิดขั้นสูง และ
5️⃣ สมรรถนะการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง
จาก 4 ฐานหลักนำสู่ 5 สมรรถนะสำคัญในอนาคตของนักเรียน คราวนี้เราลองมาดูกันหากมองผ่านเลนส์ของการศึกษาจากประเทศอื่นมีจุดร่วมใดบ้างผ่านสมรรถนะเหล่านี้อย่างไรบ้าง
ประเทศฟินแลนด์
ประเทศนี้มีดีที่การศึกษาจริงหรือ? เมื่อพูดถึงฟินเเลนด์ภาพเเรกที่โผล่ขึ้นมาคงเป็นเรื่องระบบการศึกษาที่ดี เเต่จริง ๆ เเล้วฟินเเลนด์นั้นเป็นประเทศต้นทุนดีที่มีทั้งสภาพเเวดล้อมเเละคุณภาพชีวิตดี ๆ ซึ่งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาที่ดีเลยก็ว่าได้ เเต่พวกเขาก็ใช้เวลาหลายทศวรรษในการปรับเเละพัฒนาการศึกษาจนประสบความสำเร็จกับสิ่งที่เรียกว่า peruskoulu ในปี 1990 จากการ ปฏิรูปที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง
“Child – Centered” หรือ ศูนย์กลางของการเรียนที่เด็กเป็นหลัก หัวใจของการศึกษาฟินเเลนด์ พวกเขาให้ความสำคัญกับเด็กหรือนักเรียน โดยมุ่งให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาต่าง ๆ ด้วยตนเองโดยไม่เน้นทฤษฎีเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากที่สุด ไม่มีการวัดผลผ่านการสอบ ด้วยพื้นฐานสำคัญที่ระบบการศึกษาฟินแลนด์มองว่า “ข้อสอบไม่ใช่ตัววัดผลการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ทุกคน” ถึงเเม้จะไม่มีข้อสอบเเต่ฟินเเลนด์ก็มีวิธีการอื่นเพื่อประเมินนักเรียน โดยคุณครูที่โรงเรียนก็จะมีแนวทางการวัดผลอย่างเหมาะสมให้กับเด็กแต่ละคน
“การเล่น” อีกสิ่งสำคัญที่ฟินเเลนด์มอบให้เด็ก ๆ คือให้เขาเป็นผู้เล่นอย่างเต็มที่ในช่วงการเรียน Early childhood หรือช่วงก่อนเข้าเรียน เด็กในฟินแลนด์นั้นเรียนรู้ผ่านการ “เล่น” การเรียนรู้ในวัยเด็กไม่ได้มีเพื่อเตรียมความพร้อมทางวิชาการเเต่เป็นการส่งเสริมให้เด็กเกิดการพัฒนาทางด้านสังคมและสุขภาพมากกว่าโดยทำผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีคุณครูคนสำคัญที่ส่งผลต่อระบบนี้ บทบาทคุณครูในฟินเเลนด์เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลมาก ๆ ในฟินเเลนด์ทั้งอิสระเเละอำนาจของคุณครูในการออกเเบบการเรียนการสอน จนทำให้ครูกลายเป็นอาชีพที่เยาวชนในฟินแลนด์นิยมเรียนมากที่สุดแซงหน้าแพทย์ นักกฎหมาย และสถาปนิก
ประเทศเนเธอร์แลนด์
งานวิจัยของ Unicef ในปี 2556 ระบุว่า เด็กชาวเนเธอร์แลนด์เป็นเด็กที่มีความสุขที่สุดในโลก ซึ่งเเน่นอนว่าการศึกษาก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะระบบบการศึกษาที่ไม่สร้างความกดดันเเละเครียดให้กับนักเรียนทำได้อย่างไรไปดูกัน
ทางเลือกเเละความเท่าเทียม นักเรียนดัตช์มีตัวเลือกทางการศึกษาที่หลากหลายเเละตรงตามความสามารถ โดยไม่ต้องถูกบังคับหรือเลือกเรียนสายวิชาบางสายวิชาเพียงเพราะการแข่งขันสูง ความเท่าเทียมจึงเป็นปัจจัยสำคัญของพวกเขา นอกจากนี้เนเธอร์เเลนด์ยังมีโรงเรียนรัฐบาลที่มีมาตรฐานเเละได้คุณภาพ ทำให้ชาวดัตช์ส่วนใหญ่ส่งลูกเรียนโรงเรียนรัฐบาลมากกว่าเอกชน โดยในเอกชนส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยในเนเธอร์เเลนด์ ทำให้การศึกษาที่นั่นไม่ต้องจ่ายเเพงกว่าเเต่ได้การศึกษามีคุณภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้
ระบบติดตามความก้าวหน้าและวัดผลสำเร็จทางการเรียนของเด็ก ๆ หรือเรียกว่า Student Tracking System (LVS – leerlingvolgsysteem) อีกส่วนสำคัญของระบบการศึกษาเนเธอร์เเลนด์ที่ชี้ให้เห็นถึงความใส่ใจเเละการให้ความสำคัญกับนักเรียนรายบุคคล โดยในช่วงปีสุดท้ายของระดับชั้นประถมศึกษา Groep 8 (อายุ 12 ขวบ) นักเรียนจะได้รับคำแนะนำและข้อเสนอแนะจากโรงเรียนเกี่ยวกับประเภทของหลักสูตรที่ควรศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษา ผ่านการทดสอบความถนัดเพื่อใช้เป็นตัวกำหนดประเภทของการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาว่าแบบใดเหมาะกับนักเรียนที่สุด เรียกว่า ‘CITO-toets’ โดยในการเลือกเรียนนั้นไม่ว่าจะเป็น ระดับอาชีวศึกษา มัธยมศึกษาตอนปลายทั่วไป และเตรียมอุดมศึกษา มีความเท่าเทียม เพราะเเม้นักเรียนจะถูกจัดวางในระดับอาชีวศึกษาก็สามารถไต่ระดับไปสู่การศึกษาระดับสูงได้เช่นกัน
วันหยุดพักผ่อน ใช่เเล้วไม่ใช่ผลการเรียนหรืออันดับ ranking ของโรงเรียนหากเเต่ชาวดัตช์ให้ความสำคัญกับวันหยุด โดยในแต่ละปีการศึกษาจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการจากกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ (OCW) เกี่ยวกับวันหยุดโรงเรียนในฤดูกาลต่าง ๆ ซึ่งกระจายไปตามภูมิภาคในเนเธอร์แลนด์ เพื่อลดความแออัดในช่วงปิดเทอมโดยรวม ๆ เเล้วนักเรียนดัตช์ได้หยุดถึง 9 สัปดาห์ต่อปี ด้วยระบบการศึกษาที่ใส่ใจในนักเรียนทั้งด้านการเรียนรู้ส่วนบุคคล การให้นักเรียนได้หยุดพักผ่อนเเละความเท่าเทียมด้านการศึกษา จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมเด็กที่นี่ถึงมีความสุขที่สุดในโลก
ประเทศสิงคโปร์
ลองปรับโหมดจากฝั่งยุโรปมาดูการศึกษาเเถบเอเชียกับประเทศที่เป็นที่สุดในการจัดระดับการศึกษาระดับโลกอย่างสิงคโปร์ ที่ต้องออกปากก่อนว่าอาจจะฉีกจากเนเธอร์เเลนด์มาพอสมควรเมื่อมองเรื่องความสุขของนักเรียน เพราะสิงคโปร์นั้นเป็นประเทศที่การศึกษาสร้างความเครียดเเละความกดดันให้กับนักเรียนของเขามากทีเดียว เเต่ในทางกลับกันผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหรือคะเเนนการสอบ PISA ของประเทศนั้นสูงอย่างน่าประทับใจ
“เราจะมอบการศึกษาที่สมดุลและรอบด้านให้แก่เด็ก ๆ ของเรา เพื่อช่วยให้พวกเขาค้นพบความสามารถพิเศษของตนเอง ตระหนักถึงศักยภาพสูงสุดของตนเอง และหล่อเลี้ยงให้พวกเขาเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่พร้อมอุทิศตน” พันธกิจของกระทรวงศึกษาธิการของประเทศสิงคโปร์
“Thinking Schools, Learning Nation” หรือ “โรงเรียนที่สอนให้คิด ชาติที่สอนให้เรียนรู้” นโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ใช้สร้างทั้งการศึกษาเเละชาติไปพร้อม ๆ กัน ภายใต้การศึกษาที่มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าการท่องจำ
“Teach Less, Learn More (TLLM)” ที่มุ่งเน้นหลักการพื้นฐานของการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ นักเรียนมีส่วนร่วม และมีการพัฒนาการแบบองค์รวมมากกว่าการเรียนเพื่อเตรียมตัวสอบเพียงอย่างเดียว
“THINKING GLOBAL, STAYING CONNECTED TO SINGAPORE” เพื่อสร้างสิงคโปร์ให้เป็นเมืองหลวงของโลก (Global City) ในขณะที่ประชากรยังมีความผูกพันกับสิงคโปร์และเห็นสิงคโปร์เป็นบ้านของตนเอง
จะเห็นได้ว่านอกจากจะให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของนักเรียนเเล้ว ประเทศสิงคโปร์ยังให้น้ำหนักทั้งในเรื่องการกระบวนการให้ความสำคัญกับชาติ ในขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาเยาวชนสู่การเป็นพลเมืองโลกอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการศึกษาที่มุ่งพัฒนาเเบบรอบด้านทีเดียว เเต่ก่อนจะมาถึงจุดพัฒนาสิงคโปร์ได้จัดการปัญหาของประเทศผ่านระบบการศึกษาไปพร้อม ๆ กัน โดยการเปลี่ยนค่านิยมทางการศึกษาโดยมุ่งเน้นการพัฒนาแรงงานหรือทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพในฐานะปัจเจกบุคคล ที่พร้อมตอบสนองบริบทการพัฒนาและความท้าทายของประเทศ เเละสร้างความสมานฉันท์ในสังคมและพัฒนาอัตลักษณ์ของชาติผ่านระบบการศึกษาของประเทศสิงคโปร์
การกำหนดนโยบายเพื่อผสานความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ พหุวัฒนธรรม และระบบการศึกษาสองภาษา ภาวะพหุวัฒนธรรม พหุภาษา และการจัดการความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของสิงคโปร์ นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรในการสร้างระบบการศึกษาที่เป็นหนึ่งเดียวของประเทศ คือการศึกษาในระบบทวิภาษา โดยส่วนนี้ยังช่วยด้านผลสอบ PISA อีกด้วยเนื่องจากข้อสอบที่เป็นภาษาอังกฤษนักเรียนสิงคโปร์จึงสามารถเข้าใจข้อสอบได้มากขึ้น เเละการมีพลเมืองที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลได้ย่อมได้เปรียบในการพัฒนาต่อยอดความรู้ต่าง ๆ ให้กับประเทศจึงยิ่งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเเละการพัฒนาประเทศ
🚩 หากมองระบบการศึกษาผ่านเลนส์สมรรถนะ ต่างประเทศต่างก็มีบริบทที่ต่างกัน ไม่ใช่เเค่ระบบการศึกษาที่ต้องดำเนินไปเพื่อพัฒนาประชากรในประเทศ เเต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระบบการศึกษา นักเรียนเเละการเรียนรู้ของพวกเขา เห็นได้ชัดว่าการศึกษาจากทั้งฟินเเลนด์ เนเธอร์เเลนด์ เเละสิงคโปร์ต่างให้ความสำคัญกับผู้เรียนเเละการเรียนรู้ที่ไม่ใช่เพียงการท่องจำเป็นหลัก เช่นเดียวกับหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ไทยกำลังจะนำมาปรับใช้เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้ได้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เรียนเพื่อท่องจำเเละสอบเเต่ต้องมุ่งเน้นที่การพัฒนาสรรถนะ การเรียนรู้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างรู้เท่าทัน
____________________________________________________________________________________
ที่มา
http://chaisri-nites.hi-supervisory5.net/home/smrrthna
https://www.starfishlabz.com/blog/290-%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8-%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B8%99%E0%B8%B0-competency-based-education-%E0%B8%89%E0%B8%9A-%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%82-%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%87-%E0%B8%B2%E0%B8%A2
https://www.bbc.com/thai/features-45698818
เรียนรู้ระบบการศึกษาในประเทศเนเธอร์แลนด์ (The Dutch Education System)
https://www.learningcurve-th.com/blogs/11-countries-the-best-education-systems