ก่อการครู – Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ คลังความรู้ บทความ โรงเรียนปล่อยแสง

ครูเตรียมพร้อมอย่างไร..เมื่อการศึกษาไทยก้าวสู่ฐานสมรรถนะ

Reading Time: 2 minutes “การเรียนรู้ของผู้เรียน” หัวใจสำคัญของการศึกษา แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้กำหนดให้การศึกษาฐานสมรรถนะนั้นเป็นแนวทางในการปฏิรูปหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน เพื่อมุ่งให้เกิดการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะหลักที่จำเป็นสำหรับการทำงาน การแก้ปัญหา และการดำรงชีวิต โดยการปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้เรียนในครั้งนี้ ครูผู้สอน หลักสูตร การเรียนการสอน และการวัดและประเมินผลมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์และสนับสนุน เอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและเกิดสมรรถนะตามเป้าหมายที่กำหนดได้ โดยการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรของสถานศึกษา Nov 1, 2021 2 min

ครูเตรียมพร้อมอย่างไร..เมื่อการศึกษาไทยก้าวสู่ฐานสมรรถนะ

Reading Time: 2 minutes

ครูเตรียมพร้อมอย่างไร..เมื่อการศึกษาไทยก้าวสู่ฐานสมรรถนะ

 

“การเรียนรู้ของผู้เรียน”

หัวใจสำคัญของการศึกษา แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้กำหนดให้การศึกษาฐานสมรรถนะนั้นเป็นแนวทางในการปฏิรูปหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน เพื่อมุ่งให้เกิดการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะหลักที่จำเป็นสำหรับการทำงาน การแก้ปัญหา และการดำรงชีวิต โดยการปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้เรียนในครั้งนี้ ครูผู้สอน หลักสูตร การเรียนการสอน และการวัดและประเมินผลมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์และสนับสนุน เอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและเกิดสมรรถนะตามเป้าหมายที่กำหนดได้ โดยการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรของสถานศึกษา คือผู้บริหารและครูผู้สอนซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนที่สำคัญ มีกรอบคิดในการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้อง เกิดความตระหนัก เข้าใจในสิ่งที่ตนต้องพัฒนาก่อนการนำไปใช้จริง  โดยครูผู้สอนควรทำความเข้าใจกับบทบาทหน้าที่ที่เปลี่ยนแปลงไป เข้าใจเรื่องที่จะพัฒนาและวิธีการในการพัฒนาสมรรถนะของตน เมื่อครูผู้สอนมีเป้าหมายที่จะจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะที่จำเป็น ปรับแนวคิดและมุมมองในการออกแบบและจัดการเรียนรู้จากการเน้นที่เนื้อหาสาระมาเน้นสมรรถนะ จะช่วยให้มองเห็นการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนเป็นรายบุคคลอย่างเป็นองค์รวม  โดยครูผู้สอนจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ดังนี้

 

    1. การเป็นผู้มีกรอบความคิดแบบเติบโต ( Growth Mindset)

       ครูผู้สอนควรพัฒนาตนเองโดยเชื่อว่าความสามารถหรือสติปัญญาของบุคคลสามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา  การไม่หลีกเลี่ยงความท้าทาย การไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลว การเห็นคุณค่าของความพยายาม การเรียนรู้จากคำวิจารณ์ และการมองหาบทเรียนและแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของผู้อื่น มีความพร้อมที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง  มีความคิดยืดหยุ่นปรับตัวได้ในหลากหลายสถานการณ์ มีความสามารถในการคิดนอกกรอบ คิดสร้างสรรค์  มีความกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย กล้าเสี่ยง และรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ชื่นชมยินดีเมื่อสำเร็จ และสามารถระบุปัญหา และค้นหาวิธีการในการแก้ปัญหาในกรณีไม่สำเร็จตามเป้าหมายได้

    2. ความรู้ ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาฐานสมรรถนะ

      ครูผู้สอนควรได้รับการพัฒนาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในหลักการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาฐานสมรรถนะ  ทั้งเรื่องของหลักสูตรฐานสมรรถนะ  การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ  การประเมินฐานสมรรถนะ รวมไปถึงสามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนโดยมีจุดประสงค์การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเป็นเป้าหมาย  ซึ่งจะมุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะต่าง ๆ อย่างเป็นองค์รวมในการปฏิบัติงาน การแก้ปัญหา และการใช้ชีวิตได้

    3. การสอนที่ตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล (Differentiated Instruction)  ครูผู้สอนจำเป็นต้องปรับตัวและจัดระบบการสอนจากแบบ “One Size Fits All” มาเป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับการประเมินผู้เรียนเป็นรายบุคคลมากยิ่งขึ้น มีการวิเคราะห์ผู้เรียน การรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล ธรรมชาติผู้เรียน ประสบการณ์ พื้นฐานความรู้  วิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน รวมไปถึงเป้าหมายการเรียนรู้ของผู้เรียน

    4. การบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์

      โดยครูต้องสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ผู้เรียนจำเป็นต้องรู้อะไร จึงจะช่วยให้ทำสิ่งนั้นได้ ซึ่งเอื้อให้มีการบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์และลดสาระการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็น ผู้เรียนต้องได้รับความรู้และฝึกใช้ความรู้ในการทำงาน  รวมทั้งพัฒนาคุณลักษณะที่ควรจะต้องมีในการทำสิ่งนั้น ให้ประสบผลสำเร็จได้ในระดับที่กำหนด  

    5. การจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)

        ครูจัดการเรียนรู้ที่เน้น “การปฏิบัติ” โดยมีชุดของเนื้อหาความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการนำไปสู่สมรรถนะที่ต้องการ จึงทำให้สามารถลดเวลาเรียนเนื้อหาจำนวนมากที่ไม่จำเป็น เอื้อให้ผู้เรียนมีเวลาในการเรียนรู้เนื้อหาที่จำเป็นในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น และมีโอกาสได้ฝึกฝนการใช้ความรู้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะในระดับชำนาญหรือเชี่ยวชาญ ผ่านกลยุทธ์ในการจัดกิจกรรมและประสบการณ์ การเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้อย่างตื่นตัว ทั้งทางร่างกาย (physically active) การคิดและสติปัญญา (intellectually active) อารมณ์ และ จิตใจ (emotionally active) และทางสังคม (socially active) จะส่งผลให้ผู้เรียน เกิดการเรียนรู้ดีขึ้น

    6. ด้านทักษะการเป็นผู้ชี้แนะ (Coach) และการเป็นผู้อำนวยการการเรียนรู้ (Learning Facilitator) โดยการพัฒนาให้ครูเป็นผู้ชี้แนะและเป็นผู้อำนวยการความสะดวก หรือผู้สนับสนุน การเรียนรู้ ทำหน้าที่คอยจัดเตรียมอุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆเพื่อให้การจัดกิจกรรมนั้นๆ ดำเนินไปได้  คอยส่งเสริมวิธีการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง  คอยชี้แนะ และสะท้อนผลระหว่างทางจนผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทำได้ด้วยตนเองจนสำเร็จ

 

บทบาทของครูผู้สอน

เมื่อต้องเข้าสู่การศึกษาฐานสมรรถนะก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยสามารถแบ่งบทบาทของครูผู้สอนตามมิติต่าง ๆ ได้ดังนี้ 

  1. บทบาทในการจัดการเรียนรู้

    การจัดการศึกษาฐานสมรรถนะเป็นการพัฒนาสมรรถนะให้กับผู้เรียนโดยยึดโยงกับวิถีชีวิตของผู้เรียน การนำหลักสูตรไปใช้จึงควรเป็นสิ่งเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และต้องคำนึงถึงบริบทและนิเวศในการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ  ดังนั้นบทบาทของครูจึงต้องเปลี่ยนจากคุณครูเป็นศูนย์กลาง มาเป็นการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูจัดประสบการณ์/สถานการณ์ที่หลากหลายให้ผู้เรียนได้ฝึกนำความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ ที่ได้เรียนรู้ไปใช้จนเกิดสมรรถนะที่ต้องการ โดยพิจารณาจากวิถีชีวิตและนิเวศการเรียนรู้ของเด็กในชีวิตจริงมาออกแบบการเรียนรู้ที่มีความหมายให้กับผู้เรียน  ครูจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) โดยการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบรู้จริง (mastery learning) ทั้งในด้านความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่จำเป็นต่อเกิดสมรรถนะที่ต้องการ 

  2. บทบาทในการพัฒนาผู้เรียน   

    ครูมุ่งพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นองค์รวมในทุกมิติของชีวิต ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา มีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้ผู้เรียนมีสมรรถนะที่สะท้อนความสามารถของผู้เรียน มีสุขภาวะที่ดี เรียนไปใช้งานได้ และสามารถยืดหยุ่นได้  โดยครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปลดปล่อยศักยภาพของผู้เรียนและให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง  ให้อิสระในการออกแบบการเรียนรู้ที่มีความหมายและเป็นเป้าหมายร่วมระหว่างครูกับผู้เรียน  ครูจะเป็นผู้กระตุ้น หนุนเสริม สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้  เป็นผู้ชี้แนะและอำนวยการการเรียนรู้ (Learning Facilitator) เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องและมีความหมาย ครูเป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพโดยพัฒนาให้มีสมรรถนะที่จำเป็นเพื่อการดำรงชีวิตในสังคมยุคใหม่และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต รักการเรียนรู้ปรับเปลี่ยนความคิดได้ง่าย และมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

  3. บทบาทในการประเมินผลผู้เรียน

    ครูเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ประเมินเพื่อตัดสิน เป็นการประเมินเพื่อการเรียนรู้ (Assessment for Learning) ให้ครูเกิดการเรียนรู้ร่วมไปกับผู้เรียน โดยใช้การประเมินสมรรถนะผู้เรียนด้วยการประเมินตามสภาพจริง ครูมีบทบาทในการสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียน ให้ข้อมูลย้อนกลับ (feed back) จากสิ่งที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง และให้ความช่วยเหลือตามความต้องการของผู้เรียนแต่ละคนในการเรียนการสอนประจำวัน และประเมินจากความก้าวหน้าในการปฏิบัติงาน เช่น การประเมินจากการปฏิบัติ (Performance assessment) หรือการประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio Assessment) รวมถึงการประเมินตนเอง (Student Self-assessment) และการประเมินโดยเพื่อน (Peer Assessment) ผู้เรียนรับผิดชอบการเรียนรู้ของตน โดยครูสื่อสารผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน  ให้ผู้เรียนตั้งเป้าหมาย กำหนดวิธีการเรียนรู้ของตนเองร่วมด้วย และสามารถใช้เวลาในการเรียนรู้แตกต่างกันได้ โดยผู้เรียนแต่ละคนสามารถไปได้เร็ว ช้า (self pacing) ตามความถนัดและความสามารถของตนและสามารถแสดงสมรรถนะหรือพฤติกรรมที่ชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะต่างๆ ในบริบทหรือสถานการณ์ใหม่ๆ ก่อนที่จะก้าวสู่การเรียนรู้ขั้นต่อไป ถ้าผู้เรียนยังไม่ผ่านการประเมินว่าเกิดสมรรถนะที่ต้องการ ครูจำเป็นต้องออกแบบการเรียนรู้และสอนซ่อมเสริม (remedial teaching) ให้ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของผู้เรียน โดยครูอาจมีการเตรียมแนวทางการสนับสนุนเพื่อรองรับผู้เรียนที่หลากหลาย โดยการประเมินการเรียนรู้เป็นกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอนตามปกติ มีลักษณะเป็นการประเมินแบบ Formative Assessment ซึ่งมีการเก็บข้อมูลการเรียนรู้ของผู้เรียนเพื่อให้ความช่วยเหลือตามปัญหาและความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน 

  4. บทบาทในการพัฒนาการศึกษาแบบมีส่วนร่วม 

    เริ่มจากแนวคิดที่ว่าการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน  ดังนั้นในการปฏิบัติงานของครู จำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ในการทำงานแบบทำเอง คิดเองตามลำพัง บนพื้นที่ของตนเอง  ครูจำเป็นต้องมีการพัฒนาตนเองและทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นเครือข่ายในการทำงานอย่างเป็นระบบและเป็นกัลยาณมิตร จัดการเรียนรู้และพัฒนาแบบมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำงาน มีการทำงานแบบร่วมมือรวมพลังมากขึ้น 

  • ด้านวัฒนธรรมในการทำงาน ผู้บริหาร ครู และผู้ปกครอง ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีวัฒนธรรมในการทำงานแบบร่วมมือรวมพลัง เป็นกัลยาณมิตรในการพัฒนาการศึกษาไปสู่เป้าหมายคือการสร้างคุณภาพของผู้เรียนร่วมกัน
  • ด้านกระบวนการในการพัฒนาครู โดยใช้การทำงานผ่านแนวคิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ Professional Learning Community: PLC โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (school-based) เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและสร้างแรงผลักดันจากเพื่อนครูร่วมวิชาชีพ ทำให้ครูเกิดการพัฒนาทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่องในฐานะสมาชิกชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานและพัฒนาวิชาชีพครูที่ยั่งยืน
  • ด้านกระบวนการในการพัฒนาผู้เรียน โดยครูออกแบบการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่น  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนร่วมออกแบบการเรียนรู้เพิ่มเติมให้เป็นไปตามบริบทของผู้เรียน นำไปสู่การเรียนรู้ที่มีความหมายสำหรับผู้เรียนต่อไป 

ในการเปลี่ยนแปลงสู่การศึกษาฐานสมรรถนะในครั้งนี้ นับเป็นก้าวแห่งความท้าทายของครูไทย ที่ต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่  ที่จะเปลี่ยนแปลงจากการออกแบบการจัดการเรียนรู้และมาตรฐานตัวชี้วัดเป็นหลัก  มาสู่การสร้างห้องเรียนที่มีความหมายสำหรับผู้เรียน และตัวคุณครูเองได้มากขึ้น  ทั้งการทำให้ผู้เรียนได้ค้นพบศักยภาพและความสามารถของตน  มีสุขภาวะที่ดีทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม  สามารถเรียนไปใช้งานเป็น เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และสังคม  รวมถึงสามารถยืดหยุ่นได้ในโลกที่มีความซับซ้อน ผันผวน แปรปรวน และไม่แน่นอนเช่นในยุคปัจจุบันนี้  การดำเนินการเพื่อการก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงสู่การศึกษาฐานสมรรถนะ มีความแตกต่างกันตามบริบทและจุดเน้นของสถานศึกษา แต่ถึงแม้ว่าจะมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน แต่การดำเนินการที่จะส่งผลต่อความสำเร็จจะมีสิ่งสำคัญที่เป็นตัวช่วยสำคัญร่วมกัน  คือ

1) การตระหนักในความสำคัญ และการมีความรู้ความเข้าใจหลักการ แนวคิด และแนวทางการศึกษาฐานสมรรถนะอย่างลึกซึ้ง 

2) การปรับเปลี่ยนและออกแบบการทำงานให้เหมาะสมกับบริบทและต้นทุนที่โรงเรียนมีอยู่

3) การเรียนรู้ร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะหากผู้บริหารตระหนักในการพัฒนางานวิชาการ และร่วมเรียนรู้กับครูอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องสม่ำเสมอในบรรยากาศอิสระ เกื้อกูลหนุนเสริมเติมพลังใจให้กันและกัน

4) การทำงานอย่างต่อเนื่อง และใช้ผลการทำงานเป็นฐานในการพัฒนางานในโอกาสต่อไป  โดยเฉพาะการใช้ผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในการวางแผนการพัฒนาผู้เรียนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

5) ภาวะผู้นำของผู้บริหาร และทีมดำเนินการที่ให้การสนับสนุน โดยเฉพาะการเป็นผู้นำทางวิชาการ  และ

6) การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยงาน  องค์กร นักวิชาการ โดยเน้นเครือข่ายที่มีกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้การเปลี่ยนแปลงนำไปสู่เป้าหมายที่สังคมต้องการคือการมีงานทำที่ตอบโจทย์สังคมและโลกให้สามารถเกิดขึ้นได้ ทำให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะที่จำเป็นที่จะทำให้สามารถดำรงชีวิตในโลกอนาคตได้อย่างมีความสุขต่อไป  

 

??????????

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2563).  การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะเชิงรุก. พิมพ์ครั้งที่ 1.

กรุงเทพมหานคร : บริษัท 21 เซ็นจูรี่ จำกัด.

Aubrey S., et al.(2018). Competency Education Implementation: Examining the Influence of Contextual Forces in Three New Hampshire Secondary Schools. https://doi.org/10.1177/2332858418782883

Haynes, E., et al.(2016). Looking under the hood of competency-based education: The relationship between competency-based education practices and students’ learning skills, behaviors, and dispositions. Quincy, MA: Nellie Mae Education Foundation.

Ryan, S., & Cox, J. D. (2017). Investigating student exposure to competency-based education. Education Policy Analysis Archives, 25(24). http://dx.doi.org/10.14507/epaa.25.2792

UNESCO. (2015). Thailand Education For All 2015 National Review. Retrieved from https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000229878

 

 

Array