หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะในโรงเรียนไทย ไม่ใช่เเค่เพิ่งปรับเเต่ที่นี่เปลี่ยนมาเเล้วกว่า 2 ปี
Reading Time: 3 minutes
เมื่อต้องปรับเป็นการศึกษาฐานสมรรถนะ เชื่อว่าทั้งคุณครูเเละผู้บริหารต่างก็มีความกังวลว่าในการปรับหลักสูตรครั้งนี้ต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง มีความยากง่ายเเละท้าทายเเค่ไหน เเละเเน่นอนว่าเมื่อปรับเเล้วเกิดผลอะไร วันนี้ ก่อการครู พาทุกคนมารู้จักกับ โรงเรียนฐานสมรรถนะในบริบทของประเทศไทยกันบ้างไม่ใช่เเค่เพิ่งปรับเเตที่มีเปลี่ยนเป็นฐานสมรรถนะมากว่า 2 ปีเเล้ว เเต่ละขั้นตอนการเปลี่ยนเเปลงเป็นอย่างไรบ้างจากการทำงานลงมือจริงหน้างานโดยผอ.วี หรือคุณปวีณา พุ่มพวง ที่จะมาฉายภาพการศึกษาฐานสมรรถนะในบริบทโรงเรียนไทยให้เรากัน
ก้าวเเรกสู่หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ
โรงเรียนวัดถนนกะเพรา โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง เป็นโรงเรียนที่ทดลองใช้หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ ตั้งแต่ปี 2562 ในช่วงแรกที่เริ่มจะปรับเปลี่ยนจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 อาจจะค่อนข้างวุ่นวาย เนื่องจากต้องมาค้นหาสิ่งที่เป็นตัวเรา จากบริบทที่เรามี ด้วยความคิดที่ว่า เรามีอะไรก็ใช้แบบนั้น คำว่า เรา ตอนแรก ๆ ก็เหมาว่าหมายถึง สิ่งที่ครูทำอยู่ก่อนนั้น มีกิจกรรมอะไรบ้าง เราก็หลงคิดว่านี่แหละคือตัวเรา เราก็นำกิจกรรมจากชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ชั่วโมงชุมนุม เช่น กิจกรรมบอเกอรี่ งานปั้นจากดินเผา ไข่เค็มจากดินชายเลน งานผ้า คือ ทุก ๆ กิจกรรมที่ครูถนัด ที่ครูเคยสอนนักเรียนไป เราก็ตั้งใจจะใช้กิจกรรมพวกนี้ มาเขียนหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ
ซึ่งทางโรงเรียนได้ตกลงกันเป็นอย่างดีว่าเอาตามนี้ในขณะเดียวกัน เราก็ได้รับการฝึกอบรมให้มีมุมมองกว้างขึ้นได้เรียนรู้ว่า ตัวเราต้องมองความเป็นโรงเรียน มองชุมชนที่อยู่รอบ ๆ โรงเรียน มองผู้ปกครอง มองนักเรียน มองว่าเรามีฐานทุนอะไรอยู่บ้าง โค้ชจากรร.รุ่งอรุณ และสถาบันอาศรมศิลป์ พามองออกจากโรงเรียนไปสู่ชุมชน พากันเขียนแผนที่แหล่งเรียนรู้ ว่าในชุมชนเรามีอะไรบ้าง ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ในชุมชนเรามีแหล่งเรียนรู้มากมาย ผู้ปกครองและคนในชุมชนส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพประมง รวมทั้งรับจ้างประมง และรับจ้างทั่วไป ผู้ปกครองเลี้ยงหอยนางรม ทำน้ำปลา ทำกะปิ เลี้ยงปลากะพง ออกทะเลหาปลาหมึก หาปู หาหอย หลายครอบครัวพอได้ปูมาก็นำมาขายเป็นปูม้านึ่งบ้าง ดิบบ้าง นำมาแกะเนื้อทำเป็นปูกล่อง ทำฮ่อยจ๊อที่ขึ้นชื่อในอำเภอแกลง ส่วนบ้านที่เลี้ยงหอยนางรม ก็จะแกะหอยออกจากเปลือกแล้วขาย เป็นหอยนางรมสดทานคู่กับผักกระถิน หอมแดงหั่นทอด และน้ำจิ้มซีฟู๊ด กลุ่มสตรีแม่บ้านก็รวมตัวกัน ผลิตน้ำปลาจากปลากะตักหรือปลาไส้ตัน ทำกะปิจากเคย ซึ่งเคยจะพบได้ไม่บ่อยนัก นอกจากนั้นเรายังมีแหล่งเรียนรู้ในชุมชนอีกมากมาย เช่น บ้านปลาธนาคารปู เป็นที่ศึกษาและเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์พันธุ์ปลา และปู สะพานรักษ์แสม ซึ่งเป็นที่ศึกษาด้านระบบนิเวศป่าชายเลน และอนุรักษ์พันธุ์ปูแสม หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตัวอย่างบ้านจำรุง ก็เป็นสถานที่ที่ศึกษาเรื่องการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน จากการทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา การมีวิถี อยู่อย่างพอเพียง
จากฐานทุนเดิมของโรงเรียนกลายมาเป็นหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ
เมื่อเราได้ย้อนกลับมามองตัวเราอย่างแท้จริง เราก็จะเห็นว่า เรามีฐานทุนเดิมคืออะไร และที่เราเคยคิดว่าการที่ครูถนัด หรือสิ่งที่ผอ.ชอบ คือ ตัวเรา จริง ๆ นั้น มันเป็นแค่ส่วนนึงเท่านั้น สิ่งที่ครูถนัด และชอบทำ ก็คือฐานทุนเช่นเดียวกัน แต่เมื่อครูคนนั้น ย้ายจากโรงเรียนนี้ไปแล้ว เรื่องนั้นถ้าไม่มีใครสานต่อหรือมีคนถนัดด้วย ก็จะหายไปจากโรงเรียน ซึ่งก็หมายความว่าฐานทุนที่แท้จริงนั้น ต้องมีความสมดุลและยั่งยืน ถึงจะทำให้การหยิบนำมาใช้เพื่อเป็นจุดตั้งต้นของการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ สามารถดำเนินไปได้ จริง ๆ และเมื่อเราได้พากันวิเคราะห์ฐานทุนของโรงเรียน อย่างที่ได้เล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ เราก็มาชวนกันคิดต่อไปว่า แล้วเราจะนำเรื่องต่าง ๆ ที่เรามีนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร โดยเราช่วยกันค้นหา เอกลักษณ์ของโรงเรียน และอัตลักษณ์ของผู้เรียน ว่าจะให้มีรูปร่างหน้าตาแบบไหน จนได้ภาพว่า อยากให้นักเรียนเป็นผู้มีความคิดริ่เริ่มสร้างสรรค์ ต่อยอดสิ่งใหม่ ๆ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในชุมชน ให้มีความรักในถิ่นฐานบ้านเกิด และมีความสามารถในการสื่อสารได้ 3 ภาษา รวมทั้งมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ด้วยวิถีพอเพียง ต่อมาโค้ชได้มาช่วยในเรื่องของการตั้งชื่อแบบสากล โดยเราจึงได้ใช้ School Concept ของโรงเรียนว่า โรงเรียนสร้างสรรค์นวัตกรน้อยสู่สากล (Creative Glocal Innovator School) ต่อมาเราก็มาช่วยกันคิดต่อว่า จะพากันเดินไปอย่างไร ซึ่งขณะนั้นเองทีมโค้ชของเราก็มีส่วนให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงร่วมเดินเคียงคู่กับเรามาตลอด
จนสุดท้ายเราจึงได้นำอาชีพที่ผู้ปกครองทำ มาคิดเป็นชื่อเรื่องหลักในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ โดยในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 เราให้เรียนรู้เรื่องใกล้ ๆ ตัว โดยในโรงเรียนเรามี โรงเห็ด แปลงผักบนดิน แปลงผักในน้ำ แปลงดอกไม้ ชั้นประถมศึกษาที่ 3 ให้เรียนรู้เรื่อง ใบขลู่ ซึ่งเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ในชุมชน ตลอดข้างทางที่นักเรียนออกจากบ้านมาโรงเรียน แต่ไม่เคยมีใครสนใจที่จะนำมาทำให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เรียนรู้อาชีพของผู้ปกครอง หมู่ 8 คือ หอยนางรม นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องการเลี้ยงหอยนางรมต้องทำอย่างไร หอยนางรมเกิดมาได้อย่างไร การแกะหอยนางรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เรียนรู้อาชีพของ หมู่ 4 และหมู่ 9 คือ การทำน้ำปลา นักเรียนได้เรียนรู้ว่า ก่อนจะได้น้ำปลามีขั้นตอนอย่างไร ตั้งแต่การเลือกปลา การสานที่กรองน้ำปลา การหมัก การดูแล การกรอกน้ำปลาใส่ขวด ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เรียนรู้อาชีพของผู้ปกครอง หมู่ 4 8 และ 9 คือ การทำฮ่อยจ๊อ นักเรียนจะได้เรียนรู้ว่า กว่าจะมาเป็นฮ่อยจ๊อ ต้องเป็นอะไรมาก่อน นักเรียนจะได้เรียนรู้เรื่อง ปู ว่ามีกี่สายพันธุ์ ปูอยู่ที่ไหน ความแตกต่างระหว่างปูทะเลกับปูที่ไม่ได้อยู่ในทะเลเป็นอย่างไร ระบบนิเวศเป็นอย่างไร ยังคงมีเรื่องราวในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ อีกมากมาย แต่สิ่งสำำคัญที่ยังไม่ได้กล่าวไว้คือ เด็ก ๆ ทุกคน จะได้เรียนรู้ในเรื่องของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การใช้เทคโนโลยีในการนำเสนอข้อมูล การใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ผลงาน หรือผลิตภัณฑ์ และที่สำคัญเราได้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนเผชิญกับปัญหา หรือสถานการณ์ที่ท้าทาย เพื่อให้นักเรียนได้นำความรู้กระบวนการและเจตคติ ไปแก้ปัญหานั้น ๆ ด้วยศักยภาพที่ตนมีอยู่ตลอดเวลา ในการแก้ปัญหาของนักเรียน บางครั้งแก้ได้ สำเร็จ บางครั้งแก้ไม่ได้ แต่ครูก็ต้องคอยชี้แนะ ให้กำลังใจ ให้ข้อเสนอแนะ เพื่อให้นักเรียนเริ่มต้นใหม่ สู้ใหม่ จนในที่สุดนักเรียนหลาย ๆ คน ก็เริ่มค้นพบทางออก เริ่มแก้ไขปัญหานั้น ๆ ได้สำเร็จ สิ่งที่นักเรียนทำสำเร็จ พวกเราเรียกว่า สมรรถนะ
นิเวศการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปสู่แก่นเเท้หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ
ดังนั้นในการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียน ครูจะไม่ใช่ผู้ให้ความรู้และผู้บอกคำถามอีกต่อไปแล้ว ครูต้องพยายามใช้ทุกวิธีการที่จะนำพานักเรียนให้ค้นพบและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุด คือ การฟังนักเรียน ฟังว่าเค้ารู้อะไรมาแล้วบ้าง ฟังว่าเขาเคยทำอะไรมาแล้วบ้าง และฟังว่าเขารู้สึกอย่างไร เมื่อครูฟัง ครูก็จะสามารถจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับนักเรียน และพากันไปสร้างองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับเขา เพื่อให้ได้นำองค์ความรู้ที่ค้นพบ ไปสร้างชิ้นงาน สร้างผลงาน สร้างสรรค์นวัตกรรม จนเกิดเป็นสมรรถนะในที่สุด
ดังนั้นหากจะถามว่า นำสมรรถนะไปปรับกับบริบทของโรงเรียนได้อย่างไรนั้น อันดับแรกก็คงจะได้จากเรื่องเล่าที่ได้กล่าวไปแล้วแต่ก็ยังมีรายละเอียดที่สำคัญ ในขั้นตอนหลังจากที่เรารู้จักบริบทของตนเองแล้วตั้ง School Concept ของตนแล้ว ก็หมายความว่า เรามีเป้าหมายในการเดินทางว่าเราจะเดินไปทางทิศไหน และมีเป้าหมายว่าเราเดินไปเพื่อพบอะไรนั่นเอง เราจึงต้องมาร่วมกัน สร้างหรือกำหนดวิธีการเดินทางว่าเราจะขึ้นรถ เครื่องบิน นั่งเรือ หรือจะเดินไป การเดินไปเราจะไปคนเดียว ไปเป็นคู่ ไปเป็นกลุ่มเล็กหรือจะไปเป็นกลุ่มใหญ่ การสร้างสมรรถนะให้เกิดขึ้นกับนักเรียนก็เช่นเดียว เมื่อมีเป้าหมายแล้วว่า หน้าตาเด็กของเราหรือผลลัพธ์การเรียนรู้ (DOL) เด็กจะเป็นมีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ สื่อสารและใช้เทคโนโลยีด้วยความชาญฉลาด รักและภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ครูและโค้ชจึงช่วยกันกำหนดองค์ประกอบที่หล่อหลอมให้เด็กเรามีหน้าตาตามที่เราได้กำหนดไว้ จึงได้ร่วมกันกำหนดสมรรถนะของผู้เรียน จำนวน 4 สมรรถนะ ได้แก่
สมรรถนะภาษาสู่สากล
สมรรถนะผู้ประกอบการสร้างสรรค์
สมรรนถะพลเมืองเข้มแข็งสมรรถนะ
สร้างสรรค์นวัตกรรม
แล้วจึงร่วมกันกำหนดสมรรถนะย่อย และพฤติกรรมบ่งชี้ จากนั้นจึงร่วมกันออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ แบบบูรณาการขึ้น โดยครูทุกคน ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้มาช่วยกันออกแบบ ถอดตัวชี้วัด ถอดมาตรฐานของแต่ละกลุ่มสาระออกมาเพื่อเชื่อมโยงเข้ากับแผนการจัดการเรียนรู้ และในขั้นตอนการนำแผนการจัดการเรียนรู้ไปใช้ ส าคัญที่สุด เพราะครูทุกคนมีโจทย์เหมือนกันว่า จะสร้างเด็กให้ได้หน้าตาตาม DOL ที่เรากำหนดไว้ ได้อย่างไร การดำเนินการขั้นนี้ผู้อำนวยการโรงเรียนมีส่วนที่สำคัญที่สุด ที่จะชวนครูคิด ออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ ที่มีองค์ประกอบครบทั้งด้านวัตถุประสงค์ ด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ และด้านการวัดประเมินผล ซึ่งเราจะเรียกว่าแผน (OLE) และจะต้องมีการทำกระบวนการ PLC และ CRC รวมถึงนิเทศติดตาม ทุกระยะ ดังนั้น ไม่เป็นการง่าย ๆ เลยที่จะสร้างสมรรถนะให้เกิดขึ้นกับนักเรียนได้ แต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าที่เราจะทำได้ แต่จากที่ได้เล่าไปแล้ว ว่าทุก ๆ การเดินทางไป เราต้องกำหนดทิศทาง กระบวนการ วิธีการ ให้รอบคอบ ทั้งยังต้องมีการตรวจสอบติดตามผลเป็นระยะ ๆ การนำหลักสูตรฐานสมรรถนะจึงจะสามารถนำไปไปใช้ได้อย่างมีคุณภาพและทำให้นักเรียนเป็นผู้ที่มีสมรรถนะได้จริง
เมื่อเปลี่ยนเป็นหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะจึงค้นพบว่า
ผลระทบหลังจากการที่โรงเรียนได้ทดลองนำหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะมาใช้ทำให้เราเห็นว่า นักเรียนของเรา สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข นักเรียนสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ สามารถเล่าเรื่องที่เขาได้สัมผัสว่าก่อนที่จะได้ชิ้นงานมาแต่ละชิ้นเขาได้พบปัญหาอย่างไร และเรียนรู้ที่จะแก้ไขมันได้อย่างไร เขาสามารถทำโครงงานที่เขาสนใจ เขารักที่จะเรียนรู้ ซึ่งก็แสดงว่า เขาได้เป็นเจ้าของสิ่งที่เขาเรียนรู้ไปแล้ว ส่วนผอ.และครูได้รับการฝึกฝน ผอ.ได้รับการฝึกฝนให้เป็นโค้ชของครู ครูได้รับการฝึกฝนให้เป็นโค้ชของเด็ก ผอ.และครูมีความมั่นใจในการออกแบบการเรียนรู้ เป็นผู้เรียนรู้ตลอดเวลา ครูมีความมุ่งมั่นทุ่มเทในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานักเรียน ผู้ปกครองและโรงเรียนคือส่วนหนึ่งส่วนเดียวกัน ผู้ปกครองเข้าใจและให้ความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะ จะเห็นได้จากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่นักเรียนไม่สามารถมาเรียนที่โรงเรียนได้ ต้องเรียนอยู่ที่บ้าน ผู้ปกครองเป็นผู้เรียนรู้ด้วยเช่นเดียวกัน ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ในขณะที่อยู่ที่บ้าน จนทำให้ในช่วงโควิด ก็ยังสามารถพัฒนานักเรียนให้เกิดสมรรถนะได้เช่นเดียวกัน
สมรรถนะไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่เรื่องไกลตัว โรงเรียนทุกโรงเรียนสามารถปรับหลักสูตรเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะได้ เพียงแต่ต้องเปิดใจ และตั้งรับสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง รวมทั้งมีระบบการจัดการที่ดี สิ่งที่สำคัญต้องมีโค้ชที่ดี ที่จะช่วยหนุนเสริมให้การดำเนินการไปได้เร็วขึ้น การนำหลักสูตรฐานสมรรถนะมาใช้ เป็นการลดภาระการประเมินของครูได้อย่างดี จากตัวชี้วัดที่มีความใกล้เคียงกันในบางวิชา ก็จะเหลือแค่มาตรฐานที่ชัดขึ้น การวัดประเมินผล เน้นการวัดสมรรถนะที่เกิดขึ้นจากนักเรียนจริง สุดท้าย เราก็จะได้ นักเรียนที่ คิดได้ทำเป็น และเห็นคุณค่า