Korkankru

ก่อการครู บทความ ผู้นำแห่งอนาคต

ภูเขาหลังบ้าน ใกล้เเค่ไหน ก็ไม่เคยไปถึง1 min read

Reading Time: 3 minutes การเรียนการสอนออนไลน์ ตอบโจทย์ครู หรือ ผู้เรียนบางกลุ่ม แต่ยังมีอีกหลายคน หลายกลุ่ม ที่ตกหล่นและกำลังจะหลุดหายไปจากระบบการศึกษาที่มีโรงเรียนทำหน้าที่จัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน “ห้องเรียนธรรมชาติ และชุมชน” จึงเป็นทางเลือกน้อย ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาให้กับครู และกลุ่มนักเรียนดังกล่าวที่เข้าไม่ถึงการเรียนทางไกล หรือเข้าถึง แต่พลังสายตาและหัวใจอ่อนล้า และเหน็ดเหนื่อยเหลือเกินกับการเรียนออนไลน์ โดยเริ่มต้นจากผมเอง ที่มองเห็นปัญหาจากความทุกข์ของตนเอง และความทุกข์ของนักเรียน ที่ต้องทำอะไรสักอย่าง Dec 20, 2021 3 min

ภูเขาหลังบ้าน ใกล้เเค่ไหน ก็ไม่เคยไปถึง1 min read

Reading Time: 3 minutes

 

“การเรียนรู้ คือ ชีวิต”  และ “ชีวิต คือการเรียนรู้”

ครูสอยอ | สัญญา มัครินทร์

 

แล้วธรรมชาติของมนุษย์เรา เรียนรู้ไปทำไม? เรียนรู้กันอย่างไร? และเรียนรู้อะไรกัน? ที่จะทำให้ชีวิตเรา อยู่รอด อยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมาย

มันมีปรัชญาการศึกษา หรือทฤษฎีการเรียนรู้อยู่มากมายทั่วมุมโลก ส่วนตัวผมเองชอบแนวคิดการเรียนรู้จากวงสุนทรียสนทนา ที่พูดถึงพัฒนาการของมนุษย์หรือการเรียนรู้ของมนุษย์เรา คือ “ปัญญา 3 ฐาน สมอง 3 ชั้น” ที่ผมมีโอกาสได้เรียนรู้กับ อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู และแนวคิดหลักของการเรียนรู้แบบองค์รวม (Holistic Learning) ของสถาบันอาศรมศิลป์ เปิดพื้นที่การเรียนรู้ด้วยหัวใจ (Heart) สมอง (Head) และสองมือ (Hands) ตามธรรมชาติอย่างเต็มศักยภาพ ขอขยายความพอให้เข้าใจสั้น ๆ คือ

 

การเรียนรู้

 

1. ฐานกาย (Willing) สมองชั้นต้น ทำหน้าที่ควบคุมเรื่องการแสดงออก ถ้าอยู่ในโหมดปกติ จะแสดงออกถึงความมุ่งมั่น ความกล้า ส่วนโหมดปกป้อง จะแสดงออกตรงกันข้ามกับโหมดปกติ เป็นความไม่มั่นคง ความกลัว การได้ลงมือทำจริง ฐานกายนี้คือช่วงของการเรียนรู้เพื่อการอยู่รอดและปลอดภัย ที่จะพัฒนาสู่ฐานใจที่นำมาสู่ความรู้สึกและการรู้ตัว

2. ฐานใจ (Felling) สมองชั้นกลาง ทำหน้าที่ควบคุมเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก ถ้าโหมดปกติ ก็จะแสดงความรู้สึกด้านบวก ถ้าเป็นโหมดปกป้องก็จะแสดงความรู้สึกด้านลบ การเรียนรู้หรือพัฒนาการช่วงนี้สำคัญมากเพราะการเข้าใจตนเอง คือจุดเริ่มต้นของการเข้าใจ หรือเห็นใจผู้อื่น จะเป็นการผสานทั้งฐานกาย (Willing) และใจ (Felling) ไปด้วยกันที่ว่าของเราเรียนรู้เพื่อการอยู่รอด อยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมาย

3. ฐานคิด (Thinking) สมองชั้นนอก ทำหน้าที่ควบคุมเรื่องความคิด การเชื่อมโยง การวิเคราะห์ การจดจำ จินตนาการ โหมดปกป้อง จะยึดติดแบบแผนเก่า ๆ เดิม ๆ โหมดปกติ จะคิดสร้างสรรค์ ยืดหยุ่น ฐานนี้จะผสานทั้ง 3 ฐาน กาย (Willing) ใจ (Felling) คิด (Thinking) เข้าด้วยกัน

ซึ่งแนวคิดดังกล่าว ยังสอดคล้องกับหลักธรรมทางพุทธศาสนาในหลัก “ไตรสิกขา” คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือแม้แต่ “สติปัฏฐาน 4” กาย เวทนา จิต ธรรม จากแนวคิดและหลักธรรมดังกล่าวข้างต้น มีอิทธิพลต่อผมไม่น้อยในการออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับตนเองและผู้เรียน ได้น้ำได้เนื้อบ้าง ไม่ได้บ้าง ตามเหตุและปัจจัย แวดล้อม

 

 

“ห้องเรียนธรรมชาติ และชุมชน”

เป็นอีก 1 ชุดประสบการณ์เล็ก ๆ ที่ผมออกแบบขึ้นกับคนในชุมชนช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 ระบาดหนักระลอก 4 เอาเข้าจริงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรเลยกับการชวนนักเรียนไปเรียนรู้ และทำกิจกรรมกันในป่า ในชุมชน หรือนอกห้องเรียนกับคนในพื้นที่

แต่ในสถานการณ์นี้ ผู้คนเต็มไปด้วยความกลัว ความกังวล จนต้องกลับไปสู่พื้นที่ปลอดภัย คือ บ้านของตัวเอง ลดการพบปะ และเข้าหาผู้คนในชุมชน และสังคม รวมทั้งโรงเรียนเองก็เลือกใช้การเรียนการสอนออนไลน์ไปก่อนในสถานการณ์ดังกล่าว แน่นอนว่ามันไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด ทั้งเรื่องของความปลอดภัยและประสบการณ์เรียนรู้ของผู้เรียน เพราะความจริงที่เราต่างรู้ชัดกันดีอยู่แล้วการเรียนการสอนออนไลน์ช่วยได้นิดเดียว ตราบใดที่อุปกรณ์พื้นฐานอย่างโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ที่เป็นฮาร์ดแวร์ โปรแกรมการเรียนรู้ แอปพลิเคชัน ปฏิบัติการที่เป็นซอฟต์แวร์ หรือระบบไฟฟ้า และระบบอินเทอร์เน็ต ยังไม่ได้ถูกจัดการดูแลอย่างทั่วถึง ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้จริง

มากกว่านั้น คือทักษะชีวิตในการเอาตัวรอด และอยู่ร่วมกับสถานการณ์โลกยุค VUCA World และอุปนิสัยของผู้เรียนที่มีนิสัยของการใฝ่เรียน ใฝ่รู้ และมีวินัยในการนำพาหรือจัดการเรียนรู้ให้กับตัวเองที่ยังเป็นโจทย์ให้ครู คนในวงการการศึกษา และคนในสังคม กลับมาทบทวนบทบาทของตนเองว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรกันอยู่ และปัจจุบันเราต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้ทักษะและอุปนิสัยดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง ๆ กับผู้เรียนในปัจจุบันที่พวกเขาจะเป็นพลเมืองขับเคลื่อนสังคมในอนาคต

 

การเรียนรู้

 

“ตอบโจทย์อะไร ตอบโจทย์อย่างไร”

การเรียนการสอนออนไลน์ ตอบโจทย์ครู หรือ ผู้เรียนบางกลุ่ม แต่ยังมีอีกหลายคน หลายกลุ่ม ที่ตกหล่นและกำลังจะหลุดหายไปจากระบบการศึกษาที่มีโรงเรียนทำหน้าที่จัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน

“ห้องเรียนธรรมชาติ และชุมชน” จึงเป็นทางเลือกน้อย ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาให้กับครู และกลุ่มนักเรียนดังกล่าวที่เข้าไม่ถึงการเรียนทางไกล หรือเข้าถึง แต่พลังสายตาและหัวใจอ่อนล้า และเหน็ดเหนื่อยเหลือเกินกับการเรียนออนไลน์ โดยเริ่มต้นจากผมเอง ที่มองเห็นปัญหาจากความทุกข์ของตนเอง และความทุกข์ของนักเรียน ที่ต้องทำอะไรสักอย่าง

 

การเรียนรู้

 

เราเริ่มต้นจากการสำรวจนักเรียนของโรงเรียนตนเองว่าในชุมชนนี้มีอยู่กี่คน แล้วจำนวนดังกล่าวมีใครบ้างที่เจอปัญหากับการเรียนออนไลน์ หรือมีปัญหาการเข้าไม่ถึง ทางโรงเรียนเองก็ให้พื้นที่และโอกาสในการสร้างสรรค์ห้องเรียนธรรมชาติและชุมชน

เราโฟกัสที่นักเรียนของโรงเรียนที่ผมสอนก่อนเป็นอันดับ 1 จากนั้นค่อยขยายไปยังนักเรียนในชุมชนที่ผมอยู่ ในช่วงแรก ๆ มีนักเรียนสนใจร่วมกิจกรรม “ห้องเรียนธรรมชาติ และชุมชน” อยู่ 8 คน และห้องเรียนก็เติบโตขึ้นจนถึง 32 คนในครั้งล่าสุด และขยายความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงผู้เรียนกับธรรมชาติและชุมชน ต่อยอดไปไกลหลากหลายมิติ โดยเริ่มต้นครั้งแรก

ภูเขาหลังบ้านที่อยู่ใกล้แค่นี้ แต่แปลกใจหลาย ๆ คนไม่เคยได้ไปเยือน

 

การเรียนรู้

 

 

“ครูคะ รองเท้าที่หนูใส่มาขึ้นเขาวันนี้ หนูยืมเขามา หนูว่าไม่น่าจะรอดค่ะวันนี้”

“หน่อไม้นี้กินได้ไหมคะครู เพิ่งเคยเห็นครั้งแรกเลย”

“ต้นนี้เหรอครับ ต้นช้างร้อง ที่มันคัน ๆ ร้อน ๆ แสบ ๆ”

 

การเรียนรู้

 

“อยู่รอด อยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมาย

เสียงสะท้อนบางส่วนจากการร่วมชั้นเรียนห้องเรียนธรรมชาติในครั้งเริ่มแรก ที่เราเลือกเส้นทางเดินป่า ศึกษาธรรมชาติ ตามรอยเส้นทางของคนในชุมชนที่ให้เส้นทางนี้ในการหาของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ กันอยู่แล้วเป็นปกติ หรือผมเองก็เคยมีประสบการณ์กับเส้นทางนี้ในวัยเด็ก ทำให้ความทรงจำในอดีตของผม และน้อง ๆ ในทีมงานเองก็กลับมาปะติดปะต่อเป็นเรื่องราว ได้เล่าเรื่องให้นักเรียนรับรู้ และแชร์ประสบการณ์ปัจจุบันตรงหน้า และอดีตสู่กันฟัง แม้ขนาดภูเขาที่ชาวบ้านเรียกว่า “ภูช้าง” ตามลักษณะที่เหมือนช้างจะไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากมาย แต่ก็มีคนหลงป่า สูญหายระหว่างทางอยู่บ่อย ๆ

ฝนเริ่มลงเม็ด จากเบา ๆ กลายเป็นหนักขึ้นเรื่อย ๆ การขึ้นเขาของพวกเราเริ่มทุลักทุเล พวกเราและนักเรียนเกือบสิบชีวิตต้องรีบเอาตัวเองหลบฝน หลบใต้ต้นไม้ใหญ่บ้าง ซอกหลืบหินบ้าง ดูทุกคนยังมีร้อยยิ้ม และตื่นเต้นกับประสบการณ์แม้เพียงเริ่มต้นก็พบอุปสรรคตรงหน้าที่มาเร็วกว่ากำหนด

การเรียนรู้

สภาพทางเดินเล็ก ๆ ขึ้นเขา ที่เป็นดินเหนียวเมื่อเจอน้ำ คือความลื่นไหลเป็นสไลด์เดอร์ หลายคนลื่นล้ม เสียงหัวเราะ และเสียงกรี๊ดดังสลับกันเป็นระยะ แต่ทุกคนยังสนุก ชุดนักท่องเที่ยวสายชิลล์ก่อนขึ้นเขา บัดนี้ได้กลายเป็นนักผจญภัยสายเลอะเทอะเปื้อนดินในที่สุด ทั้งครูนักเรียนตอนนี้เราต่างเอาตัวรอด จากการเดินขึ้นเขาสุดหิน และภาพสุดประทับใจงดงามไม่แพ้พืชพรรณนานา คือการอยู่ร่วม ที่ทุกคนช่วยกันดูแลประคับประคองให้เราไปยังจุดเป้าหมายร่วมกันให้ได้และปลอดภัย

 

ฝนหยุดตกแล้ว ความชื้น และละอองฝนจากพื้นล่าง ค่อย ๆ เคลื่อนลอยเป็นกลุ่มหมอกและเมฆขาวไหลผ่านพวกเราใกล้เพียงเอื้อมมือ ในบ่ายวันนี้ ที่ริมหน้าผาจุดหมายปลายทางของพวกเราที่มาถึง

 

การเรียนรู้

 

“นี่บ้านเรา มันสวยขนาดนี้เลยเหรอครับ ผมไปอยู่ไหนมา ทำไมไม่เคยรู้มาก่อนว่าบ้านเราเจ๋งขนาดนี้”

“ครูคะ มันเกินคาดจริง ๆ ที่หนูมาวันนี้ …เหนื่อยมาก โหดมาก แต่ทำไมหนูสนุกและมีความสุขมาก ๆ เลยค่ะ”

“วิวแบบนี้ และหมอกวิ่งไหลผ่านหน้า มันเหมือนในฝันเลย”

“นั้นไงครับ หลังคาโรงเรียน และแท็งก์น้ำประปาหมู่บ้านพวกเรา”

ทุกคนหอบตัวเองตัวเปียกปอนมาจนถึงจุดหมายปลายทาง และของขวัญตรงหน้าคือวิวทิวทัศน์ด้านล่างที่มองเห็นความงดงามของอ่างเก็บน้ำในชุมชน ภูเขาน้อยใหญ่ ทุ่งกว้างสีเขียวอยู่ใกล้ ๆ คืออ้อย พืชเศรษฐกิจของชุมชน และเหมือง โรงโม่หินขนาดย่อม คือความจริงตรงหน้าติดกับความงาม สะท้อนความจริงที่เกิดคำถามมากมายจากนักเรียน และสมาชิกของห้องเรียนธรรมชาติครั้งนี้

 

การเรียนรู้

 

การเรียนรู้

 

“ผมเห็นตอต้นไม้ใหญ่ หลายต้นมากครับระหว่างทางบนเขา เขาเอาลงไปได้อย่างไร”

“ครูครับโรงโม่หินนี่ มันมีนานแค่ไหนคับ”

“ก่อนหน้าที่โรงโม่หิน ตรงนี้หน้าตามันเป็นอย่างไร”

“ถ้าหนูไม่ได้ขึ้นมาจุดนี้ คือไม่รู้เลยว่า โรงโม่หินมันจะใหญ่และกว้างขนาดนี้”

“แล้วหินบ้านเรา จากภูเขาบ้านเรา มันถูกขนส่งไปไหนต่อคะครู”

“แปลกใจค่ะ ทำไมโรงโม่หินก็อยู่ใกล้ แต่ทำไมถนนหนทางบ้านเรายังแย่อยู่เลย”

ดูเหมือนวิวความงาม และความจริงตรงหน้า จะเป็นตัวกระตุ้นความรู้สึก ความคิด ให้ประเด็นความสงสัย สนใจใคร่รู้กับผู้เรียนห้องเรียนธรรมชาติและชุมชนครั้งนี้อยู่ไม่น้อย

หลายคำถาม มีคำตอบ และหลายคำถาม ก็ไม่มีคำตอบจากครู และผู้ร่วมเรียน แต่สิ่งที่เราเห็น รู้สึก และสัมผัสได้ในประสบการณ์สั้น ๆ เกือบ 5 ชั่วโมงภาคบ่ายวันพุธครั้งนี้ คือบทเรียนธรรมชาติที่เราต้องเอาตัวรอดให้ได้จากการเดิน ปีน และมุดป่าขึ้นเขา อยู่ร่วมกันในการดูแลกันและกัน แบ่งปันน้ำ ขนมและมากกว่านั้น เราได้ตั้งคำถาม สนทนาถึงความงาม ความดี ความจริงตรงหน้า ที่ผมตีความเอาเองว่าคืออาการอยู่อย่างมีความหมาย และจากการตั้งคำถาม หาคำตอบ จากจุดเล็ก ๆ นี่แหละ ที่จะนำไปสู่การลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่าเดิมตามศักยภาพ กำลังกาย กำลังใจ และกำลังสติปัญญาของเรา

 

ห้องเรียนธรรมชาติและชุมชนครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่นำพาตัวเองและผู้เรียนได้ออกจากจอห้องเรียนออนไลน์ ปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอมือถือ มาเปิดประสบการณ์ให้อายตนะทั้ง 6 ได้เปิดประตูและสัมผัสรับรู้ ความดี ความงาม และความจริงตรงหน้า เพื่อปลุกพลัง เห็นความเชื่อมโยงของตนเองกับธรรมชาติ และชุมชน ดึงศักยภาพภายใน และทักษะชีวิตของผู้เรียนให้มีชีวิตชีวาร่วมกันอีกครั้งในสถานการณ์ที่ความกลัว และความกังวลของโรคระบาด

ห้องเรียนธรรมชาติและชุมชน เรายังมีเรื่องเล่า บทเรียนที่ทำต่อเนื่องกันมาตลอดเกือบ 3 เดือน มาแบ่งปันกันยาว ๆ ในตอนต่อไปนะครับ

 

———————————————————————————————————

งานเขียนภายใต้ความร่วมมือเเละเผยเเพร่ร่วมกันระหว่าง ก่อการครู x The Active

อ่านงานจาก The Active คลิก

 

 

 

Your email address will not be published.