คำตอบที่เด็กอยากบอก สำคัญกว่าคำตอบที่ครูอยากได้
Reading Time: 2 minutes“เราเห็นนักเรียนไม่มีความสุข เขาจะเงียบมากเลย ไม่โต้ตอบ หรือถามตอบอย่างไม่เป็นธรรมชาติ เราก็ถามตัวเองนะว่าเพราะเด็กกลัวเราหรือเปล่า หรือเป็นเพราะเราไม่ค่อยฟังเขาเลย”
คือความทุกข์ที่ ครูเก๋ – เวฬุรีย์ ชินคง กำลังเผชิญให้ห้องเรียนของเธอ และเป็นเหตุผลของการเข้าร่วมหลักสูตรก่อการครู ในห้องเรียนทักษะการโค้ชเพื่อครู โดยเธอได้ฉายภาพบรรยากาศของห้องเรียนก่อนหน้านี้ว่า
“แต่ก่อนเราไม่ฟังใครเลย ถึงฟังก็ฟังน้อยมาก จะพูดตลอดเพราะพูดไม่คิด พอมาเรียนตั้งแต่ โมดูล 1 ครูคือมนุษย์ 3 วันเต็มๆ รู้สึกได้เลยว่า เราควรจะฟังและพูดให้น้อยลง ทุกทีเราไม่ฟังและพูดอย่างเดียว หรือตัดสินเด็กก่อนแทนที่จะถามเขา บางทีเราก็ใช้คำถามปลายปิดสั้นๆ จะไม่ถามว่า ทำไมถึงทำแบบนี้ มีแค่ว่า ทำหรือไม่ได้ทำ”
เพราะหน้าตาที่หมองหม่นทั้งครูทั้งนักเรียน ทำให้ครูเก๋คิดได้ว่า คงถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่าง โดยในห้องเรียนของก่อการครู ครูเก๋ได้อาสานั่งเก้าอี้สาธิตการโค้ช ผ่านเครื่องมือของ การฟังอย่างลึกซึ้ง และการตั้งคำถามอันทรงพลัง โดยเธอเป็นผู้ถูกโค้ช และ ครูเปิ้ล – อธิษฐาน คงทรัพย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกระบวนกรของก่อการครู คือผู้โค้ช โดยมีเพื่อนครูนั่งรายล้อมเพื่อสังเกตการณ์
“ตั้งแต่กระบวนการที่ได้ไปนั่งเป็นผู้ถูกโค้ช ทำให้เรารู้สึกว่า มันสามารถนำไปใช้ได้จริง ถ้าเราตั้งคำถามเข้าไปว่าลึกๆ เพื่อช่วยให้นักเรียนแก้ปัญหาด้วยตัวเขาจริงๆ และทำให้นักเรียนกล้าที่จะพูดกับเรา เปลี่ยนจากที่เราเคยถามเขาว่า ทำแบบนี้ใช่ไหม! เปลี่ยนเป็นว่า เพราะอะไร สาเหตุใด ทำไม เล่าให้ฟังหน่อย ซึ่งน้ำเสียง ภาษากายและการฟัง คือสิ่งสำคัญ” ครูเก๋ว่า
จากครูผู้พูดหน้าชั้นเรียน โดยมีนักเรียนเป็นผู้ฟัง คราวนี้ ครูเก๋ได้นำทักษะการโค้ชไปใช้ในห้องเรียน ซึ่งแน่นอนว่า วิธีการที่เปลี่ยนไปอาจจะไม่ได้ให้ผลลัพธ์ในทันที แต่สิ่งที่เธอรับรู้ได้ คือหน้าตาของนักเรียนที่เปลี่ยนแปลงไป… พวกเขามีเสียงหัวเราะ และรอยยิ้ม
“มีอยู่เคสหนึ่งที่เราคิดว่า เราควรเข้าไปโค้ชเขา ซึ่งเด็กค่อนข้างที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับที่บ้าน เค้าจะมีปัญหาขโมยเงินขโมยของ แล้วแม่ไม่อยู่ ทิ้งไว้ลำพังค่ะ และเราไม่รู้มาก่อน ก่อนหน้านี้เราก็เคยถามแหละ บางทีเราก็ถามด้วยความรู้สึกมากไปหน่อย ไม่ได้ใช้การโค้ชเพื่อแก้ปัญหา เราก็เลยรู้สึกว่าเคสเนี่ยน่าจะลองทำโดยใช้ทักษะการโค้ชค่ะ
“ซึ่งพอนำทักษะนี้ไปใช้โค้ชนักเรียน ทำให้เราตระหนักว่า ทุกอย่างมันมีที่มาที่ไป ซึ่งก่อนหน้านี้เรามักจะถามแล้วก็ตัดสินไปเลย แต่ปัจจุบัน เราเริ่มหาสาเหตุแล้วว่า แล้วทำไมถึงเป็นแบบนี้ สาเหตุแท้จริงที่ทำให้เขาต้องขโมย หรือทำไมเด็กตื่นเช้ามาตุ่มยุงเต็มตัวเลย เพราะอะไร
“ซึ่งเด็กบางคนก็ค่อนข้างมีอะไรข้างในโดยที่เขาไม่ได้เล่าให้เราฟังทั้งหมด ถ้าเราไม่ได้ลงลึกเรื่องการโค้ชแบบนี้ เราอาจจะใช้วิธีการถามแบบเดิมๆ โดยที่คำนึงแต่คำตอบที่เราอยากได้ มากกว่าคำตอบที่เด็กอยากบอก”
เมื่อครูเปลี่ยน ห้องเรียนก็เปลี่ยน แววตานักเรียนก็เปลี่ยนด้วย คำเหล่านี้ไม่ได้กล่าวเกินจริง เพราะเมื่อครูเก๋กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ห้องเรียนก็เปลี่ยนตาม ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนที่ถูกถักทอขึ้นมาใหม่ ในแบบที่ครูเก๋ยิ้มได้ และนักเรียนหัวเราะออก
“ก่อนหน้านี้เราเห็นแต่ตัวเอง คิดแค่ว่าวันนี้เราจะสอนอะไร ไม่ได้คำนึงว่าเขาพร้อมที่จะเรียนไหม หรือวันนี้รู้สึกอย่างไร ไม่เคยมีคำถามแบบนี้ออกมาจากปากเราเลย เด็กมาถึงก็เรียนอย่างเดียว แต่ตอนนี้เขาดูมีความสุขมากขึ้น จากที่นักเรียนไม่กล้ามาคุยกับเรา หรือเวลามีนักเรียนมาฟ้อง เราจะตัดสินนักเรียนคนนั้นเลยว่า ฟ้องใช่มั้ย แต่พอเราเริ่มรู้สึกว่าวิธีการนี้มันไม่เวิร์ค แล้วยิ่งได้มาทำความเข้าใจทักษะต่างๆ เราก็เปลี่ยนวิธีการ โดยจะฟังเรื่องราวของนักเรียนมากขึ้นว่าเกิดอะไร ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ให้เค้าได้มีโอกาสบอกเล่าในสิ่งที่เค้าทำผิดหรือปัญหาที่เขากำลังเผชิญ
“อย่างเมื่อก่อนเด็กไม่ส่งการบ้าน เราไม่เคยถามเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ส่ง เราทำโทษไปเลย แต่ตอนนี้เราจะเริ่มถามว่า ทำไม เกิดอะไรขึ้น พบว่าบางคนเขามีเหตุผลของเขา เช่นว่า พ่อพาไปธุระข้างนอกกลับมาก็ดึกแล้วแถมครูสั่งว่าห้ามทำที่โรงเรียน โอเค นี่เป็นความผิดของเรา เราเริ่มฟังมากขึ้นแล้วก็พยายามจะเข้าใจเหตุผลของเขาด้วย”
ก่อนมายังก่อการครู ครูเก๋คือหนึ่งในครูที่ผ่านการเข้าอบรมมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ทว่าห้องอบรมที่ผ่านมา ครูเก๋บอกว่า นอกจากจะไม่ได้อาวุธในการสอนแล้ว ยังเพิ่มภาระและพรากวันพักผ่อนไปจากครู
“เรารุู้สึกขัดแย้งกับการอบรมมาตลอด รู้สึกว่าไม่ใช่ มันใช้ไม่ได้ผล ครูที่โรงเรียนของเราจะต่อต้านเรื่องพวกนี้มาก เพราะก่อนหน้านี้เวลาเรามีคำถาม วิทยากรให้คำตอบเราไม่ได้ หรือการมานั่งฟังการบรรยายจากวิทยากร เรานึกภาพไม่ออก
“แต่พอมาที่ก่อการครู เรารู้สึกได้ ทุกครั้งที่เราถาม เราได้คำตอบ ได้เรียนรู้อย่างเข้าใจในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการ และที่สำคัญคือเอาไปใช้ได้จริง เราเอาไปเล่าให้ครูที่โรงเรียนฟังว่ามันไม่น่าเบื่อเหมือนอบรมอื่นๆ มันสนุก ถ้าเป็นอบรมครูแบบที่ผ่านมา เราคิดตลอดว่า เมื่อไหร่จะเย็น เมื่อไหร่จะเลิก เมื่อไหร่จะออก แต่มานี่เรารู้สึกว่า เฮ้ย กิจกรรมหน้าจะเป็นอะไรนะ”
“เราเอากิจกรรมของก่อการครูไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมที่โรงเรียนแล้วมันโอเคมาก เราได้รู้ความคิดของเด็กที่มีต่อเรา อย่างกิจกรรมที่จำลองบทบาทเป็นครู ผู้อำนวยการ เป็นผู้ปกครอง เป็นเด็ก เราก็ลองให้เด็กทำกิจกรรมนี้ ว่าถ้าหนูเป็นครู เป็นพ่อแม่ และเป็นตัวเอง จะเป็นยังไง เราได้เข้าใจในมุมมองของเขาว่า เราควรจะเป็นครูแบบไหนในแบบที่เขาต้องการ และได้มาสะท้อนตัวเองว่า การที่เราได้มาตรงนี้มันก็เหมือนจุดไฟให้เราใหม่ จากอารมณ์ที่เบื่อ ตื่นเช้ามาไม่อยากมาโรงเรียน ทั้งปัญหาในองค์กร ทั้งกระบวนการเรียนการสอนที่เราไม่โอเค มันทำให้ทุกเช้าของการมาโรงเรียนเปลี่ยนไป เราสดใสขึ้น” ครูเก๋ยิ้มกว้าง