ก่อการครู – Korkankru

บัวหลวงก่อการครู

‘ตลาดวิชา’ ห้องเรียนกลางตลาดที่พาครูและเด็กออกไปเรียนรู้จากชีวิตจริง

Reading Time: 3 minutes “การสอนตามเนื้อหาในหลักสูตรนั้น แท้จริงแล้วเด็กควรเรียนเรื่องนี้หรือเปล่า เขาจะได้ประโยชน์อะไร ดังนั้นการนำ การเรียนรู้อย่างแท้จริง (Authentic Learning) เข้าสู่ห้องเรียน จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้” Jul 20, 2022 3 min

‘ตลาดวิชา’ ห้องเรียนกลางตลาดที่พาครูและเด็กออกไปเรียนรู้จากชีวิตจริง

Reading Time: 3 minutes

“ฉันเรียนเรื่องนี้ไปทำไม”

“ฉันเรียนเรื่องนี้แล้วจะเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร?”

“ทำไมฉันต้องรู้เรื่องนี้”

“ทำไม…”

ย้อนไปในความทรงจำ ฉันและคุณล้วนผ่านห้องเรียนมามากหลายรูปแบบเมื่อครั้งเป็นนักเรียนวัยกระเตาะ บ้างก็เป็นห้องเรียนที่สนุกสนาน ได้ลงมือทำ และได้นำประสบการณ์มาเชื่อมโยงกับบทเรียน หรือบ้างก็เป็นห้องเรียนที่เราต่างหันหน้าเขาหากระดาน มือขวาถือปากกา ดวงตาจ้องเขม็งบนกระดาน หูก็ต้องคอยฟังเนื้อหาตามหนังสือ ขณะที่เสียงในหัวของเราก็อื้ออึงไปด้วยประโยคที่ว่า ‘ทำไมฉันต้องเรียนเรื่องนี้’ ‘ฉันจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรในชีวิตจริง’ 

คำถามเหล่านี้สะท้อนภาพเช่นไรในภูมิทัศน์ของการศึกษาไทย เราจึงชวน ครูเปี๊ยก-ดร.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในวิทยากรของโครงการก่อการครู มาบอกเล่าถึงการนำ Authentic Learning (การเรียนรู้อย่างแท้จริง) มาอุดช่องว่างระหว่างเนื้อหาและประสบการณ์ของผู้เรียนในชื่อกิจกรรม ‘ครูคือกระบวนกร’ สู่การสร้างกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้สัมพันธ์กับชีวิตของผู้เรียน เพื่อการเรียนรู้ที่มีความหมายและนำไปใช้ได้จริง ภายใต้ร่มใหญ่ใจความที่ว่า

“การสอนตามเนื้อหาในหลักสูตรนั้น แท้จริงแล้วเด็กควรเรียนเรื่องนี้หรือเปล่า เขาจะได้ประโยชน์อะไร ดังนั้นการนำ การเรียนรู้อย่างแท้จริง (Authentic Learningเข้าสู่ห้องเรียน จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้”

ทำไมครูต้องเป็น ‘กระบวนกร’

เราคิดว่า กระบวนกรคือคนที่ออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ เป้าหมายคืออยากให้ครูได้ฝึกการออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีความหมายทั้งกับตัวเขาและตัวผู้เรียน เราคิดว่า ครูเขามีการเดิมพันในชีวิตค่อนข้างสูงนะ คล้ายๆ กับหมอ เพราะหมอต้องดูแลคนไข้ เขาก็เดิมพันชีวิตคนไข้ ส่วนคุณครูดูแลเด็ก เขาเดิมพันชีวิตเด็ก ความหมายคือ ถ้าครูทำอะไรผิดพลาดไป หรืออะไรที่ไม่ถูกต้อง มันคือชีวิตเด็กคนหนึ่ง หรืออาจจะหลายคน 

ครูจึงกดดันตัวเอง และเป็นเรื่องยากในการที่เขาจะทดลองอะไรใหม่ๆ ยากมากที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเพราะมันเดิมพันด้วยชีวิตของเด็ก กลายเป็นว่า ครูทำแบบที่เคยทำมามันเซฟกว่า ผมเลยคิดว่า หลักสูตรก่อการครูในโมดูล 3 ครูคือกระบวนกร คือโอกาสที่จะได้ลองอะไรใหม่ๆ และเป็นพื้นที่ทดลองที่ปลอดภัยของครู

เปรียบเหมือนว่าถ้าเป็นนักวิยาศาสตร์ ก็มีแล็บทดลอง ครูก็ต้องมีพื้นที่นั้นเช่นกัน? 

ใช่ ถ้าเรามีโอกาสที่ครูจะได้ลองคิด มีพื้นที่ให้ทดลองทำ และลองดูว่ามันจะเป็นอย่างไร  และเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยด้วยเพราะทำกับเพื่อนครู ช่วยกันคิด ช่วยกันกรอง มีวิทยากรช่วยดูและเช็คว่ามันโอเคไหม เหมือนเป็นพื้นที่ให้ครูได้ลองก่อนจะเอาไปใช้กับเด็กจริงๆ พอถึงตอนนั้นผมว่า ครูจะรู้สึกโอเคมากขึ้น รู้สึกกล้าที่จะเอาไปใช้มากขึ้นเพราะอย่างน้อยๆ มันถูกทดลองใช้มาแล้ว เหมือนหมอที่ผ่านการศึกษา ผ่านการทดลองในแล็บมาแล้วบอกได้ว่า ยานี้เวิร์คนะ มั่นใจที่จะเอาไปใช้กับคนไข้ โมดูลนี้ก็อารมณ์เดียวกัน 

สิ่งที่ก่อการครูกำลังทำอยู่ ต่างอะไรกับการอบรมทั่วไปที่เขาทำๆ กันมา 

ก็ไม่ค่อยแน่ใจนะครับ (หัวเราะ) แต่ที่เราเคยเห็นคือ ส่วนใหญ่วิทยากรเขาก็จะนำสิ่งที่เรียกว่า ยาดี เอามาให้ครู แต่ว่ามันเป็นยาดีในมุมที่คนอื่นเคยทำมา ยาดีที่อาจจะได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเคยใช้กับกลุ่มตัวอย่างหนึ่งแล้วเวิร์ค ซึ่งอาจจะเป็นคนละกลุ่มตัวอย่างกับที่ครูกำลังเจออยู่ แล้ววิทยากรเขาก็เอามาบอกต่อว่ามันทำ หนึ่ง – สอง – สาม – สี่ยังไง เอกสารมีพร้อม อะ เอาไปทดลองใช้กันนะ 

แต่เรารู้สึกว่าอยากจะให้ประสบการณ์กับครู หรืออยากให้เวทมนตร์ในตัวครูมีส่วนในการออกแบบงานชิ้นนี้ด้วย หมายความว่า ตัวทฤษฎีก็มี แต่การทำงานจริงมันควรจะยืนอยู่บนบริบทของตัวครูเองด้วย ให้มีความเป็นตัวครูอยู่ข้างนั้นด้วย 

เป็นเหตุผลที่ก่อการครูไม่มานั่งบอกว่าอะไรคือยาดี แต่ให้ลงมือทำเพื่อพิสูจน์?

ใช่ การอบรมของก่อการครูจึงไม่ใช่การมาตั้งหน้าตั้งตาบอกว่า ควรจะทำอย่างไรแต่เราจะชวนเขาทำไปด้วยกัน อาจจะทำให้ดูก่อนว่า แนวทางการออกแบบชั้นเรียนในหน้าตาที่มันมีคุณค่า มันทำแบบนี้นะ พอทำให้ดูเสร็จ อะ มาทำด้วยกัน ให้ครูมาช่วยกันออกแบบกระบวนการ มีวิทยากรลงไปประจำกลุ่ม แล้วพออีกวันหนึ่ง ก็ให้ครูลุยเองเลย มาเป็นพระเอกนางเอก มาลองสอนเพื่อนครูด้วยกันเอง ผมว่ามันทำให้เขาเรียนรู้วิธีการสอนใหม่ๆ การออกแบบใหม่ๆ ผ่านประสบการณ์ตรงของเขาเอง และได้เอาไอเดียดีๆ จากเพื่อนมาร่วมกันด้วย ทำให้การเรียนการสอนที่เขาออกแบบหรือสิ่งที่เขาจะเอากลับไปใช้นั้น มันสอดคล้องกับบริบทของตัวครูเอง และมีค่าในแง่ที่ว่า มันมาจากเครื่องมือดีๆ ของเพื่อนๆ ที่อยู่บนบริบทเดียวกันด้วย 

และเป็นเหตุผลที่เลือกใช้เรื่อง Authentic Learning  (การเรียนรู้อย่างแท้จริง) มาเป็นพื้นฐานในกิจกรรม? 

ส่วนตัวเราคิดว่า การเรียนรู้ที่มีความหมายนั้น ต้องสัมพันธ์กับชีวิตของเรา เด็กควรจะรู้ว่าในห้องเรียนนี้ เขาเรียนไปทำไม มันโยงกับชีวิตเขาตรงไหน และมีโอกาสเอาความรู้นี้ไปใช้ยังไงได้บ้าง ซึ่งแนวคิดเรื่องนี้มันมีมาตั้งแต่โครงการก่อนที่ผมทำกับเพื่อน ชื่อโครงการว่าพี่เลี้ยงอุดมศึกษา ตอนนั้นเราก็ทำงานกับคุณครู 5 โรงเรียนในจังหวัดปทุมธานี แล้วเราก็ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นหัวใจหลักว่า ถ้าจะพูดถึงการออกแบบการเรียนการสอน เราอยากให้การเรียนการสอนนั้นเชื่อมกับชีวิตจริงของนักเรียน พอเริ่มมาแบบนั้น แล้วรู้สึกว่าคุณครูได้ออกแบบการเรียนการสอนที่น่าสนใจหลายๆ ชิ้นมากๆ เราก็มาปรึกษากับทีมนี้ว่าเอาเรื่อง Authentic Learning มาเป็นแกนจะดีกว่า

เสน่ห์อีกอย่างคือ Authentic Learning มันไม่จำกัดว่าครูจะใช้วิธีอะไร มันค่อนข้างเปิดกว้าง จับเพียงแค่แกนสำคัญว่า ไม่ว่าคุณจะสอนเรื่องอะไร ไม่ว่าคุณจะสอนด้วยวิธีอะไรก็ตาม ขอให้เรื่องนั้นมันอยู่ในบริบทชีวิตผู้เรียน ให้เขาได้เรียนรู้เนื้อหาวิชาโดยการเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้น ที่เป็นชีวิตจริงที่เด็กต้องเจอ

ก่อนหยิบเรื่อง Authentic Learning มาใช้งาน ห้องเรียนของครูเปี๊ยกมีหน้าตาอย่างไร

เราก็เคยเป็นอาจารย์ที่สอนตามหนังสือ หนังสือว่าอย่างไรเราก็ว่าอย่างนั้น แต่พอมาอยู่คณะการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาให้ความสำคัญกับการที่นักศึกษาได้เรียนในบริบทจริง เพราะเชื่อว่ามันจะสร้างความหมายให้กับการเรียนรู้ได้จริงๆ พวกเขาได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้นั้นจริงๆ และครูก็เรียนรู้ไปกับเขาด้วย เราประทับใจกับวิธีการเรียนการสอนแบบนี้ และคิดว่า เอ้อ มันก็น่าจะเป็นการศึกษาที่มันควรจะเป็นนะ 

ออกแบบการเรียนรู้อย่างไรในห้องเรียนของตัวเอง

ในส่วนของห้องเรียน เราให้นักศึกษาปีสองเรียนรู้ที่จะสร้างการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน สร้างการเรียนรู้ในบริบทที่หลากหลาย วิธีการที่เราใช้คือ ให้เขาไปลงพื้นที่ ได้รู้จักชุมชน ให้เขาคิดประเด็นการเรียนรู้ในชุมชนด้วยตัวของเขาเอง โอเค มันอาจจะทำแบบนี้ตรงๆ ในโรงเรียนไม่ได้หรอก แต่เราก็คิดว่าจะหาวิธีการไหนดีที่จะชวนให้คุณครูได้ลองพานักเรียนไปดูโลกจริงดูบ้าง ก็ลองออกแบบกิจกรรมว่า ก่อนที่ครูจะพานักเรียนลงไปดูพื้นที่จริง เราต้องพาครูไปก่อน จะได้เห็นว่ามันมีอะไรอยู่ในโลกนี้บ้าง และจะหยิบจับมาเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่ตัวเองสอนอย่างไร 

Authentic Learning สำคัญอย่างไรในการสร้างกระบวนการเรียนรู้

เราเน้นเรื่องของ Authentic Learning แต่ไม่ได้ยกทฤษฎีหรือโมเดลที่เขาพูดไว้มาตรงๆ เสียทีเดียว เช่นในหนังสือเขาบอกว่า Authentic Learning ควรจะมีรูปแบบ หนึ่ง สอง สามสี่ และเราไม่ได้บอกว่า โอเค คุณทำตามนี้นะ เพราะในความรู้สึก มันเป็น เหมือนการยัดเยียดว่าเขาควรจะทำอะไรโดยที่มันอาจจะไม่ได้เป็นตัวเขาก็ได้ วิธีการที่ต่างไปคือ ให้เขาได้ลองทบทวนว่า จริงๆ แล้วการสอนที่มีความหมาย และเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริงสำหรับเขา ควรจะมีรูปแบบอย่างไร หรือประสบการณ์ที่ครูเคยผ่านมา มันมีหน้าตาเป็นอย่างไร ส่วนวิธีการ 1-2-3-4 เหล่านั้น จะออกจากตัวเขาเอง และสิ่งเหล่านี้จะติดตัวเขาไป ทำให้เขาจะนึกออกอยู่เสมอเวลาไปดีไซน์กิจกรรมในห้องเรียน 

สังเกตว่า หนึ่งในหลายๆ กิจกรรมคือพาครูไปตลาด กระบวนการนี้สำคัญอย่างไร

ครูเขาก็ถามนะ ว่า ‘ทำไมต้องไปตลาด’ เราบอกเขาไปว่า เราอยากได้ความสด ความสดในที่นี้หมายถึง ประสบการณ์ที่ใหม่จริงๆ เป็นครั้งแรกที่ครูได้ออกแบบกิจกรรมนี้จริงๆ เรารู้สึกว่า ถ้าทำกิจกรรมออกแบบการเรียนรู้เลยโดยที่ไม่ไปลงพื้นที่ เช่น ตลาด เขาก็จะเอาของเก่ามา reuse นั่นคือนำสิ่งที่เคยทำมา เคยเรียนมา เอากลับมาใช้ใหม่ และเรารู้สึกว่ามันไม่ได้ฝึกการออกแบบ มันคือฝึกเอาของเก่ากลับมาใช้ใหม่ ถ้าจะฝึกการออกแบบมันต้องใหม่จริง และเมื่อไปตลาด ทุกคนจะมีโจทย์เดียวกัน ที่เปิดโอกาสให้หัวข้อเกิดขึ้นได้หลากหลาย มันตอบโจทย์นี้ 

นอกจากตลาดที่เราพาครูไปรียนรู้ เราเคยพาไปวัดด้วย เพราะมีความรู้สึกว่าทุกที่ในประเทศไทยจะมีสองอย่างนี้เสมอ คือมีตลาดและวัด สองที่นี้มีความรุ่มรวยในสิ่งที่จะหยิบมาสอนต่อ ทั้งแง่ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา สังคม วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ มีหมด สิ่งที่พบคือ ครูมีไอเดียการสอนที่เราคาดไม่ถึงเยอะมาก พอเราเห็นจุดแข็งตรงนั้น จึงคิดกันว่า เราเอามาทำในก่อการครูบ้างดีไหม และคิดว่า ‘โมดูล 3 ครูคือกระบวนกร’ คือพื้นที่ที่เหมาะแก่การเปิดให้ครูได้ออกแบบการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กับชีวิตนักเรียน 

อะไรคือจุดมุ่งหมายของกระบวนการที่ออกแบบให้ครูได้ลงพื้นที่ ลองออกแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ และจำลองห้องเรียนกับเพื่อนครู 

มีสองอย่างครับ หนึ่ง ฝึกออกแบบ สอง ฝึกจัดกระบวนการ เพราะฉะนั้น การฝึกออกแบบคือ ออกแบบอย่างไรให้เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ในชีวิตจริง ที่เป็นเรื่องจริงของผู้เรียน ซึ่งก็ต้องไปดูของจริง และหยิบเรื่องจริงเหล่านั้นมาออกแบบ ที่คุยกับคุณครูก็คือ 

พอออกแบบได้แล้ว อย่างที่สองคือ ฝึดจัดกระบวนการ เพราะเราออกแบบอยู่ในจินตนาการและคาดการณ์เอาว่า เวลาจัดจริง จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ก็จะไม่รู้หรอกว่าจะเป็นเหมือนที่คิดไหม เราจึงต้องมาลองจัดกระบวนการสอนกันจริง เมื่อลองแล้วจะเห็นว่า นอกเหนือจากแผนที่ดีแล้วนั้น การเป็น being ของครูที่ดี การมีทักษะของกระบวนกรที่ดีนั้นจำเป็นในการที่คุณจะจัดกระบวนการ ดังนั้น ครูคือกระบวนกร แปลว่า ครูคือผู้ออกแบบและจัดกระบวนการ 

ยกตัวอย่างได้ไหม

ย้อนกลับไปปีก่อน ก่อการครูรุ่น 1 เช่น ครูโบว์-ลัดดาวรรณ เหล่าเกียรติกุล เธอก็นำกระบวนการจากกิจกรรมนี้ไปใช้ในห้องเรียนวิชาเคมีของตัวเอง โดยเธอถามผู้เรียนว่า ‘เวลาไปตลาด นักเรียนได้อะไรกลับมาบ้าง เช่น สิ่งที่ครูได้กลับมาคือไข่พะโล้ ถุงพลาสติก หนังยาง ถุงหิ้ว แล้วมีอะไรอีกไหมคะ?’ แล้วเธอก็ให้นักเรียนแจกแจงรายละเอียดว่าถ้าพวกเขาไปตลาด จะซื้ออะไร แล้วได้อะไรกลับมาบ้าง จากนั้นครูโบว์จุดประเด็นสั้นๆ ว่า ‘เราได้สิ่งที่กินได้ หรือ กินไม่ได้กลับมามากกว่ากัน’

คำตอบที่ครูโบว์ได้ก็อาจจะไม่ได้ชัดเจนอะไร เด็กๆ ก็พยายามหาคำตอบ อธิบาย หรือตั้งคำถามกลับ จากนั้นครูโบว์ก็ชวนคุยผ่าน mind map อีกว่า ‘รู้แล้วทำไมไม่ลด’ เธอถามความเห็นนักเรียนว่าเราต่างรู้ถึงปัญหาพลาสติกที่ล้นเกิน แต่ทำไมเราจึงลดการบริโภคไม่ได้ ตบท้ายด้วยการแจกสรุปข่าว ‘วาฬพลาสติก’ ให้เด็กๆ อ่านแล้วตั้งคำถามอีกว่า ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับการจ่ายตลาด ถุงพลาสติก และสิ่งแวดล้อมอย่างไร

เป็นวิธีการเดียวกัน หรือซีนเดียวกับที่ได้ทดลองออกแบบการเรียนรู้ในก่อการครู ในเวอร์ชั่นของครูโบว์เองเลย? 

ใช่ ซีนนั้นคือซีนที่ได้จากการที่เราไปตลาดกัน ในกิจกรรมของก่อการครูรุ่น 1 โมดูล 3 ครูคือกระบวนกร เมื่อปีที่แล้ว พอครูโบว์เอากลับไปใช้กับนักเรียน มันเป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่เป็นตัวครูโบว์เองเลย แล้วเธอก็ค้นพบว่า กิจกรรมของเธอทำให้เด็กตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมได้จริงๆ ผ่านการให้เด็กๆ เห็นภาพใหญ่ของปัญหาพลาสติกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเขามากแค่ไหน เขารู้สึกอย่างไรกับข่าว แล้วอะไรที่ทำให้พวกเรายังไม่ลดปริมาณการใช้

ซึ่งกว่าที่ครูโบว์จะสร้างกิจกรรมเช่นนี้ในห้องเรียน ไม่ใช่ในทันทีหลังจากจบโมดูล 3 จากก่อการครูนะ เวลาก็ผ่านไปจนมีจังหวะที่ได้ทำงานในพาร์ทนี้พอดี ก็หยิบเอาความรู้เรื่อง  Authentic Learning มาใช้ ผมคิดว่ามันแล้วแต่จังหวะของคนนะ บางคนอาจจะ หนึ่งปี สองปี สามปี เราก็ไม่อาจรู้ จนกว่าจะถึงจังหวะที่เขาเหล่านั้นไปอยู่ตรงที่ทางที่น่าทำเรื่องนี้พอดี 

เขาเหล่านั้นต้องยืนอยู่บนความเชื่อแบบไหนในการสร้างห้องเรียนที่มีความหมาย

เชื่อในตัวเองครับ เชื่อก่อนว่าเราทำได้ อาจจะยังไม่เชื่อในตัววิธีการเท่าไหร่ หรือจะไม่ได้เชื่อในวิทยากรคนไหน ตำราเล่มไหน แต่เราต้องเชื่อตัวเองก่อนว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำมัน มันไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเองทั้งหมดนะ มันเป็นการทำเพื่อมองไปถึงคนอื่น เป็นการทำเพื่อสิ่งที่ดีกว่า และเราเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำตรงนี้ได้ เริ่มจากตรงนี้ เพราะจริงๆ เราสามารถอยู่ในระบบ ทำตามกฎเกณฑ์ทุกอย่างได้ในขณะที่เราก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ได้เช่นเดียวกัน 

ต้องเชื่อว่าเราไม่จำต้องรอให้โลกเปลี่ยนเข้าหาเราแต่เราสามารถทำอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ และสิ่งที่เราทำมันจะเปลี่ยนโลกเอง มันต้องมีไอเดียประมาณนี้เป็นหัวเชื้อเสียก่อน 

จุดร่วมของความทุกข์ที่เห็นจากผู้เข้าร่วมก่อการครู

การที่ไม่ได้เป็นตัวเอง ผมรู้สึกว่าคนเราไม่มีความสุขหรอกถ้าเรารู้สึกว่าไม่ได้เป็นตัวเอง เราโดนบังคับ เราอยากทำแบบนี้แต่เราไม่ได้ทำ เราทำในสิ่งที่เราไม่ได้อยากทำ เราไม่มีความสุขหรอก มันอาจเป็นทุกข์เล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อมันสั่งสมไปเรื่อยๆ ก็จะถึงจุดเดือด เราทนไม่ไหวแล้ว ตอนเรียนศึกษาศาสตร์มา เราก็รู้สึกว่าโลกมันสวย อยากจะออกไปพัฒนาเยาวชน อยากออกไปออกแบบการสอนดีๆ เหมือนที่เรียนมา สุดท้ายไปโรงเรียนแล้วมันทำไม่ได้ ไม่สามารถเป็นตัวเราในแบบที่อยากจะเป็นได้ เรื่องเหล่านี้มันสร้างความทุกข์ พอยิ่งทำงานไปทุกวันโดยที่เราไม่ได้รู้สึกอยากจะทำ ทำให้คนมองไม่เห็นคุณค่าของงานที่ทำ เราจะทำเรื่องนี้ไปทำไม เราไม่ได้อยากทำแบบนี้ แต่มันต้องทำ 

ผมว่าสิ่งนี้คือตัวสร้างความทุกข์ แต่ถ้าวันหนึ่งเรามองว่า เราสามารถมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราต้องทำได้ และเราสร้างความหมายใหม่ให้กับมัน ตั้งคำถามว่าเราจะอยู่กับมันอย่างไร เราจะซื่อตรงกับตัวเอง เป็นตัวเองได้ดีในสภาวะแวดล้อมแบบนั้นได้อย่างไร เมื่อถึงจุดนั้น ความทุกข์จะคลาย เพราะพอเราได้ซื่อตรงกับตัวเอง ตรงนี้จะช่วยปลดล็อคได้ 

This image has an empty alt attribute; its file name is bbl-supported.png
Array