7 หลักการออกแบบการเรียนรู้แบบ Active Learning
Reading Time: < 1 minuteมีคำกล่าวอยู่ว่า ‘การศึกษา’ กับ ‘การเรียนรู้’ นั้นแตกต่างกัน คุณสามารถศึกษาวิธีการปลูกข้าวโพดได้จากการค้นหาในอินเทอร์เน็ตหรือซื้อหนังสือมาอ่าน แต่ถ้าคุณอยากเรียนรู้วิธีการปลูกข้าวโพดก็ต้องลงมือทำด้วยตนเองเท่านั้น
การศึกษาข้อมูลผ่านการอ่านจะช่วยเสริมสร้างความทรงจำให้กับคุณ แต่การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์แล้ว ยังช่วยให้เกิดกระบวนการคิดการแก้ปัญหา และการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ ซึ่งการเรียนรู้จากประสบการณ์เช่นนี้จะถูกจัดเก็บอยู่ในระบบความจำระยะยาว (Long Term Memory) อันเป็นความรู้ที่คงทนยิ่งกว่า
ในระยะที่ผ่านมา ระบบการเรียนการสอนในประเทศไทยอาจให้น้ำหนักไปที่ ‘การศึกษา’ เสียมากกว่า ‘การเรียนรู้’ เราจึงมักจะได้ยินบ่อย ๆ ว่า ‘เรียนรู้แบบท่องจำ’ ผู้เรียนที่ได้รับองค์ความรู้เหล่านั้นจึงมีความรู้ แต่ขาดประสบการณ์ เมื่อไม่มีการลงมือทำ เพราะการท่องจำเพียงอย่างเดียว นอกจากผู้เรียนจะเกิดอาการเบื่อหน่าย ยังส่งผลให้ไม่ได้รับองค์ความรู้ในมิติอื่น ๆ อีกด้วย
แวดวงการศึกษาในปัจจุบันจึงหันมาสนใจแนวทางการเรียนรู้แบบ ‘Active Learning’ หรือการเรียนรู้เชิงปฏิบัติที่ทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและเกิดปฏิสัมพันธ์ผ่านการลงมือทำในหลายรูปแบบ เช่น การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การระดมสมอง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นต้น จนกล่าวได้ว่า การจัดการเรียนรู้เชิงรุกในลักษณะนี้เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยพัฒนาและเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้ผู้เรียนมีความพร้อมต่อการรับมือกับโลกยุคใหม่ที่มีความท้าทายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ดังเช่น ‘โครงการบัวหลวงก่อการครู’ ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ จึงได้จัดกิจกรรมที่ปรับเพิ่มจุดเน้นพัฒนานิเวศการเรียนรู้ ในหัวข้อ ‘Active Learning และทักษะแห่งอนาคต’ โดยจัดอบรมให้แก่คุณครูจากโรงเรียนในโครงการฯ เพื่อแนะนำเทคนิคและเครื่องมือช่วยสอนแบบ Active Learning ซึ่งสามารถถอดบทเรียนออกเป็น 7 หลักการเรียนรู้แบบ Active Learning ดังต่อไปนี้
1. ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้
ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ให้กับตนเอง เช่น ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรม หรือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน
2. สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อกับการลงมือทำ
สร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการบ่มเพาะประสบการณ์ที่สามารถสร้างการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้จริง เช่น พัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นแหล่งการเรียนรู้และลงมือทำเกี่ยวกับเกษตรกรรมชุมชน
3. กระตุ้นให้เกิดการสะท้อนการเรียนรู้
เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สะท้อนคิดและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หลังจากการเรียนการสอน หรือการลงมือปฏิบัติ เพื่อกระตุ้นให้รู้จักการคิด
4. คิดตามและตั้งคำถาม
ให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์จากสิ่งที่ตนเองได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัส จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘กระบวนการรู้คิด’ เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการได้ลงมือทำจริง ทำให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้เหล่านั้นเข้ากับตนเองได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีการบอกหรือท่องจำ
5. สื่อสารให้เห็นภาพและคิดตามได้
พยายามสื่อสารให้ผู้เรียนสามารถคิดตามและเห็นภาพได้มากที่สุด เช่น อธิบายหรือยกตัวอย่างให้ใกล้เคียงกับประสบการณ์ของผู้เรียน ให้พวกเขาสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้เข้ากับตนเองได้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้กับผู้เรียน
6. ตกตะกอนความคิดจากองค์ความรู้ที่ได้รับ
หลังจากจบกิจกรรมหรือเสร็จสิ้นการเรียนการสอน ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีการตั้งคำถาม ใคร่ครวญ และตกตะกอนความคิด
7. สร้างชั้นเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย
ห้องเรียนไม่ใช่ห้องสี่เหลี่ยมที่มีเพียงโต๊ะ เก้าอี้ กับบรรยากาศเดิม ๆ แต่ห้องเรียนต้องสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้เรียนได้ ต้องสามารถรับรู้ว่าผู้เรียนต้องการอะไร และเปิดกว้างพอที่จะให้พวกเขาได้แสดงความคิดเห็นของตนเองได้
อย่างไรก็ตาม 7 หลักการเรียนรู้แบบ Active Learning ไม่ใช่สูตรสำเร็จหรือวิธีการที่ตายตัว ทั้งหมดเป็นเพียงหนึ่งในแนวทางที่จะสร้างการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับห้องเรียนของตนเอง โดยยึดโยงกับบริบทและสภาวะของผู้เรียนเป็นหลัก