ก่อการครู – Korkankru

ก่อการครู บทความ บัวหลวงก่อการครู

‘Fish Bank’ สนุกกับการเรียนรู้จากสถานการณ์จำลอง สำรวจทรัพยากรผ่านบอร์ดเกม

Reading Time: 2 minutes Fish Bank บอร์ดเกมเรียนรู้การจัดสรรทรัพยากร แก่นของเกมนี้กำลังบอกอะไรกับเรา ซึ่งการทบทวนการกระทำและการตัดสินใจของตนเองจะช่วยสะท้อนได้ว่า พฤติกรรมและความคิดของเราเป็นไปในทิศทางใด ควรแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง Dec 21, 2023 2 min

‘Fish Bank’ สนุกกับการเรียนรู้จากสถานการณ์จำลอง สำรวจทรัพยากรผ่านบอร์ดเกม

Reading Time: 2 minutes

ถ้าพูดถึงเกมที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มนุษย์จะสามารถประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาได้ คงหนีไม่พ้น ‘เกมกระดาน’ หรือ บอร์ดเกม (Board Game) ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานควบคู่มากับอารยธรรมมนุษย์ บอร์ดเกมที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุราว 4,600 ปี ถือกำเนิดที่อารยธรรมเมโสโปเตเมีย

นอกเหนือจากความสนุกและเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เกมเก่าแก่นี้ไม่สาบสูญไป อาจเป็นเพราะแก่นของบอร์ดเกม คือ การจำลองสถานการณ์ต่างๆ ให้เราได้วางแผนและใช้ความคิด อาจกล่าวได้ว่าบอร์ดเกมสามารถถอดเป็นบทเรียนและนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิดา ทับพันธุ์ หรือ อาจารย์ขวัญ หนึ่งในวิทยากรจาก “โครงการบัวหลวงก่อการครู” ตั้งคำถามกับครูที่เข้าร่วมอบรม หลังจบกิจกรรมการเล่นบอร์ดเกม ‘Fish Bank’ บอร์ดเกมที่ถูกคิดค้นโดยสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) ให้ผู้เล่นได้มีโอกาสในการสวมบทบาทเป็นกลุ่มชาวประมงที่ต้องออกจับปลาในน่านน้ำที่มีปลาจำนวนจำกัด ประกอบกับการออกเรือต้องมีต้นทุน รวมถึงคู่แข่งในการออกหาปลาอีกด้วย

“คุณคิดว่าเกมนี้ต้องการสื่อถึงอะไรบ้าง การวางแผน การคำนวณอัตราการเพิ่มขึ้นของทรัพยากร หรือเรื่องคุณธรรม” อาจารย์ขวัญกล่าว

Fish Bank บอร์ดเกมเรียนรู้การจัดสรรทรัพยากร

บอร์ดเกม Fish Bank เป็นหนึ่งในกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการใน “โครงการบัวหลวงก่อการครู” ที่ให้ผู้เล่นแบ่งกลุ่มเพื่อสวมบทบาทเป็นชาวประมงออกหาปลา โดยมีเป้าหมายในการออกรอบเรือจับปลาให้ได้จำนวนรอบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเหลือปลาอยู่ในน่านน้ำมากที่สุด

ในขณะเดียวกัน ผู้เล่นที่มีแต้มจากจำนวนปลาและเรือสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ โดยในการเล่นแต่ละครั้ง ผู้เล่นแต่ละคนจะได้รับเรือ 2 ลำ และปลาตัวเล็ก 2 ตัว เพื่อเป็นทรัพยากรตั้งต้น

ชาวประมงกลุ่มที่ครอบครองปลาและเรือในจำนวนที่เยอะกว่ากลุ่มอื่น จะเป็นฝ่ายชนะในเกมนี้ โดยปลาตัวใหญ่จะมีค่า 2 คะแนน ปลาตัวเล็กมีค่า 1 คะแนน และเรือมีค่า 5 คะแนน

“หลังจากจบเกมแล้ว นอกเหนือจากเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ยังมีหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำไปถอดบทเรียนได้ เช่น การเรียนรู้ในเรื่องของการอภิบาลพันธุ์ปลา” อาจารย์ขวัญกล่าวเสริมหลังจากการเล่นบอร์ดเกมจบลง

กลยุทธ์พิชิตเกม “ไม่ใช่การหาปลาได้มากที่สุด” แต่เป็นการจัดสรรทรัพยากรได้ดีที่สุด

นอกจากนี้มีการตั้งคำถามถึงกลุ่มที่สามารถออกเรือได้มากที่สุด ว่ามีเทคนิคการเล่นอย่างไร  จึงสามารถจัดสรรทรัพยากรและบริหารจัดการการออกเรือได้อย่างดี โดยกลุ่มที่ออกเรือได้มากที่สุดกล่าวว่า

“ทุกคนมีความโลภไม่มากก็น้อยอยู่ภายในใจ หากออกเรือพร้อมกันทุกกลุ่มในรอบแรก จำนวนปลาบนโต๊ะจะหมดหรือเหลือน้อยจนไม่สามารถเพิ่มจำนวนให้เพียงพอต่อการจับได้ ดังนั้นต้องรอจนกว่าปลาจะเพิ่มจำนวนจนเพียงพอต่อการออกเรือของทุกกลุ่ม

“ความจริงแล้วกลยุทธ์ของเกมนี้ค่อนข้างตลกและผกผัน ถึงแม้กติการะบุว่ากลุ่มที่จับปลาได้มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ แต่ในทางปฏิบัติคุณจะชนะได้ก็ต่อเมื่อออกเรือให้น้อยรอบที่สุด”

อาจารย์แท็ป – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลิดา จูงพันธ์ หนึ่งในวิทยากรกล่าวขึ้น เพื่อเผยถึงแก่นของบอร์ดเกมนี้ ว่าความจริงแล้ววิธีการชนะ Fish Bank ไม่ใช่การหาปลาได้มากที่สุด แต่เป็นการจัดสรรทรัพยากรปลาได้ดีที่สุด

Fish Bank เป็นเกมแนวกระตุ้น (Stimulation) โดยจำลองสถานการณ์ให้ผู้เล่นได้เรียนรู้พฤติกรรมที่ตนเองแสดงออกผ่านการเล่นเกม เกมนี้ถูกคิดค้นโดยสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) เป้าหมายหลักคือการสร้างความตระหนักถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดบนโลก

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของการเล่นบอร์ดเกม นอกเหนือจากความสนุกที่ได้รับ คือการที่เราได้เรียนรู้ว่าแก่นของเกมนี้กำลังบอกอะไรกับเรา ซึ่งการทบทวนการกระทำและการตัดสินใจของตนเองจะช่วยสะท้อนได้ว่า พฤติกรรมและความคิดของเราเป็นไปในทิศทางใด ควรแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

นั่นคือสิ่งที่ทำให้ ‘เกม’ ยังคงเป็นสื่อเสริมการจัดการเรียนรู้ที่มีเสน่ห์เสมอมา

ที่มา: https://www.britishmuseum.org/blog/top-10-historical-board-games

Array