Korkankru

โรงเรียนปล่อยแสง

พลังมหัศจรรย์การอ่าน เยียวยาภาวะการเรียนรู้ถดถอย3 min read

Reading Time: 2 minutes เมื่อพิจารณาจากผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) พบว่ามีคะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี ทั้งทักษะการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศอื่น หากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ความรู้ความสามารถของเด็กไทย ชั้น ม.3 อาจเทียบเท่ากับนักเรียนชั้น ม.2 ของบางประเทศ หรือความรู้ถดถอยหายไป 1 ปีการศึกษา Jul 2, 2024 2 min

พลังมหัศจรรย์การอ่าน เยียวยาภาวะการเรียนรู้ถดถอย3 min read

Reading Time: 2 minutes

ระดับการเรียนรู้ของเด็กไทยภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อพิจารณาจากผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) พบว่ามีคะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี ทั้งทักษะการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศอื่น หากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ความรู้ความสามารถของเด็กไทย ชั้น ม.3 อาจเทียบเท่ากับนักเรียนชั้น ม.2 ของบางประเทศ หรือความรู้ถดถอยหายไป 1 ปีการศึกษา

ธนาคารโลกได้ส่งสัญญาณเตือนว่า เมื่อมองไปถึงอนาคตข้างหน้าภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) จะส่งผลต่อเงินเดือนหรือค่าแรงที่ลดลงตลอดชีวิต รวมทั้งมีผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว คุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทยจึงเป็นวิกฤตที่กำลังรอการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

‘อ่าน’ เพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

คุณสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เสนอถึงทางออกของปัญหานี้ซึ่งทุกโรงเรียนและทุกครอบครัวสามารถทำได้ด้วยเครื่องมือง่ายๆ และเกิดความสุข นั่นคือ ‘การอ่านหนังสือ’

“กรณีผู้ใหญ่เวลาถอยไปข้างหลัง เราเร่งก้าวให้ทันได้เร็ว แต่สำหรับเด็กเล็กๆ ไม่ใช่ เขาจะถอยหลังไปเยอะมาก ถ้าเราไม่รีบดึงไม่จูงมือเด็กมาให้ทัน ก็จะยิ่งเจอภาวะที่รุนแรง …ปัจจุบันเราพบเด็กที่สมาธิสั้นและออทิสติกเทียมเยอะมาก เราดึงเด็กกลับมาในอ้อมกอดแห่งความรัก อ่านหนังสือที่เหมาะสมกับวัยให้เขาฟัง แล้วเขาจะหลุดพ้นจากภาวะวิกฤตต่างๆ ไม่ใช่เพียงหนังสือเท่านั้นที่มีพลัง แต่ยังมีพลังความรักความเมตตาของครอบครัวและคุณครู”

คุณสุดใจยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจให้ฟังว่า ครอบครัวหนึ่งในจังหวัดยโสธร ทั้งพ่อ แม่ และบรรพบุรุษของทั้งสองตระกูลต่างก็เป็นใบ้มาหลายชั่วอายุคน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้เข้าช่วยเหลือบุตรสาวของครอบครัว โดยอ่านหนังสือให้ฟังตั้งแต่อายุ 3 เดือน ผลก็คือเด็กสามารถพูดสื่อสารได้ภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเท่ากับสามารถหลุดพ้นออกจากวิกฤตการเรียนรู้ และมองเห็นโอกาสที่จะออกจากวัฏจักรของความยากจน

ดังนั้นการอ่านจึงเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งเกี่ยวพันกับมิติทางสังคมและการพัฒนา ดังที่องค์การยูเนสโกได้ระบุถึงความสำคัญของหนังสือและการอ่านไว้ว่า การรู้หนังสือเป็นสิทธิมนุษยชน เป็นพลังแห่งศักดิ์ศรี เป็นพื้นฐานความเข้มแข็งของสังคม และเป็นรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะก่อให้เกิดความรุดหน้าในทุกด้าน

เคล็ดไม่ลับปั้นเด็กเป็นนักอ่าน

สำหรับครูหรือพ่อแม่ที่ไม่รู้จะตั้งต้นอย่างไรเรื่องการปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน ระพีพรรณ พัฒนาเวช บรรณาธิการหนังสือเด็ก ได้อธิบายถึงองค์ประกอบสำคัญของการส่งเสริมการอ่าน 3 ประการ ได้แก่

หนังสือ ควรเลือกให้มีระดับเนื้อหาเหมาะกับเด็กเพื่อให้เด็กเข้าใจและรู้สึกสนุก พิจารณาได้ง่ายๆ จากวัยของตัวละครในหนังสือที่สอดคล้องกับวัยของผู้อ่าน

ครู ควรอ่านหนังสือให้เด็กฟังอย่างต่อเนื่องจนจบเรื่อง โดยไม่จำเป็นต้องถาม สอน หรืออธิบายแทรกขณะอ่าน เพื่อให้เด็กสามารถติดตามเนื้อหาอย่างไม่ไขว้เขวไปจนถึงหน้าสุดท้าย

และ การกระตุ้นให้คิด ชวนเด็กให้กล้าพูดออกมาว่าอ่านแล้วรู้สึกอย่างไร หรือคิดว่าทำไมเรื่องราวถึงเป็นอย่างนั้น เมื่อครูเสริมแรงทางบวกเด็กจะรู้สึกว่าห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย

“ขอเพียงครูเลือกหนังสือดี อ่านตามตัวหนังสือให้เด็กฟัง และเปิดพื้นที่ว่างให้เด็กคิดและตีความด้วยตัวเอง ก็จะได้ผลกับเด็ก สมมุติว่าเขาค้นพบอะไรบางอย่างในหนังสือหรือเกาะติดอะไรบางอย่าง เขาจะรู้สึกว่าเขาเอาหนังสือเล่มนั้นอยู่ อันนี้เป็นกระบวนการส่งเสริมการอ่านที่ง่ายที่สุด ทำให้หนังสือมีเสน่ห์กับเด็ก และทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าหนังสือเป็นยาขม”

ชวนเด็กผูกมิตรกับหนังสือ จุดประกายความรักในความรู้

โครงการโรงเรียนปล่อยแสงได้ทดลองสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่มีหนังสืออยู่ใกล้ตัวเด็ก ในรูปแบบ ‘สมุดหลังห้อง’ นักเรียนสามารถหยิบมาอ่านได้ทันทีเมื่อเกิดความกระหายใคร่รู้ ส่วนครูมีบทบาทอ่านหนังสือให้เด็กฟังบ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งเชื่อมโยงเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือไปสู่กิจกรรมการเรียนรู้สนุกๆ นอกห้องเรียน ตัวอย่างเช่น หากนักเรียนอ่านนิทานเรื่อง ปลูกผักสนุกจัง ครูก็สามารถชวนนักเรียนให้เพาะถั่วงอกหรือผักบุ้ง แล้วนำไปทำเป็นอาหารมื้ออร่อย นอกจากเด็กๆ จะได้รับประทานผักปลอดสารพิษแล้ว ยังไม่ปฏิเสธการกินผักเพราะพวกเขาลงมือปลูกด้วยตนเอง

โครงการโรงเรียนปล่อยแสงยังทดลองจัดกระบวนการส่งเสริมการอ่านให้กับกลุ่มเป้าหมายระดับประถมศึกษาที่อาจไม่เคยอ่านหนังสือเลยหรืออ่านไม่คล่อง เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เด็กรู้สึกว่าหนังสือเป็นมิตร โดยการสัมผัสหนังสือภาพสวยๆ หรือหนังสือที่มีลูกเล่นแปลกๆ น่าดึงดูดใจ ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เด็กกล้ามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกของตน

เมื่อเด็กๆ คุ้นเคยกับหนังสือเป็นอย่างดีแล้ว ก็ยกระดับนักอ่านเข้าสู่กระบวนการคิด อาจเป็นการเชื่อมโยงประสบการณ์ของตนกับเรื่องราว และตีความสิ่งที่ซ่อนอยู่อย่างไม่มีถูกไม่มีผิด เครื่องมือที่นำมาใช้ เช่น Readers Theatre หรือการสื่อสารเรื่องที่อ่านผ่านกระบวนการละคร และ Museum of Me ซึ่งเด็กๆ ได้นำเสนอตัวตนและความคิดของตนเองจากหนังสือเล่มโปรด โดยออกแบบเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดจิ๋ว

สมา น้องนักเรียนหญิงซึ่งอ่านเรื่อง ร้านหนังสือชื่อมีไหมนะ ของชินสุเกะ โยชิทาเกะ (Yoshitake Shinsuke) บอกเล่าความคิดของตนเองอย่างพรั่งพรูว่า “นี่คือหน้าที่หนูชอบค่ะ ‘วิธีปลูกต้นนักเขียน ทุกๆ ปีเมื่อถึงฤดูหนังสือ ต้นไม้จะออกลูกเป็นหนังสือ วิธีปลูกต้นหนังสือ หนึ่งนำเมล็ดใส่ในหนังสือที่ตนเองชอบ นำไปกลบดิน รดน้ำให้เขาเป็นประจำทุกวัน และอ่านหนังสือประเภทต่างๆ ให้เขาฟัง’ ตรงนี้หนูเข้าใจว่าการจะทำอะไรให้สำเร็จจะต้องใช้ความพยายามและความอดทน เช่นเดียวกับการเขียนหนังสือหรือการทำงาน ถ้าเราไม่ย่อท้อความสำเร็จก็จะปรากฏ”

I read therefore I am …ฉันอ่าน ฉันจึงเป็น

หนังสือคือสื่อสุดแสนมหัศจรรย์ ไม่ว่าในห้วงยามปกติหรือช่วงที่เด็กๆ เผชิญกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย การอ่านจะนำพาพวกเขาท่องโลกกว้างเพื่อสำรวจพรมแดนความรู้ใหม่ๆ พร้อมกับพัฒนากระบวนการคิดให้งอกงาม การสร้างสรรค์ระบบนิเวศการเรียนรู้จึงไม่อาจขาดปัจจัยสำคัญนี้ได้

“การอ่านสามารถเป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคมของคนนั้นๆ เห็นชัดเลยว่าถ้าเด็กชอบสื่อแบบไหนเขาก็จะไปทิศทางนั้น การอ่านจะทำให้เด็กเห็นความสุขเล็กๆ แล้วต่อเติมเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบ เด็กจะค้นพบศักยภาพของตัวเองได้เร็ว รู้คุณค่าและความหมายของชีวิต และได้คำตอบว่าตัวเองจะเดินไปต่อทางไหนเป็นขั้นบันไดขึ้นไปเรื่อยๆ พวกเขาเห็นตัวตนของตัวเองได้เร็วกว่าคนที่ไม่ผ่านประสบการณ์ตรงนี้” คุณสุดใจ กล่าวสรุปถึงอิทธิพลของการอ่านที่มีผลต่อการเติบโตของเด็กและเยาวชน

เรียบเรียงโดย : ทัศนีย์ แซ่ลิ้ม

ที่มา

เวที ‘ปล่อยเด็กเปล่งแสง’ โครงการโรงเรียนปล่อยแสง: การพัฒนานิเวศการเรียนรู้ (School Learning Eco-system Development) จัดโดย คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2567 ณ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

บทความ เรื่อง Learning Loss ผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต จากเว็บไซต์ https://theactive.net

บทความ เรื่อง เด็กสิงคโปร์ครองอันดับ 1 ผลสอบ PISA ปีล่าสุด นักเรียนไทยวิกฤติ คะแนนต่ำสุดรอบ 20 ปีในทุกทักษะ จากเว็บไซต์www.bbc.com

Your email address will not be published.