‘เรียนรู้นอกตำราผ่านชุมชน’ กับ ‘ครูอับดุลย์ – ศิโรจน์ ชนันทวารี’ ก่อการครู Bangkok และพันธมิตร
Reading Time: 2 minutes“จะดีขนาดไหนถ้าชุมชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา
“หนังสือส่วนใหญ่ถูกสร้างมาด้วยสำนักพิมพ์ ซึ่งความเป็นชุมชนหรือท้องถิ่นมันห่างกันอย่างสิ้นเชิง แค่โรงเรียนห่างกันไม่กี่กิโลก็มีเรื่องเล่า ความคิด ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม มีอะไรที่แตกต่างกันไปหมดเลย
“การที่ครูสอนแต่ในตำรา มันก็เหมือนมาโรงเรียนเพื่อไปเรียนสิ่งไกลตัว ทั้งๆ ที่เด็กเดินมาโรงเรียนทุกวัน ผ่านสิ่งต่างๆ รอบตัว แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งรอบตัว ไม่ได้รู้จักชุมชนหรือบ้านของตัวเอง เรียนแล้วเอาไปพัฒนาอะไร เด็กอาจจะมองไม่เห็น แต่ถ้าเราหยิบประเด็นที่อยู่รอบตัว ทั้งในโรงเรียนหรือในชุมชนมาให้เขาได้เรียนรู้ เขาจะสามารถเชื่อมโยงความเป็นจริงจากสิ่งที่เห็นด้วยตา ด้วยการลงมือปฏิบัติ ผ่านตำรา ผ่านเนื้อหา มันน่าจะสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายให้พวกเขาได้มากกว่า
“การที่เด็กเกิดความรัก เกิดความเข้าใจ ในวิถีชุมชนของตัวเองมันจะสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนต่อไปได้ยั่งยืนมากขึ้น”
นี่คือสิ่งสำคัญที่ได้รับจากความพยายามขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาของ ครูอับดุลย์ – ศิโรจน์ ชนันทวารี หนึ่งในเพื่อนร่วมขบวนก่อการครู และผู้ร่วมงานในโหนด Bangkok และพันธมิตร รุ่นที่ 2
ก่อการครูวันนี้ขอชวนไปรู้จักบางเศษส่วนตัวตน ฟังความคิดเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงของวงการศึกษา และพูดคุยถึงความสำคัญระหว่างชุมชนกับโรงเรียนที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีความหมายมากขึ้นจากสิ่งรอบตัว
จุดเริ่มต้นการเข้ามาเป็นครู
ส่วนตัวไม่ได้อยากเป็นครูตั้งแต่แรก เคยมีครูประจำชั้นตอน ป.6 ถามว่าอยากเป็นอะไร เราก็บอกว่าอยากเป็นครู เขาก็บอกว่าอย่าเป็นครูเลย เหนื่อย
เขาเชียร์ให้ไปเป็นวิศวกรเหมือนสามีของเขา เพราะว่าได้เงินเยอะกว่า ตอนนั้นอาชีพในหัวมีไม่เยอะ เลยเลือกเรียนวิทย์-คณิต และพยายามเรียนปริญญาตรีไปทางสายวิศวะ ที่ครุศาสตร์วิศวกรรม พระจอมเกล้าลาดกระบัง สุดท้ายก็มาจบที่การเป็นครูช่าง
ช่วงที่เรียนคุรุศาสตร์วิศวกรรมมีโอกาสได้ไปออกค่าย เจอชุมชนมุสลิม ได้ไปสอนหนังสือเด็ก ได้ไปลงพื้นที่ต่างจังหวัด ได้ขึ้นไปสอนบนดอยมันก็คงเป็นสิ่งซึบซับมา เราก็เลยเลือกที่จะเป็นครูอาชีวะ ที่เทคโนโลยีบางกะปิ ตอนอายุ 21 ปี แต่ก็ยังไม่อยากเป็นครูอยู่ดี หมายความว่าในขณะที่เป็นครูได้ 2 ปี ก็พยายามที่จะมองอาชีพอื่นไปด้วย
พอได้ไปเป็นครูจริงๆ แล้ว มันไม่เหมือนอย่างที่คิด การที่เราไปเป็นครูอายุ 21 ปี ไปสอนเด็กช่างที่ถือว่าโด่งดังในด้านลบ มันทำให้เราเห็นอีกมิติหนึ่งของความเป็นเด็กอาชีวะที่เขาไม่ได้ร้ายกาจเหมือนในสื่อ พอไปเจอเด็กที่ให้เกียรติเรา ไปเจอคนที่อายุเท่ากันแล้วต้องไปสอนภาคค่ำเขา เราเริ่มจะหลงรักอาชีพครู
พอได้เริ่มเรียนบริหารการศึกษาก็ค้นพบว่าตัวเองเหมาะกับการเป็นครูตอนที่เป็นครูแล้ว นับเวลาก็เป็นครูอาชีวะ 6 ปี เป็นครูสอนประถมอีก 10 ปี และมาขึ้นตำแหน่งรองผู้อำนวยการที่โรงเรียนนาคนาวาอุปถัมภ์อีก 2 ปี
เข้าร่วมงานกับก่อการครูตั้งแต่เมื่อไหร่
ย้อนกลับไป 4-5 ปีที่แล้ว ราว 2561-2562 เป็นปีที่เป็นครูมาแล้วสิบกว่าปี เราเข้ามาเป็นก่อการครูรุ่น 2 เป็นช่วงที่เราคิดว่าตัวเองเป็นครูไปสุดทางแล้ว ได้ทำอะไรมากมายเต็มที่ แต่มันรู้สึกเริ่มวนลูป ไม่ท้าทาย สอนแบบเดิมๆ แต่เงินเดือนขึ้นทุกเทอม เริ่มเหนื่อยๆ เฉื่อยๆ
พอได้เจอก่อการครูแล้วเป็นยังไง
ภาพแรกคือ เป็นการอบรมที่ไม่มีพิธีรีตรองใดๆ เป็นวงสนทนาที่ให้เราได้กลับมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง มีเก้าอี้วางล้อมรอบ 100 ตัวเป็นวงกลม โดยมีประธานนั่งหนึ่งในนั้น ไม่ว่าใครจะเป็น รองศาสตร์จารย์ อาจารย์หมอ หรือนักกระบวนการต่างๆ ทุกคนนั่งอยู่ในระนาบเดียวกัน เท่ากันหมด เราและทุกคนได้เล่าเรื่องราว แสดงเจตจำนงที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง มันเหมือนเกิดการ Transform ให้ตัวเราได้ทำสิ่งใหม่ๆ ในอาชีพครู
สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมงานกับก่อการครู
สิ่งที่สำคัญคือ ก่อนที่จะทำอะไรเราต้องรวมตัวกันก่อน มีการปลุกพลัง สลับกันเป็นกระบวนการ สลับกันเป็นคนนำ สร้างการเชื่อมโยง และสร้างคุณภาพที่ดีก่อนที่จะลงมือทำงานใดๆ เราได้เห็นความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน เหมือนเป็นเพื่อนกันไม่ได้เป็นผู้ร่วมงาน คอยยินดี และคุยกันตลอดทุกๆ ประเด็น ปัญหามันน้อยมากแบบนึกไม่ออกเลย อาจจะเคยเหนื่อยเพราะทำคนเดียวในโรงเรียน แต่พอเห็นความเป็นไปได้ของเพื่อนที่ทำคนเดียวในโรงเรียนแล้วมันว้าว เกิดแรงจูงใจให้รู้สึกว่าเราก็ทำได้ในบริบทของเรา และพบว่าสิ่งที่เราทำมันมีความหมาย
ช่วงที่เรียนครูจนมาถึงการได้เป็นครู ปัญหาของการศึกษาที่เห็นมีอะไรบ้าง
ตอนนี้ความรู้มันอยู่บนอากาศหมดเลย ถ้าอยากรู้อะไรสักอย่างมันเป็นเรื่องง่ายมาก เวลาอยากทำอะไรอย่างหนึ่งไม่ต้องไปเข้าห้องสมุดตามหาชั้นหนังสือเหมือนสมัยก่อน ตอนนี้ถ้าอยากรู้อะไรมันอยู่ที่ปลายนิ้ว
เมื่อก่อนด้วยเนื้อหามันน้อย มันทำให้เราแสวงหาจนรู้ลึกเห็นจริง เหมือนความรู้มันคงทน แต่ตอนนี้มีความรู้ที่มากมาย แต่ปัญหาของเด็กหรือครูสมัยนี้ คือไม่รู้ว่าเราจะศึกษาไปทำไม หรือไม่รู้ว่าเราจะสนใจอะไร ขณะที่ง่ายไปหมด เราไปใช้เวลากับอะไรไม่รู้และไม่ได้รู้ว่าตัวเราเองชอบอะไรจริงๆ หรือไปไม่สุด ไม่รู้จะเอายังไง
จากมุมครู รู้สึกว่าการมีหัวใจที่เป็นครูมืออาชีพมันเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ ครูสมัยก่อนเขาแทบไม่รู้เทคโนโลยีอะไรเลยแต่สอนได้สนุกมาก ไปนั่งฟังแล้วรู้สึกเพลิน เขาใช้สื่อรอบตัว ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีอะไร แต่มีเทคนิคการสอน มีเสน่ห์ มีความเป็นครูอย่างเต็มตัว
ขณะเดียวกันครูรุ่นใหม่ เขามีทุกอย่างหมดเลย มีเทคโนโลยี เครื่องมือมากมาย แต่จิตวิญญาณความเป็นครู การสังเกต หรือเซนส์ที่มีต่อเด็ก หรือเทคนิคเหล่านี้มันไปไม่ถึง เป็นไปในทางของติวเตอร์ แต่ไม่ค่อยมีความเป็นครูที่หวังจะให้ศิษย์ทุกคนได้เติบโตหรือให้ความสำคัญกับทุกคน คิดว่าตรงนี้มันย้อนแย้งกันอยู่
เราสามารถยกหูโทรหาผู้ปกครองเพื่อแก้ปัญหาได้เลยแต่มันไม่ใช่ ขณะที่เมื่อก่อนจะคุยกับผู้ปกครองต้องผ่านเบอร์บ้านหรือต้องเขียนจดหมายนัดกันออกมาคุย ผู้ปกครองกับครูในสมัยก่อนจึงสนิทกันมาก
อีกมุมหนึ่งรู้สึกว่าโรงเรียนกับชุมชนถูกแยกส่วนออกจากกัน เมื่อก่อนตอนเด็กๆ เช่น ตอนจัดงานลูกเสือ คุณพ่อคุณแม่ก็จะมาดูเด็กๆ แสดงรอบกองไฟ มีซุ้มอาหารแจกหรือว่าโรงเรียนอยากทำกิจกรรมอะไร ผู้ปกครองก็จะมีส่วนร่วมในการให้ความร่วมมือ หรือการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากเด็กๆ ประธานชุมชนหรือผู้ใหญ่บ้านก็จะมีส่วนในเรื่องของการศึกษาแต่ขณะนี้เหมือนรั้วโรงเรียนมันสูงขึ้น มันถูกแยกส่วนเป็นโรงเรียนใครโรงเรียนมัน จริงอยู่ที่มีคณะกรรมการสถานศึกษา แต่บางครั้งก็ทำหน้าที่เพียงเซ็นเอกสาร เข้าประชุมปีละสองครั้ง และจากไป
การเข้าถึงระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียนน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่เมื่อก่อนผู้ปกครองกับครูจะสนิทกันมาก รับรู้เรื่องราว มีปัญหาอะไรก็ช่วยกันแก้ ตอนนี้บทบาทตรงนี้ไม่ถูกให้ความสำคัญ เป็นเพียงการแก้ปัญหาให้ผ่านไป ใครไม่มีปัญหาก็ไม่ได้ถูกการติดตามใดๆ การเข้าหากันมันเริ่มแยกส่วนชัดเจน ทั้งๆ ที่มีเทคโนโลยีมากขึ้นน่าจะชิดกันได้มากขึ้น
จากปัญหาที่เล่ามาเหล่านี้ทำให้ครูอับดุลย์สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร
จากปีแรกในพื้นที่โรงเรียนของเรา เราลองทำงานแบบ One Day Trip พาครู 5 คน พาเด็ก 15 คน ไปล่องเรือแวะไปมัสยิดต่างๆ ซึ่งยังไม่ได้เต็มที่และไม่ได้ส่งต่อเท่าไหร่
แต่พอมาปีที่ 2 เราเริ่มแตะไปที่หลักสูตรในบริบทของโรงเรียนเรา เราเริ่มบูรณาการทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชา ทั้งอนุบาล และการศึกษาพิเศษด้วย พยายามทำให้ครูมองเห็นว่าในวิชาของตัวเองมันมีเรื่องอะไรที่เชื่อมโยงกับชุมชนได้บ้าง โดยที่เรามีข้อมูลชุดหนึ่งให้และให้ไปหาต่อ พอโรงเรียนที่ได้เรียนกับครูเหล่านี้ได้เห็นและเข้าใจชุมชนของตัวเองมากยิ่งขึ้น มันจึงเริ่มขยายไปสู่หลักสูตรฐานชุมชน
ปีนี้ก่อการครู Bangkok และพันธมิตรเป็นปีที่ 2 ที่เราพยายามขับเคลื่อนเรื่องการเรียนรู้ผ่านชุมชน มีครูที่ได้ลองทำผิดถูกไปแล้วราว 5 คน 5 พื้นที่ ปีนี้เราต้องการสร้างเครือข่าย คือเพิ่มจำนวน เพราะคิดว่าจะดีขนาดไหนถ้าชุมชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา และเราพยายามจะเพิ่มเครือข่ายมากขึ้น ไม่ใช่แค่เครือข่ายฝั่งโรงเรียน เป็นเครือข่ายจากครูในโรงเรียนเดียวกัน จากที่ครูเคยทำแค่คนเดียว ก็อาจชวนเพื่อนสองสามสี่ห้าคนมาทำและขับเคลื่อนไปด้วยกัน
มองว่าหนังสือส่วนใหญ่ถูกสร้างมาด้วยสำนักพิมพ์ ซึ่งความเป็นชุมชนหรือท้องถิ่นมันห่างกันอย่างสิ้นเชิง แค่โรงเรียนห่างกันไม่กี่กิโลก็มีเรื่องเล่า ความคิด ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม มีอะไรที่แตกต่างกันไปหมดเลย
การที่ครูสอนแต่ในตำรา มันก็เหมือนมาโรงเรียนเพื่อไปเรียนสิ่งไกลตัว ทั้งๆ ที่เด็กเดินมาโรงเรียนทุกวัน ผ่านสิ่งต่างๆ รอบตัว แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งรอบตัว ไม่ได้รู้จักชุมชนหรือบ้านของตัวเอง เรียนแล้วเอาไปพัฒนาอะไร เด็กอาจจะมองไม่เห็น แต่ถ้าเราหยิบประเด็นที่อยู่รอบตัว ทั้งในโรงเรียนหรือในชุมชน ให้เขาได้เรียนรู้ เขาจะสามารถเชื่อมโยงความเป็นจริงจากสิ่งที่เห็นด้วยตา ด้วยการลงมือปฏิบัติ ผ่านตำรา ผ่านเนื้อหา มันน่าจะสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายให้พวกเขาได้มากกว่า
ด้วยความที่เราเป็นผู้บริหารจะรู้ว่าผู้บริหารมาไม่กี่ปีก็ไป 2 ปีบ้าง 3-4 ปีบ้าง พอเราร่วมกันสร้างนโยบาย ร่วมสร้างหลักสูตรหรือทำให้ครูได้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ สิ่งที่มันอยู่กับโรงเรียนต่อไปก็คือครูคนนั้นก็จะสอนสิ่งเหล่านี้ส่งต่อไปยังรุ่นต่อรุ่น เช่น เมื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องมัสยิดที่ใกล้โรงเรียน อย่างน้อยการที่เขาได้ไปมัสยิด ได้เรียน ได้เห็นศิลปะ เห็นถึงที่มาที่ไปของมัสยิดที่เขาละหมาดอยู่ทุกวัน เราคิดว่าการที่เด็กในชุมชนเกิดความรัก เกิดความเข้าใจ ในวิถีชุมชนของตัวเองมันจะสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนต่อไปได้ยั่งยืนมากขึ้น
ครูอับดุลย์อยากเห็นการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปยังไง
ยังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวครูที่มีความสุขในการสอนมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องมีกรอบ มีกฎเกณฑ์อะไรมาบังคับว่าจะต้องสอนแบบนั้นแบบนี้ แต่ไม่ใช่จะสอนอะไรก็สอน หมายถึงว่ามีแกนหลวมๆ ให้เขาสามารถออกแบบกระบวนการ ดีไซน์ส่วนต่างๆ ที่เขาคิดว่ามีความหมายกับนักเรียนในบริบทที่แตกต่างกันได้ โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์อะไรมาก แต่ต้องคำนึงถึงสมรรถนะที่เด็กจะได้รับมากกว่า ห้องเรียนของเขาน่าจะมีความสุขมากขึ้น
รวมไปถึงถ้าครูมีความสุขมากขึ้นในการนำเสนอเนื้อหาที่มันน่าสนใจและสามารถเข้าถึงเด็กได้ เด็กน่าจะมีความสุขในการเรียนรู้ด้วยเช่นเดียวกัน เด็กๆ อาจจะอยากเรียนกับครูมากขึ้นในทุกๆ วิชา เพราะมันเป็นเรื่องรอบตัวของเขาไปหมด เด็กๆ อาจจะได้เรียนสิ่งที่ไม่เคยเรียนมาก่อนหรือเรื่องใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงเข้ามาในแต่ละวัน ยิ่งกรุงเทพฯ ที่มีอะไรมากมาย เราว่าสิ่งเหล่านี้จะสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายได้
เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารที่มีหัวใจของความเป็นครู ผู้บริหารที่มีหัวใจของความเป็นเด็กด้วย ผู้บริหารที่มีหัวใจของความเป็นผู้ปกครอง ผู้บริหารที่มีหัวใจของการโอบรับและส่งต่อ ให้ครูและเด็กได้ทำสิ่งต่างๆ มันน่าจะมีโอกาสให้ผู้ปกครองได้สามารถออกแบบหรือร่วมสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายจริงๆ ให้กับสถาบันการศึกษาได้ และอยากเห็นทุกๆ ภาคส่วนที่อยากจะมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนหรือช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาให้มันเกิดขึ้นได้จริง
รอบโรงเรียนมีสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย มีผู้หลักผู้ใหญ่ใจดีมากมาย แต่จะทำยังไงให้เกิดสะพานที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นได้มามีส่วนร่วม อาจจะไม่ต้องทั้งหมด แต่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโรงเรียนที่อยู่ในชุมชนหรือว่าอาจได้กลับมาคืนประโยชน์ให้โรงเรียนเก่าของพวกเขา หรือร่วมกันสร้างแรงขับเคลื่อนเพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้มีความสุขและได้เรียนรู้สิ่งที่มีความหมายมากยิ่งขึ้น
ทุกวันนี้ครูอับดุลย์ใช้พลังงานแบบไหนเพื่อขับเคลื่อนการทำงานของตัวเอง
พลังงานที่ใช้คือ เจตจำนงที่ชัดเจน เหมือนรากที่รู้ว่าเราไม่ได้เป็นผู้บริหาร เราคือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ถึงคนอื่นจะเรียกเราว่ารองหรือเรียกตามตำแหน่ง แม้ว่าเราจะตำแหน่งไหนก็ตาม แต่เรายังมีมุมมองที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม เวลาที่ท้อ หรือโดนบททดสอบอะไรมา เราจะหันกลับไปมองตรงนั้นว่า เราคือใคร เราทำอะไรอยู่
ส่วนพลังงานสำรองที่มีทุกๆ วัน คือแววตาเด็ก แวววตาครู แววตาผู้ปกครอง รอยยิ้มหรือสิ่งต่างๆ ที่เขามีให้เราทุกวัน เวลาที่เดินไปเจอใคร พอเรามีเจตจำนงที่ชัดเจนและหวังดีต่อพวกเขา เขาสัมผัสได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง เป็นชุมชน ตัวเด็กๆ ที่มาทักทายหรือการกล้าจะมาฟ้องมาเล่าอะไรให้เราฟัง เราว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นพลังงานที่ดีที่จะทำให้เราไปถึงจุดหมายที่ดีได้
พลังงานที่สำคัญอีกอย่างคือครอบครัว เวลาเกิดปัญหาอะไรจะคุยกับแม่และภรรยา มีอะไรก็จะปรึกษาพวกเขาเหล่านั้น เรารู้ว่าเวลาที่เราขับเคลื่อนแล้วมันเกิดสิ่งใหม่ ผลตอบรับมันคุ้มค่ากับการเหนื่อย
ครู-ฉบับครูอับดุลย์
อันดับแรกคือ ‘I’ ต้องรู้จักตัวเอง เห็นตัวเองชัดว่าตัวเองเป็นใคร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีเทคนิคการสอนแบบไหน ฯลฯ พอรู้จักตัวเองเราก็จะรู้จักคนอื่นได้มากขึ้น
ลำดับที่สองคือ ‘You’ คือเข้าใจความต่างของแต่ละบุคคล เข้าใจความต่างของเด็ก ความต่างของเพื่อนครูด้วยกัน เข้าใจความต่างของผู้บริหาร เข้าใจความต่างของผู้ปกครองที่หลากหลาย
ลำดับที่สาม คือ ‘We’ ทีมที่ทั้งหมดทั้งมวลเราเป็นมนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นครู เป็นเด็ก ผู้ปกครองหรือผู้บริหาร ทุกคนเรามีเป้าหมายเดียวกันคืออยากทำให้สังคมดีขึ้น ผ่านการศึกษา
ลำดับที่สี่ คือ ตัวเองในต่างมิติ เราเป็นนักเรียนรู้ ชอบเรียนรู้ในทุกๆ อย่างที่ตัวเองสนใจ เกิดประโยชน์ทั้งกับตัวเองและนักเรียน แม้ว่าเป็นสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อนเลยก็ตาม แต่ถ้ามันจำเป็นและได้ใช้สอนเด็ก เราก็พร้อมที่จะไปเรียนรู้เรื่องเหล่านั้น
ลำดับที่ห้า ครูต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยมากพอสำหรับทุกคน ปลอดภัยมากพอที่จะให้ตัวเองเป็นมนุษย์ได้อย่างเต็มตัว เป็นพื้นที่ปลอดภัยมากพอที่เด็กๆ จะเข้าถึงได้ เล่าความทุกข์ ความสุข หรือว่ามีปัญหาอะไรเขาคิดถึงเรา เป็นพื้นที่ปลอดภัยมากพอของชุมชน ของผู้ปกครองที่เขากล้าที่จะมาปรึกษากับเราในเวลาที่มีปัญหาได้ เหมือนมองเราเป็นญาติคนหนึ่ง