Korkankru

ก่อการครู ผู้นำแห่งอนาคต

ก่อการครู รุ่น 3 โมดูล 1 : สำรวจความเป็นคน-ตัวตน-อำนาจภายในตัว “ครู”9 min read

Reading Time: 4 minutes เวทีอบรมเชิงปฏิบัติการ "ก่อการครู: ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้” รุ่น 3 โมดูล 1 "ครูคือมนุษย์: สำรวจภูมิทัศน์ภายในของความเป็นครู" กับการพาครูกว่าหนึ่งร้อยชีวิตจากทุกสารทิศในประเทศไทยที่สมัครและได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการเข้าไปใคร่ครวญตัวตน (being) ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งกับการทำงานบนบทบาทครูที่ผ่านมา รวมทั้งเข้าไปตั้งคำถามกับชุดความเชื่อที่ยึดถือและวัฒนธรรมเชิงอำนาจที่แวดล้อมพวกเขาอยู่ Apr 21, 2021 4 min

ก่อการครู รุ่น 3 โมดูล 1 : สำรวจความเป็นคน-ตัวตน-อำนาจภายในตัว “ครู”9 min read

Reading Time: 4 minutes

เวทีอบรมเชิงปฏิบัติการ “ก่อการครู: ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้” รุ่น 3 โมดูล 1 “ครูคือมนุษย์: สำรวจภูมิทัศน์ภายในของความเป็นครู” จัดขึ้นระหว่างวันศุกร์ที่ 2 – วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน 2564 ณ ห้องประชุมเอเมอรัล โรงแรม เดอะ รอยัล เจมส์ กอล์ฟ รีสอร์ต ศาลายา จังหวัดนครปฐม โดยกระบวนกรคือ คุณธนัญธร เปรมใจชื่น ผศ.นพ. พนม เกตุมาน และคุณพฤหัส พหลกุลบุตร

ตลอดระยะเวลา 3 วันกับการพาครูกว่าหนึ่งร้อยชีวิตจากทุกสารทิศในประเทศไทยที่สมัครและได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการเข้าไปใคร่ครวญตัวตน (being) ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งกับการทำงานบนบทบาทครูที่ผ่านมา รวมทั้งเข้าไปตั้งคำถามกับชุดความเชื่อที่ยึดถือและวัฒนธรรมเชิงอำนาจที่แวดล้อมพวกเขาอยู่ ผ่านกระบวนการจาก 3 ห้องเรียน ได้แก่ 1) สำรวจความเป็นคนของคนเป็นครู 2) การจัดการห้องเรียนสำหรับผู้เรียนที่มีความหลากหลายและความต้องการพิเศษ และ 3) กล้าที่จะไม่สอน: จากการสอนในวัฒนธรรมอำนาจนิยมสู่กระบวนการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์

มองหาความเป็นคนของ “ครู”

หลายครั้งความเป็นครู ถูกตีกรอบด้วยชุดความเชื่อที่เป็นแบบแผนจากสังคม อาทิ ครูเป็นผู้สั่งสอน ครูคือผู้ให้ ครูคือผู้เสียสละ ครูคือคนที่ต้องเชื่อฟัง เป็นต้น ซึ่งแบบแผนที่ถูกก่อร่างขึ้นจากสังคมนั้นเข้าไปบดบังมิติสำคัญในหัวใจของครูในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

มันเป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก ถ้าครูยังไม่ยอมรับและไม่เข้าใจความเป็นมนุษย์ในมิติต่างๆ ของตัวเอง ยังอยู่กับแบบแผนของชุดความดี ชุดความเชื่อที่เป็นกรอบ เราไม่ต้องมาพูดเลยเรื่องห้องเรียนที่มีความสุข เรื่องโรงเรียนที่จะตื่นตัวกับการเรียนรู้ของเด็ก เรื่องพวกนั้นจะไกลมาก

น้อง- ธนัญธร เปรมใจชื่น เปรยถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงว่าต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานคือการทำงานกับภายใน เข้าไปสำรวจและใคร่ครวญต่อความเป็นมนุษย์ในตัวตนของครู ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจของห้องเรียน สำรวจความเป็นคนของคนเป็นครู ในโมดูล 1 ที่ร้อยเรียงกระบวนการ โดยเริ่มจากการถอดแว่นของคำว่า “ครู” ที่สังคมให้นิยาม เพื่อมองหา “ความไม่มั่นคง”  กล้าที่จะ “ยอมรับ” ด้านบวกด้านลบและสิ่งที่สั่นคลอนภายใน นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเข้าไปสัมผัสเนื้อในความเป็นมนุษย์

ณัฐ-ณัฐกานต์ โรจนพรประสิทธิ์ ครูสอนภาษาจีนผู้มุ่งมั่นเข้าร่วมก่อการครูเพราะอยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก ได้เข้าร่วมกระบวนการในห้องนี้ แล้วกล่าวถึงการถอดหัวโขนของความเป็นครูที่สังคมให้คุณค่า เพื่อเข้าใจความรู้สึกภายในของตนเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เธอเองเห็นว่านักเรียนก็คงอยากแสดงความรู้สึกเหล่านั้นเช่นเดียวกัน นำไปสู่การจุดไฟในการกลับไปขยายพื้นที่การรับฟังและพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กของเธอมากขึ้น

พอเราถอดหัวโขนของความเป็นครู เราย้อนกลับมาทบทวนตัวเอง ทำให้เห็นว่าครูมีสิทธิ์ที่จะเจ็บปวด มีสิทธิ์ที่จะแสดงความรู้สึกที่ตรงไปตรงมาได้ ทำให้เรารู้สึกว่าเด็กก็คงจะอยากเป็นอย่างนั้นในคลาสของเรา พอมาร่วมกิจกรรมตรงนี้ ทำให้เราอยากสร้างพื้นที่ที่เด็กไว้ใจและเชื่อใจเรามากขึ้น

นอกจากการชวนพิจารณาตนเอง เรียนรู้เรื่องพื้นที่ปลอดภัยและความมั่นคงภายใน กระบวนกรยังชวนให้ครูเข้าไปทำงานกับตัวเองในมิติที่ลึกซึ้งผ่านกิจกรรมทบทวนชุดคุณค่าที่ครูเองยึดถือ เพื่อใคร่ครวญถึงตัวตนภายใน สิ่งที่หล่อหลอม คุณค่าที่ต้องการจริงๆ

มันทำให้ผมตั้งคำถามว่า ครูคืออะไร ? สังคมมักตีกรอบให้ครูเป็นหลายอย่าง เช่น ครูเป็นเพชร เมื่อครูเป็นเพชร ครูก็ต้องไปสอนให้เด็กเป็นเพชรแบบเดียวกัน ทั้งที่เด็กอาจจะไม่อยากเป็นเพชร ดังนั้น เรากลับมาถามตัวเองก่อนไหมว่าเราเป็นมนุษย์แบบไหน เอาสิ่งต่างๆ ที่สังคมหล่อหลอมมาปัดออกก่อน  แล้วเข้าไปรู้จักเนื้อแท้ แก่นข้างในของเรา พอเรารู้จักตัวเองดีแล้ว เราก็จะรู้ว่าเราจะเป็นครูแบบไหนที่ถ่ายทอดให้กับนักเรียนในแบบของเราได้

วิช-ทวิช ลักษณ์สง่า แสดงทัศนะหลังการได้เข้าร่วมกระบวนการว่า การถือคุณค่าหรือแบบแผนจากสังคมนำไปสู่การป้อนคุณค่าเหล่านั้นให้กับเด็กอย่างไม่เข้าใจ การกลับมารู้จักตัวเองให้ชัดเจนก่อนจึงสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นของการนำศักยภาพที่มีของตัวเองออกมาสร้างสรรค์ต่อไปได้ ดังที่ครูวิชกล่าวต่อไปอีกว่า

เราต้องรู้ว่าเนื้อในเราเป็นอะไร เป็นเพชร เป็นกระเบื้อง หรือ เป็นดินธรรมดา ศักยภาพของดินที่เรามีนั่นต่างหากที่จะช่วยให้เราเห็นทางไปต่อได้

การมองหาความเป็นมนุษย์ภายในตัวเองนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้ง เห็นมิติความเจ็บปวด ความสุข ความหมาย และคุณค่า นำไปสู่การตั้งคำถามกับสิ่งที่สังคมหล่อหลอม และเมื่อชัดเจนกับภายในแล้ว เส้นทางต่อไปบนบทบาทครูในแบบของตัวเองก็จะชัดเจนและมั่นคงขึ้น

เส้นทางชีวิตที่แตกต่างกับการเข้าใจ “ตัวตน”

การเข้าไปทำงานกับภายในที่กล่าวมาข้างต้น คือการสำรวจความเป็นมนุษย์ของตนเอง ซึ่งสิ่งหนึ่งของการประกอบสร้างตัวตนของมนุษย์คือประสบการณ์และเรื่องราวในบริบทแวดล้อมที่ผ่านมา ทำให้มนุษย์นั้นแตกต่างกัน ดังนั้นการจะเข้าใจความแตกต่างอื่นๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจเนื้อในของตนเองก่อนว่าที่ผ่านมาตัวเราถูกประกอบสร้างจากอดีตอย่างไรบ้าง

เราแตกต่างกัน แต่ว่ามันมาจากไหนล่ะความแตกต่าง มันล้วนมาจาก Story ตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นแต่ละคนที่มาตรงนี้มีความแตกต่างมาตั้งแต่บ้าน ครอบครัว โรงเรียน เพื่อน การที่เราจะเข้าใจว่าทำไมตัวเราถึงเป็นคนแบบนี้ได้ เราต้องถอยมาเข้าใจตัวเองที่ผ่านมา

ผศ.นพ. พนม เกตุมาน กระบวนกรประจำห้องเรียน การจัดการห้องเรียนสำหรับผู้เรียนที่มีความหลากหลายและความต้องการพิเศษ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการเข้าใจ “ความแตกต่าง” ว่าคือการพาคุณครูผู้เข้าร่วมทุกคนถอยเข้าไปสำรวจชุดประสบการณ์ คุณค่า ความสำเร็จ ความล้มเหลวที่ผ่านมา ผ่านกระบวนการวาด ไทม์ไลน์ของชีวิต (Roadmap) เพื่อเห็นว่าเหตุการณ์สำคัญใดบ้างที่ส่งผลต่อการเติบโต

ฟอนด์-วรพจน์ อินเหลา อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เพิ่งผันตัวมาทำงานครูได้เพียง 4 เดือน กล่าวถึงสิ่งที่สัมผัสได้จากการเข้าร่วมกระบวนการสำรวจ Roadmap ในชีวิตตนเองที่ผ่านมา ทำให้เขาเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ในฐานะครูที่ต้องทำงานกับเยาวชนซึ่งเป็นวัยที่อยู่ในช่วงของการประกอบสร้างตัวตน

ผมรู้สึกว่าใจความสำคัญที่ผมได้ มันคือการไปทบทวนสภาวะของความเป็นเด็กที่อยู่ในใจและสำนึกเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่มันอยู่กับตัวเราตั้งแต่ต้น แต่เราไม่เคยกลับไปสื่อสารหรือกลับเข้าไปคุยกับเค้าเลย มันคือตัวตนแบบหนึ่ง กิจกรรมของคุณหมอพาพาเราไป connect กับตัวเองในวัยเด็กได้ ซึ่งช่วงวัยนั้นเป็นช่วงการสร้างตัวตนเราอีกทีหนึ่ง มันทำให้เราคิดต่อว่า ในฐานะครูเราก็ควรจะมาใส่ใจเรื่องตรงนี้มากๆ เพราะเรากำลังทำงานกับเยาวชนหรือเด็กที่กำลังสร้างตัวตนเช่นกัน เราต้องช่วยกันขุดคุ้ยสิ่งที่เขามี แล้วพยายามประคับประคองให้เค้าเติบโตไปด้วยวิธีคิดและตัวตนของเขาได้

นอกจากนี้กิจกรรมในห้องยังพาครูรับฟังเรื่องราว Roadmap ชีวิตของเพื่อนครูคนอื่นๆ เพื่อเห็นความแตกต่างหลากหลายของตัวตนมนุษย์ อีกทั้งยังชวนมองไปถึงอนาคตที่ครูแต่ละคนอยากมุ่งไป หลังจากทบทวนอดีตที่ผ่านมา ซึ่งกระบวนการนี้มุ่งหวังให้ครูได้เห็นคุณค่าในตัวเอง เห็นความสำเร็จที่ผ่านมาและมองหาเป้าหมายต่อไปในชีวิต โดยคุณหมอพนมได้เน้นย้ำว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญของการปลดล็อคภายในของครูให้ครูเห็นคุณค่าของตัวเอง และเมื่อครูเข้าใจตัวเองในจุดนี้แล้ว ย่อมส่งผลต่อนักเรียนของเขาต่อไป

ผมว่าครูต้องมีความรู้สึกดีกับตัวเองก่อน รู้สึกมีคุณค่า รู้สึกว่าพัฒนาตัวเองได้ เข้าใจตัวเอง มองเห็นตัวเอง ไม่ติดอยู่กับอะไรบางอย่างในอดีตของตัวเอง และเข้าใจว่าเขาทำไปเพื่ออะไร มีคุณค่าอะไรบ้าง อันนี้คือจุดสำคัญ การเรียนรู้ในโมดูลแรกจะทำให้เขาเห็นช่องทางที่เขาจะเติบโตต่อไป แล้วเดี๋ยวเขาจะล้นออกไปให้เด็กเอง

ผศ.นพ. พนม เกตุมาน

สำรวจความเป็นครูกับวัฒนธรรมอำนาจ

จากกระบวนการทั้งสองห้องที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการเข้าใจตัวเอง ทั้งนี้การเข้าใจตัวเองไม่อาจตัดขาดออกจากมิติทางโครงสร้างที่แวดล้อมอยู่ได้ เพราะบริบทย่อมส่งผลต่อการหล่อหลอมมุมมองความคิดของคนเราเสมอ และในระบบการศึกษาไทยเอง บทบาทของครูนับเป็นบทบาทที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมอำนาจอย่างซับซ้อน การเรียนรู้เรื่องโครงสร้างอำนาจจึงสำคัญต่อการเข้าใจตัวเองและบริบทแวดล้อมของครูด้วย

โมดูลที่ 1 พูดเรื่องการกลับไปทบทวนความเป็นตัวตน being ของเขา ตัวตนของความเป็นครู ความแตกต่างหลากหลายที่ครูต้องเข้าใจ ที่นี้สิ่งหนึ่งที่มันกำกับพฤติกรรมความเชื่อคือ “วัฒนธรรมอำนาจ” ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก วัฒนธรรมอำนาจนี้มันแฝงอยู่แบบไม่รู้ตัว ในรูปแบบฉันรักเธอ ฉันปรารถนาดีกับเธอ ฉันจึงทำแบบนั้น มันเป็นกับดักสำคัญในระบบการศึกษาแบบเดิม

ก๋วย-พฤหัส พหลกุลบุตร กระบวนกรห้องเรียน กล้าที่จะไม่สอน: จากการสอนในวัฒนธรรมอำนาจนิยมสู่กระบวนการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ ชวนทำความเข้าใจกับความสำคัญในการเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมอำนาจของครู โดยกับดักสำคัญเริ่มต้นตั้งแต่อำนาจที่อาจแฝงเร้นอยู่ในการทำหน้าที่ครูและอาจเกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัวในนามของ “ความหวังดี”

ครูจุ๊บ-ธัญญรัศท์ สุภษร คุณครูจากกาฬสินธุ์หนึ่งในผู้เข้าร่วม ได้แบ่งปันมุมมองที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกจากกระบวนการนี้ว่า

เราชอบห้องพี่ก๋วย เพราะตรงกับตัวเองมากๆ เวลาเราสอนนักเรียน เรามักลืมเท่าทันตัวเอง เรามุ่งไปที่ว่าเนื้อหาของเราจะจบไม่ทัน เราตั้งใจสอนให้จบทัน ทั้งที่บางครั้งหน้าตานักเรียนรับไม่ไหว แต่เราก็ใช้อำนาจในการบอกนักเรียนว่าจะสอนต่อให้จบ คือมันเป็นอำนาจที่เกิดจากความหวังดี เป็นอำนาจที่เราใช้แบบไม่ได้ตั้งใจ

เช่นกันกับ ทราย- วิภาวี ทะนานทอง คุณครูรุ่นใหม่ ที่เข้าใจว่าตัวเองได้เปิดพื้นที่ให้เด็กมีสิทธิ์ส่งเสียงความต้องการของเด็กมาโดยตลอด แต่เมื่อได้กลับไปทบทวนตัวเองผ่านกระบวนการนี้แล้ว ทำให้เห็นว่ามีมิติของน้ำเสียง ท่าทางที่ยังคงทำให้เธอถืออำนาจเหนือกว่าเด็กๆ จึงทำให้เด็กๆ อาจไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น

เราเคยมองว่าเราแฟร์กับเด็ก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ยังไงเรายังคงเป็นคนที่มีอำนาจเหนืออยู่ เช่นว่า เราพยายามที่จะให้เด็กรีเฟลก แต่ว่าเวลาที่เราใช้โทนเสียงและจัดตำแหน่งเราก็ยังเน้นยืนหน้าห้องและเด็กก็ยังนั่งที่โต๊ะอยู่ นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่ค่อยกล้าจะแสดงความคิดเห็น ตอนแรกคิดว่าเราไม่ได้ฝึกให้เขาพูดหรือเปล่า แต่ลืมคิดเรื่องอำนาจไปเลยว่า มันมีอำนาจซ้อนทับอยู่

การเข้ามา “รู้ตัว” กับการใช้อำนาจของตัวเอง ตลอดจนการเข้าใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจเป็นหนึ่งในหมุดหมายที่มุ่งหวังของห้องเรียนนี้ ผ่านกระบวนการที่เริ่มต้นขึ้นด้วยการให้คุณครูพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงอดีตที่ตัวเองเคยถูกใช้อำนาจ และขยับมาทบทวนว่าตัวครูเองนั้นเคยใช้อำนาจอย่างไรบ้าง และพาคุณครูทำกิจกรรมผ่านร่างกาย เพื่อเข้าใจการมีอยู่ของโครงสร้างทางอำนาจและความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แวดล้อมอยู่ ตลอดจนชวนเข้าไปสำรวจ “ความกลัว” ของบทบาทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในโครงสร้างอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น ครู ผู้อำนวยการ นักเรียน ผู้ปกครอง เป็นต้น เพื่อทำความเข้าใจถึงมูลเหตุและแรงขับเน้นของการใช้อำนาจในแต่ละแบบ และปรับมุมมองให้เห็น “ทางเลือก” ในการจัดการ (deal) กับอำนาจทั้งจากตัวเองและอำนาจที่อยู่แวดล้อมได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น

พอได้เรียนรู้จากห้องพี่ก๋วย เราเห็นเลยว่ามีอำนาจอะไรบ้างที่แวดล้อมเรา และตัวเราเองอาจเป็นผู้ใช้อำนาจด้วยซ้ำในห้องเรียนของเรา ทำให้เกิดคำถามว่ามันมีการส่งต่ออำนาจที่เรารับหรือกดทับเรามาไปปล่อยกับเด็กหรือเปล่า เราต้องกลับไปตกตะกอนกับตัวเอง ว่าต่อไปนี้เราจะดีลกับอำนาจเหนือเรายังไง จะดีลกับการใช้อำนาจของเรายังไง ให้ทุกอย่างมันไม่แตกหัก พังทลาย และเปราะบางจนไม่อยากสู้ต่อแล้ว

นิ-นิรมาน ชนะโรจน์ คุณครูก่อการครูรุ่น 3 พูดถึงประเด็นที่น่าสนใจในกระบวนการด้วยน้ำเสียงฉะฉาน จะเห็นได้ว่านอกจากการเห็นความสำคัญของการรู้ตัวกับการใช้อำนาจและความสัมพันธ์ทางอำนาจอื่นๆ แล้วยังทำให้เธอตั้งโจทย์กับตัวเองเพื่อตกตะกอนต่อไปว่าจะจัดการ (deal) กับการใช้อำนาจและอำนาจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเธออย่างไร ซึ่งเป็นใจความสำคัญที่เธอได้รับจากกระบวนการนี้

เริ่มต้น…ทบทวน

ทั้งสามห้องเรียนจาก ก่อการครู โมดูลที่ 1 ว่าด้วย การสำรวจภูมิทัศน์ภายในของความเป็นครู ทำให้เห็นการกลับเข้ามาทบทวนและตั้งคำถามกับตัวเอง ชุดความเชื่อ แบบแผนคุณค่าและวัฒนธรรมอำนาจที่แฝงเร้นในความนึกคิดภายในของตัวครูเอง เพื่อตกตะกอนและเข้าใจความคิด ความเชื่อ ตัวตนและการกระทำของตนเอง ตลอดจนมองเห็นมิติความเป็นมนุษย์ที่ซับซ้อนภายใน โดยไม่ขาดมิติการเชื่อมโยงกับบริบททางอำนาจที่แวดล้อมอยู่

การเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงห้องเรียนนั้น ไม่อาจรุดเร่งโดยการสร้างเครื่องมือให้กับครูหรือชวนครูมาเปลี่ยนห้องเรียนแบบใหม่อย่างฉับพลันทันด่วน โดยที่ครูเองยังไม่รู้ว่าตัวตนความเป็นครูของพวกเขาเป็นอย่างไร และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโครงสร้างรอบตัวอย่างไร การชวนครูตั้งคำถามต่อกรอบคิด ความคาดหวัง ความเชื่อและอำนาจแบบเดิมที่ครอบพวกเขาอยู่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ครูได้เห็นตัวตนและคุณค่าภายในที่ถูกบดบัง ก่อนจะก้าวย่างต่อไปบนเส้นทางแห่งนี้

Your email address will not be published.